เปิดโลกการศึกษามุสลิม : 1 ส.ค.56
คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม : ตอน: 'สอรีฮาน ดอเล๊าะ' นายกสมาคมนักศึกษาจอร์แดน
คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม มีเครือข่ายใกล้ชิดติดต่อกับนักศึกษามุสลิมที่เดินทางไปเรียนในต่างประเทศและได้นำข้อมูลต่างๆ เล่าสู่กันฟังมาโดยตลอด เพื่อเป็นแนวทางเสริมให้น้องๆ มุสลิมหรือนักศึกษาทั่วไปที่จะเดินทางไปศึกษายังโลกอาหรับแห่งตะวันออกกลาง เช่น นายกสมาคมนักเรียนไทยฯ ในอียิปต์ ซูดาน โมร็อกโก ตุรกี อินเดีย เป็นต้น วันนี้เป็นเรื่องราว นายกสมาคมนักเรียนในประเทศจอร์แดน “สอรีฮาน ดอเล๊าะ” นายกสมาคมนักศึกษามุสลิมไทยในประเทศจอร์แดน ซึ่งได้ชื่อว่า “โอเอซิสแห่งตะวันออกกลาง”
“สอริฮาน ดอเล๊าะ” เกิดที่จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรคนที่สองของ อับดุลเล๊าะ ดอเล๊าะ กับ มารยานี สุหลง มีอาชีพทำนาทำสวน จบการศึกษา ม.ต้น และ ม.ปลาย จากโรงเรียนวัฒนธรรมอิสลามพ่อมิ่ง เดินทางมาศึกษายังประเทศจอร์แดนตั้งแต่ปลายปี 2008 ด้วยทุนตัวเอง ด้วยความหวังที่อยากจะศึกษาให้สูงๆ มีหน้าที่การงานที่ดี ศาสนาคือกรอบชีวิตที่จะนำไปสู่ความสำเร็จด้วยความสะอาด ถูกต้อง และถึงเป้าหมายอย่างมีคุณค่า ปัจจุบันนี้ศึกษาอยู่ที่ “มหาวิทยาลัยมุตะห์” ปีสุดท้าย คณะอิสลามศึกษา เอกกฎหมายอิสลาม
ประเทศจอร์แดนมีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยมุตะห์ เรียนปริญญาตรี หน่วยกิตละ 15 jd (1 jd เท่ากับ 44 บาท) มหาวิทยาลัยจอร์แดน เรียนปริญญาตรี หน่วยกิตละ 18 jd มหาวิทยาลัยเจราช เรียนปริญญาตรี หน่วยกิตละ 15 jd มหาวิทยาลัยยัรมู้ก เรียนปริญญาตรี หน่วยกิตละ 16 jd มหาวิทยาลัยมัฟรัค เรียนปริญญาตรี หน่วยกิตละ 10 jd มหาวิทยาลัยอูลูมอิสลามีย์ เรียนปริญญาตรี หน่วยกิตละ 30 jd เรียนปริญญาโท เทอมละ 1,000 jd และศูนย์ภาษาอาหรับ เรียนภาษา เทอมละ 400 jd กระทรวงการศึกษาจอร์เเดนอนุญาตให้เด็กไทยสามารถจ่ายค่าเทอมเท่ากับเด็กจอร์เเดน คือ เอกกฎหมายอิสลาม เอกอูซูลลุดดีน เอกภาษาอาหรับ เอกเศรษฐศาสตร์อิสลาม เอกดะวะห์ นอกจากนั้นถ้าจะเรียนต้องจ่ายราคาต่างชาติ คือ 3 เท่าของราคาปกติ
การสมัครเรียนมีชมรมหรือสมาคมคอยช่วยเหลือในการสมัครเรียนให้อย่างทั่วถึง โดยไม่จำกัดว่ามาจากโรงเรียนใด หากต้องการมาศึกษาทางสมาคมหรือเพื่อนๆ รุ่นพี่ที่เคยอยู่ที่นี่สามารถช่วยสมัครเรียนให้ได้ นักศึกษาที่นี่จะเรียนวันอาทิตย์จนถึงวันพฤหัสบดี หยุดวันศุกร์และเสาร์ ต้องไปเข้าชั้นเรียนทุกวันห้ามขาดเกินที่มหาวิทยาลัยกำหนด ถ้าเกินจะไม่มีสิทธิสอบ หลังเลิกเรียนนักศึกษาบางส่วนเข้าห้องสมุดเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วนกลับบ้านในตอนเย็นจะมีการพบปะกันด้วยการเล่นฟุตบอล กลางคืนมีการติวหนังสือให้กับน้องๆ อยู่กันแบบพี่ๆ น้องๆ คอยช่วยเหลือกันตลอด
"การเข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคม เป็นการก้าวเข้ามาเพื่อการเรียนรู้ เพื่อการเสริมเติมเต็มให้แก่ชีวิตในการทำงาน การเข้าสังคมกับสังคมที่แตกต่าง เพื่อจะนำกลับไปใช้ในอนาคตการที่เราได้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมอย่างจริงจัง พยายามที่จะเข้าถึงเพื่อรับทราบถึงปัญหาและความต้องการของนักศึกษาเพื่อยกระดับและพัฒนาในด้านต่างๆ ทุกโครงการที่ทางสมาคมได้จัดให้แก่น้องๆจะได้มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์กันทุกคน" สอริฮาน กล่าว
ปัจจุบันนี้นักศึกษาไทยที่มาศึกษาอยู่ในประเทศนี้โดยประมาณทั้งหมด 500 คน ชาย 400 คน หญิง 100 คน ซึ่งนับว่าเยอะพอสมควร แต่นับว่าโชคดีที่มีสถานเอกอัครราชทูต เป็นทั้งผู้ใหญ่เป็นทั้งผู้สนับสนุน และเจ้าหน้าที่มีความเป็นกันเองกับทุกคนได้ช่วยเหลือมาตลอดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมาคม เมื่อปี 2007 เป็นต้นมา
สำหรับประเทศจอร์แดนเป็นประเทศอิสลามสายกลาง เป็นโอเอซิสของตะวันออกกลาง มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ส่วนมากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ค่าครองชีพ ค่าเทอมก็ไม่แพง ราคาหน่วยกิตก็เท่าๆ กับเมืองไทย น้องที่อยากมาศึกษาต่อที่จอร์แดนก็สามารถที่จะมาเรียนกันได้ทุกคน เข้าเรียนภาษาก่อนแล้วค่อยเข้าเรียนมหาวิทยาลัย อยากให้รัฐบาลไทยส่งเสริมทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทย อยากให้มีการเปิดการเรียนทางไกล หรือ กศน. และอื่นที่สามารถพัฒนานักศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพที่สามารถกลับไปพัฒนาประเทศชาติต่อไปในอนาคต
.....................................
(คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม : ตอน: 'สอรีฮาน ดอเล๊าะ' นายกสมาคมนักศึกษาจอร์แดน)