ไลฟ์สไตล์

'วัฒนธรรมร่วมไทย-กัมพูชา'

'วัฒนธรรมร่วมไทย-กัมพูชา'

01 ส.ค. 2556

'วัฒนธรรมร่วมไทย-กัมพูชา' : คอลัมน์หัวใจไทย

                   นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วสำหรับการเสวนา "บ้านเราอุษาคเนย์" ที่จ.สระแก้ว ในวันที่ 31 กรกฎาคม เพื่อทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านประเทศสมาชิกอาเซียน ให้ถ่องแท้ก่อน หรือที่เรียกว่า รู้เขา รู้เรา เริ่มจากการปรับเปลี่ยนมุมมองความแตกต่างไปสู่การยอมรับซึ่งกันและกันในความคล้ายคลึง ความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม จะทำให้พลเมืองอาเซียน 600 ล้านคนหลอมรวมเป็น "อัตลักษณ์ร่วม"

                  ประเทศกัมพูชาเพื่อนบ้านของเรา ที่มีความคล้ายกับไทยอยู่หลายด้าน เช่น โบราณสถาน สถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นตัวปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทนครวัด ที่บ่งบอกถึงความเป็น "รากวัฒนธรรม" เดียวกันมาก่อน ที่มาของคำว่า "เขมร" หรือ "กัมพูชา" ศิลาจารึกเมืองพระนคร เมื่อราว 1,200 ปีมาแล้ว มีคำเอ่ยถึงชื่อชนชาติหนึ่งว่า "เกมร" (กะ-เหมน) ซึ่งศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาวฝรั่งเศส ที่มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้เขียนไว้ในบทความตอนหนึ่งระบุว่า

                  ชาวเขมรเรียกตัวเองว่า "ขะแมร์" และเรียกชื่อประเทศของตนเองว่า "กัมพูชา" ชื่อกัมพูชานี้มาจากตำนานความเชื่อของชาวเขมร ที่ว่าบรรพบุรุษเขมรเกิดจากพราหมณ์ หรือเจ้าชายที่นับถือศาสนาฮินดูจากอินเดียพระองค์หนึ่ง นามว่า "กัมพุ" หรือ "กัมพู" เสด็จมาถึงดินแดนของชาวเขมรแล้วสมสู่กับนางนาค ซึ่งเป็นธิดาของพญานาคในเมืองบาดาล นามว่า "พระนางนาจี" แล้วออกลูกหลานเป็นชาวเขมร ชื่อประเทศ "กัมพูชา" หรือ "กัมพูเจีย" จึงมีที่มาจากพระนามของต้นตระกูลชาวเขมร คือเจ้าชายกัมพูกับพระนางนาจีและยังเป็นสัญลักษณ์ว่าคติความเชื่อของชาวเขมร เกิดจากการผสมผสานระหว่างศาสนาฮินดูกับคตินิยมพื้นถิ่น เช่น เรื่องไสยศาสตร์ มนต์ดำ เป็นต้น

                  สถานที่ทางประวัติศาสตร์สำคัญของชาวกัมพูชา คือ นครวัด "อังกอร์ วัด" (Angkor Wat) หรือ "เมืองพระนคร" แห่งราชอาณาจักรเขมรโบราณ นครวัดนับเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จนถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก สร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 มีอายุประมาณ 600-700 ปี (ตรงกับสมัยสุโขทัยของไทย) สร้างโดยชนชาติขอม มีลักษณะเป็นปราสาทหิน โดยตัดหินเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ นำมาเรียงต่อๆ กันจนสามารถสร้างเป็นปราสาทขนาดใหญ่ นับเป็นเทวสถานทางศาสนาพราหมณ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เกิดจากความศรัทธาของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งที่ตนนับถือ ซึ่งได้แก่พระวิษณุและรูปเคารพองค์อื่นๆ ของศาสนาพราหมณ์ฮินดู

                  นักโบราณคดียอมรับว่า ปรางค์ประธาน "ปราสาทหินพิมาย" ถือเป็นต้นแบบการก่อสร้างปรางค์ประธานนครวัด และ "ปราสาทหินพนมรุ้ง" ถือเป็นปราสาทหินศิลปะนครวัด เนื่องจากไทย-กัมพูชามีความคล้ายคลึงกันทางด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างมาก การใช้ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมจึงเป็นสื่อกลางในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างกันได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทยกัมพูชาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรม เมื่อปี 2546 เป็นต้นมา

.......................................

('วัฒนธรรมร่วมไทย-กัมพูชา' : คอลัมน์หัวใจไทย)