ไลฟ์สไตล์

มหัศจรรย์สับปะรด "เพชรบุรี"
 สุดวิเศษไม่ต้องปอกเปลือก

มหัศจรรย์สับปะรด "เพชรบุรี" สุดวิเศษไม่ต้องปอกเปลือก

11 มิ.ย. 2552

หลังจากที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ใช้เวลาในการวิจัยพัฒนาสับปะรดไต้หวันมานานกว่า 10 ปี ล่าสุดประสบผลสำเร็จจนได้สับปะรดพันธุ์ใหม่ "เพชรบุรี" มีลักษณะเด่นบริเวณปลายคอดเล็ก ตาค่อนข้างใหญ่และนูน

  นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า  ตลอดระยะเวลา 36 ปี กรมวิชาการเกษตรทำการวิจัยและพัฒนาพืชผลทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี หรือที่เรียกกันว่า สับปะรดไต้หวัน หลังจากที่ทำการวิจัยพัฒนามากว่า 10 ปี จนได้สับปะรดที่สามารถรับประทานได้ทันทีโดยไม่ต้องมานั่งปอกเปลือกเหมือนเช่นสับปะรดทั่วไป ขณะนี้กำลังได้รับความสนใจจากตลาดเป็นอย่างมาก 
ลักษณะพิเศษของสับปะรดพันธุ์เพชรบุรีดังกล่าว คือสามารถแกะผลย่อย หรือตา (fruitlet) ออกจากกันได้ง่าย ทำให้สามารถแกะผลย่อยออกมารับประทานได้โดยไม่ต้องปอกเปลือก  อีกทั้งแกนผลยังสามารถรับประทานได้ รสหวานอมเปรี้ยว  มีปริมาณกรดต่ำ กลิ่นหอม เนื้อกรอบ สีเนื้อเหลืองอมส้มสม่ำเสมอ ข้อดีข้อหนึ่งคือผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ภูเก็ต และสวีถึง 17.7% และ 23.2% ตามลำดับ สามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย

 "สับปะรดพันธุ์เพชรบุรีเดิมเป็นพันธุ์ของไต้หวันในชื่อพันธุ์ไทนาน 41 (Tainan 41) นายสณทรรศน์ นันทะไชย เป็นผู้นำพันธุ์มาจากบริษัทส่งออกสับปะรดเมื่อปี 2530 เป็นพันธุ์ที่ได้มาจากการคัดเลือกสายต้น (clone) หรือการผสมพันธุ์ หลังจากได้รับจุกมาแล้วส่วนหนึ่งนำไปเพิ่มปริมาณหน่อโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จนปัจจุบันได้ผลผลิตที่คงที่แล้ว" นายสมชาย กล่าว

 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า  สับปะรดเป็นพืชที่มีความสำคัญในอุตสาหกรรมเกษตร นอกจากจะนิยมบริโภคสดแล้ว ยังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด สับปะรดแช่แข็ง สับปะรดกวน สับปะรดอบแห้ง และอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง ส่วนเปลือกใช้เป็นอาหารสัตว์ ใบใช้ทำเส้นใยและกระดาษ ซึ่งแต่ละปีจะทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างมาก 

 สำหรับสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี เป็นพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มควีน (Queen) เช่นเดียวกับพันธุ์ภูเก็ต สวีหรือตราดสีทอง มีทรงพุ่มปานกลาง ใบค่อนข้างสั้น หนามลักษณะเป็นตะขอม้วนขึ้นไปหาปลายใบ มีช่อดอกแบบรวม (Spike) ดอกเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน กลีบดอกสีน้ำเงินปนม่วง มีลักษณะผลรวม ทรงเจดีย์ คือด้านล่างของผลใหญ่ บริเวณปลายจะคอดเล็ก ตาบริเวณปลายผลติดกับจุกไม่พัฒนา 2-3 รอบ ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักเฉลี่ย 1.00 กก. ผลกว้างเฉลี่ย 11.9 ซม. ผลยาวเฉลี่ย 19.0 ซม. ตาค่อนข้างใหญ่และนูนเล็กน้อย โดยมีอายุการเก็บเกี่ยวราว 126 วัน มีสีเปลือกผลแก่สีเขียว ผลสุกสีเหลืองอมส้ม (Yog 17 A-B)  สีเหลืองอมส้ม (Yog 16 A-B) 

 ดังนั้นกรมวิชาการเกษตร จึงมุ่งสร้างการรับรู้สับปะรดพันธุ์ใหม่ดังกล่าว ผ่านรูปแบบการทำกิจกรรมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจัดนิทรรศการผลงานวิชาการของหน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตร นิทรรศการของภาคเอกชนและกลุ่มเกษตรกร มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทฤษฎีใหม่ เทคโนโลยีการผลิต และการแปรรูปสับปะรดครบวงจร รวมถึงการสาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร เนื่องในโอกาสที่กรมวิชาการเกษตรได้รับการสถาปนาครบรอบ 36 ปีเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง โดยศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จึงจัดงานมหัศจรรย์พันธุ์สับปะรดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนเพชรบุรี ถนนบายพาสชะอำ-ปราณบุรี ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี  เพื่อประชาสัมพันธ์สับปะรดพันธุ์เพชรบุรีดังกล่าว

"ภาสิณี  คนาเดิม"