
ทายาท'กาแฟดาว'กับความฝันเพื่อคนลาว
ทายาท'กาแฟดาว'กับความฝันเพื่อคนลาว : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : โดย...นีพร มฤคพิทักษ์ [email protected]
4 กรกฎาคม 2556 นับเป็นวันแห่งความสุขของครอบครัว "เฮือง ลิดดัง" นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งเมืองปากเซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัท ดาวเฮือง
เนื่องจากบุตรสาวคนเล็ก "บุนเหลือ ลิดดัง" หรือ "น้องเฮียน" ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันดังกล่าว
คนไทยคงไม่คุ้นเคยกับครอบครัวนี้นัก แต่สำหรับคนลาวแล้ว เธอเป็นนักธุรกิจแถวหน้าเลยทีเดียว
ใครที่เคยเดินทางไปชายแดนไทย-ลาว แล้วแวะเข้าร้านดิวตี้ฟรี ซื้อ "กาแฟดาว" กลับมาฝากเพื่อนฝูง ทั้งสองอย่างนั้นเป็นธุรกิจของดาวเฮือง
ครอบครัวลิดดัง ประกอบด้วย ดร.ฮาว ลิดดัง ผู้ก่อตั้งกาแฟดาว, เฮือง ลิดดัง และบุตรสี่คนเรียงตามลำดับคือ บุนเฮือง บุนมี ฮาวี่ (ชาย) และบุนเหลือ ลูกทุกคนเรียนจบจากต่างประเทศ และเข้ามาช่วยดูแลกิจการของครอบครัว
จะมีก็แต่ "บุนเหลือ" น้องคนเล็ก ที่เลือกเรียนแพทย์ ตามรอย "ดร.ฮาว" ผู้เป็นบิดา ทั้งยังมีความตั้งใจว่าจะตั้งสถานพยาบาลในบ้านเกิดเพื่อรักษาคนจน
กลุ่มบริษัท ดาวเฮือง เป็นธุรกิจใหญ่ใน สปป.ลาว แบ่งธุรกิจออกเป็นหลายประเภท มีทั้งอุตสาหกรรมอาหาร อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก (กาแฟดาวและตลาดดาวเฮือง) มีสินค้า เช่น กาแฟสำเร็จรูปตราดาว, ผลไม้อบแห้ง, น้ำดื่มบรรจุขวด, ดาวเฮืองดิวตี้ฟรีช็อปที่แขวงจำปาสัก, ตลาดดาวเฮืองที่ปากเซ และคอฟฟี่ช็อป
นายหญิงของดาวเฮืองพูดถึงลูกสาวคนเล็กว่า
"เหมือนพ่อเขา ลูกคนนี้ไม่ชอบเรื่องค้าขาย เรื่องธุรกิจ แต่ในตัวเขาก็มีเลือดแม่อยู่ครึ่งหนึ่ง พ่อครึ่งหนึ่ง เขาพูดกับเรานะว่าอยากช่วยคนจน ไม่เอาเงินใคร ขอเงินแม่สร้างตึก เขาจะเลี้ยงดูเด็กกำพร้า ตอนนี้ฝึกงานอยู่ที่ขอนแก่น อีกปีหนึ่งถึงจะกลับมา เขาก็ช่วยหลายคนที่ไม่มีเงินเรียน เขาก็มาขอแม่ให้คนลาวเรียนต่อ"
ขณะที่ ดร.ฮาว ซึ่งเกษียณจากตำแหน่งแพทย์ในโรงพยาบาลประจำแขวง (จังหวัด) จำปาสัก ขณะนี้มาช่วยดูแลไร่กาแฟของบริษัท บอกว่า
"ลูกบอกอยากเรียนหมอ ผมบอกทุกข์มากเลยนะ ประเทศลาวกำลังพัฒนา คนจนเยอะ ถ้าตั้งคลินิกเก็บเงินไม่ได้ ชาวบ้านไม่มีเงิน...หากอยากได้เงินไม่ต้องมาอยู่ประเทศลาว ลูกบอกว่าไม่เป็นไร เราก็ดีใจ ลูกทุกคนเราไม่บังคับให้เขาเลือกเอง ลูกไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่ยังเด็ก ต้องได้เรียนรู้บ้าง"
ครอบครัวนี้ให้ลูกไปเผชิญโลกข้างนอกตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างน้องเฮียน พอเรียน ป.2 ก็ออกจากบ้านที่ปากเซแล้ว เรียนจบเกรด 7 ไปเรียนต่อที่อเมริกา 1 ปี เรียนกรุงเทพฯ 1 ปี เรียนต่อที่เชียงใหม่อีก 2 ปีจนจบเกรด 12 จึงเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์
"แยกจากพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ มีบ้างที่คิดถึงบ้าน แต่มีพี่ๆ อยู่ก่อนแล้วเลยไม่คิดอะไร"
ปัจจุบัน พญ.บุนเหลือ หรือ คุณหมอเฮียน ฝึกงานที่ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น หลังจากนั้นจะไปฝึกงานที่บ้านเกิดอีก 1 ปี เธอบอกว่าค่อยตัดสินใจอีกครั้งว่าจะศึกษาต่อด้านใด ระหว่างการเป็นศัลยแพทย์เหมือนบิดา หรือเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) ที่คิดว่าจะช่วยให้ความรู้แก่เพื่อนร่วมชาติได้ในวงกว้าง
เราไปทำความรู้จักกับคุณหมอคนใหม่ พร้อมๆ กัน
๐ มีความคิดอยากเป็นหมอตั้งแต่เมื่อไร
มีมาเรื่อยๆ แต่ไม่ได้เยอะมาก เรียนจบเกรด 12 ตั้งแต่อายุ 16 ปี จบเร็วกว่าคนอื่นยังไม่มั่นใจ คิดอยากเป็นหมอด้วย ก็กลับไปอยู่บ้านที่ปากเซก่อน คือไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเสียสละเวลานอน เวลาเที่ยวแบบพ่อได้ไหม เอนเอียงไปอีกด้านหนึ่งมากกว่า แต่พอกลับมาอยู่บ้าน เห็นพ่อแม่อายุมากแล้วยังทำงานหนักมากทั้งคู่ พี่สาวคนโตเขามีสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่ต้องเลือกมาดูแลกิจการที่บ้าน เรารู้สึกว่าต้องกลับมาช่วยที่บ้านบ้าง เรียนจบกลับมาทำงานที่ลาว ใกล้พ่อกับแม่...ปกติไม่มีเวลาอยู่ด้วยกัน ยังคิดว่าอาชีพหมอนี่จน เพราะพ่อไม่มีตังค์เลย (หัวเราะน้อยๆ)
๐ แล้วไม่กลัวจนหรือ ที่เลือกเรียนหมอ
ไม่กลัว...คิดว่าสักวันหนึ่งอยากทำสถานพยาบาล ต้องดูว่าในอนาคตจะทำยังไงต่อไป พ่อไม่ห้าม อยากให้เรียน พี่ๆ พอรู้ว่าเราไม่มีหัวทางธุรกิจ ก็ปลงๆ แล้ว (หัวเราะ)
๐ ตั้งใจเรียนต่อเฉพาะทางด้านไหน
ดูอยู่ ชอบศัลยแพทย์ และด้านพรีเวนท์เมด (Preventive Medicine) ซึ่งเรียนด้านป้องกันสาธารณสุข เห็นว่าสามารถนำไปใช้ที่ลาวได้มากกว่า แต่ระหว่างฝึกงานดูก่อนว่าเรียนศัลยกรรมก่อนไหม มันหนักค่ะ ถ้าอายุมากกว่านี้เรียนไม่ไหว...ต้องฝึกงานที่ไทย 1 ปี เพิ่งฝึกได้ 3 เดือนที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น
๐ ฝึกงานยากไหม
เท่าที่ฝึกมาก็โอเคอยู่ เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ต้องปรับตัวอีกที ต้องเรียนรู้ แต่ไม่เหมือนการเรียน ฝึกงานที่ไทยเสร็จแล้วจะกลับไปที่โรงพยาบาลในปากเซด้วย เห็นว่าให้เป็นอาจารย์สอน ระบบที่ลาวต้องฝึกงานเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เขาเรียนจบที่ลาว เรียนต่อเฉพาะทางจากเมืองนอกแล้วค่อยกลับมาที่โรงพยาบาลใหม่ ตอนเรียนที่ศิริราช ใช้ภาษาไทย ยากมาก (หัวเราะ) ตามแทบไม่ทัน แต่เกาะเพื่อนไปจนได้ มีเพื่อนสนิทในกลุ่มประมาณ 4 คน ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่ 7-8 คน ทั้งรุ่นมี 200 กว่าคน
๐ เรื่องที่หนักใจระหว่างเรียน
การปรับตัวต่างกันมาก วัฒนธรรมต่างกันเยอะ มาจากสังคมโรงเรียนนานาชาติ พูดกันตรงๆ แต่ที่นี่พูดแล้วมีความหมายแอบแฝง ต้องปรับตัวนานมากกว่าจะพอเข้าใจ อย่างเราถามว่ามีอะไรไหม ถ้าเป็นในโรงเรียนนานาชาติก็ตอบว่ามีหรือไม่มี แต่ที่นี่จะตอบว่าไม่เป็นไร แต่ที่จริงมี ซึ่งเราไม่เข้าใจ
๐ แล้วที่ลาวเป็นแบบนี้หรือไม่
ไม่ทราบค่ะ เท่าที่กลับไปช่วงหลังๆ พอสังเกตอยู่ เขาจะเป็นน้อยกว่า คนลาวจะพูดตรงกว่า ที่นี่สังคมเมืองอาจมีศิลปะในการพูดมากขึ้น จึงต้องใช้เวลาปรับตัวนาน เตรียมตัวก่อนเข้า 1 ปี ระหว่างเรียนปีสอง ปีสาม ต้องปรับตัวทุกปี เครียด ไม่ค่อยได้คุยกับพ่อแม่ แต่คุยกับพี่ๆ ทั้งสามคน ปรึกษาอาจารย์และเพื่อนด้วย เพราะตำแหน่งไม่เหมือนกัน ความคิดไม่เหมือนกัน
อย่างหมอที่เป็นอธิการบดีที่ลาว เคยมาเรียนแบบนี้ เขาพอเข้าใจ เรามาอยู่ที่นี่ลำบากคือไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีเด็กจากโรงเรียนนานาชาติมาเรียน ฉะนั้น ไม่รู้ว่าตอนนี้เครียดหรือเปล่า จิตใจเราเป็นไง เขาไม่รู้จะประเมินอย่างไร
๐ ทำไมฝึกงานที่โรงพยาบาลใน จ.ขอนแก่น
เลือกไป ตอนแรกไม่รู้จักเลยว่าโรงเรียนแพทย์มีที่ไหนบ้าง มีคนแนะนำศิริราช จึงเลือกที่นี่ก่อน จะได้ปรับภาษา วัฒนธรรม กลับไปขอนแก่น จะได้ปรับอีกทีเพราะมีคนลาว คนอีสานมารับการรักษาที่นั่นเยอะ จะได้ปรับภาษาใหม่อีกทีหนึ่ง...ฝึกงานขอนแก่นเสร็จ จึงไปฝึกงานที่ลาว ยังไม่ทราบเลยว่ากลับไปลาวต้องฝึกกี่ปี แต่จะขอฝึกปีหนึ่งก่อนแล้วเรียนต่อ อาจต่อที่เมืองไทยหรือต่างประเทศ
๐ ไม่คิดเป็นแพทย์ประจำอยู่ในเวียงจันทน์
ไม่ได้อยากเป็นหมออย่างนั้น ที่เลือกเรียนเพราะอยากกลับไปทำงานที่ปากเซ แขวงจำปาสัก อยากให้คนลาวมีระบบการรักษาดีๆ ได้รับการอบรม การช่วยเหลือด้านป้องกัน ถ้าเกิดอุบัติเหตุ สตรีเวลาจะคลอดบุตรทำอย่างไร จะได้จัดการให้ทันตามขั้นตอน และอบรมคนพื้นเมืองแถวบ้าน ไม่ปล่อยทิ้งไว้นานกว่าจะไปหาหมอ จะได้เพิ่มคุณภาพชีวิตด้วย
๐ คนปากเซเวลาเจ็บป่วยไปรักษาที่ไหน
คนมีตังค์มาไทย คนจนก็รักษาที่โน่น บางทีไม่มีตังค์รักษา คืออยากช่วยคนพวกนี้ ก่อนตัดสินใจว่าจะเรียนหรือไม่เรียน ถามแม่กับพี่คนโตว่าจะช่วยสนับสนุนไหม เพราะถ้าเราเป็นหมอเรียนจบออกมาจะไม่หาตังค์ แต่ออกมาช่วยคนจน แม่ไม่ลังเลเลยบอกจะสนับสนุนเต็มที่ ออกให้หมดเลย (หัวเราะ) ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัว และการทำสถานพยาบาล เลยตัดสินใจเลยเรียน
๐ แล้วพี่สาวคนโตว่าอย่างไร
เหมือนกัน ไม่มีท่าทางลังเล ถ้าลังเลนิดหน่อยคงไม่เรียน เพราะเครียดมากเหมือนกัน คือเห็นพ่อก็รู้ว่าทำงานหนัก ตอนเด็กๆ ไม่ค่อยเจอพ่อเท่าไร ตามที่แม่กับพี่เล่าให้ฟังคือ ตั้งแต่พ่อแม่แต่งงานกันมา ไม่มีคืนไหนเลยที่พ่อไม่ถูกเรียก (ไปรักษาคนไข้) ยกเว้นคืนแรกที่แต่งงาน พ่อกลับมาถึงบ้านตอนตีสองก็ถูกเรียกตีสอง ต้องออกไปตลอด วันหยุดก็ขอหยุดไม่ได้ จนพ่อป่วยแม่ทำเรื่อง โรงพยาบาลก็ไม่ให้หยุด เพราะขาดคน ปีหนึ่งทำงาน 365 วัน เงินเดือนก็น้อย มีคราวหนึ่งแม่เลยจัดการให้หยุดเพื่อไปฮันนีมูน ตอนนั้นพี่คนโตอายุ 2-3 ขวบ ไปเที่ยวเวียดนาม
เลยนึกว่าจะเรียนดีไหม แล้วเป็นหมอก็จนด้วย เมื่อไหร่ที่ทำต่อไม่ได้คงไปเป็นชาวสวนเหมือนพ่อ ดูก่อน พ่อเกษียณตอนอายุ 60 ปี ตอนนี้มาดูสวนกาแฟ (ไร่กาแฟของบริษัท) มีความสุขดี เคยถามว่าหากพ่อไม่เป็นหมอพ่อจะเป็นอะไร พ่อบอกเป็นชาวไร่ชาวสวน ตอนนี้พ่อได้เป็นสมใจแล้วสองอย่าง
๐ คุณพ่อปลื้มมากไหมที่เลือกเรียนหมอ และเรียนจบแล้ว
รู้สึกได้ว่าพ่อภูมิใจมาก เวลาขอคำแนะนำพ่อก็บอกว่าอดทนๆ ทำให้ดี ก่อนที่จะกลับมา (ลาว) ให้เรียนเฉพาะทางก่อน ให้เราเก่งๆ ด้านใดด้านหนึ่ง เรียนมาคงไม่ได้รักษาคนที่บ้าน อาจแค่แนะนำ เช่น พี่ชายถามว่าหากไปหาหมอแล้วอยากได้คำปรึกษาด้านนี้ ต้องทำยังไง ไปหาใคร หรือมีคนมาถามว่าลูกเขามีอาการแบบนี้บ่อยๆ เราก็แนะนำว่า ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ควรไปหาหมอเมื่อไร
๐ เป็นคุณหมอที่หน้าเด็กมาก
ตั้งแต่ปีหก เริ่มขรึมมากขึ้น ดูมาดเป็นหมอ แต่ก่อนดูเด็ก เขาบอกกันเลยว่าไม่กล้ามาให้รักษา แต่พอปีห้าขึ้นปีหกเปลี่ยนไป ขรึมลงเยอะ เพราะความรับผิดชอบ แต่ก่อนเรียนไปไม่ได้คิดอะไร อยากทำหลายอย่างแต่ยังไม่มีความรับผิดชอบ เราเลยดูเด็ก เที่ยวเล่น ไม่คิดอะไร พอขึ้นปีหก เราต้องมาดูคนไข้ก่อนใคร และไปฝึกงานข้างนอกประมาณครึ่งปี คนไข้เจอเราเป็นคนแรก พอมีความรับผิดชอบ เราจะขรึมไปโดยไม่รู้ตัว เปลี่ยนไปเยอะ ซึ่งบางทีเป็นไปเอง
๐ เคยเจอเคสหนักๆ บ้างหรือยัง ทำอย่างไร
ต้องเรียนรู้ค่ะ เคสที่หนักๆ มา ถ้าเราพลาดไปแค่เสี้ยววินาทีจะช่วยคนไข้ยาก เป็นการเรียนรู้ไป มีบ้างที่คิดอยากลาออก คือรู้สึกผิดว่าทำไมแค่นี้ไม่รู้ ทั้งที่เคยเรียนมาแล้วแต่แก้ปัญหาไม่ได้ บางทีเรียนรู้โดยความเจ็บปวด คือเราประเมินว่ามันยังไม่หนัก แต่อาการเขาแย่ลง แม้อาจารย์ที่มาดูจะสั่งรักษาอาการทัน เรารู้สึกว่าทำให้การรักษามันช้าลง หรือคนไข้ที่หนักๆ บางทีมีหลายอย่างเกิดขึ้นในคราวเดียว ถ้าไม่มีประสบการณ์ ไม่ชินกับตรงนี้ ทำไม่ได้เลยนะคะ
๐ แนวคิดเรื่องการทำสถานพยาบาลที่ปากเซ
มีความคิดอยู่ ถ้าทำได้ อยากทำเป็นสถานพยาบาลรักษาฟรี ถ้าคนจนไม่มีตังค์ เราก็ช่วยเขาให้เต็มที่ สมศักดิ์ศรีเขา ถ้ามีตังค์-อยากจ่ายก็จ่าย แต่กลัวเจ๊ง (หัวเราะ) อาจคล้ายๆ โครงการสามสิบบาท แต่ไม่มีกองทุนมาสนับสนุน
๐ คุณเฮียนเหมือนใคร
เหมือนพ่อ ส่วนพี่ๆ มีหัวทางธุรกิจ ที่จริงก่อนหน้านี้พี่ๆ ทุกคนอยากเรียนหมอ แต่สุดท้ายสถานการณ์บางอย่างทำให้ไม่ได้เรียน คือพ่อก็มีส่วนเกี่ยวข้อง มีอิทธิพลทางความคิด เยอะอยู่
๐ ทั้งที่คุณพ่อไม่ได้ผลักดัน แต่เพราะเห็นจึงรู้สึกรักและศรัทธา
ใช่ เพิ่งมารู้ว่าหมอเงินเดือนเยอะ หรือรวย ก็ตอนมาเมืองไทยนี่ค่ะ ที่ลาวตกงานกัน คือหมอขาดแคลนแต่ไม่มีอัตราจ้าง ที่เวียงจันทน์ก็รวยได้ หากเปิดคลินิกและมีชื่อเสียงหน่อย แต่พ่อไม่รวย...ซื้อยามาไว้ที่บ้าน คนไข้มาหาที่บ้านพ่อตรวจให้แล้วก็จ่ายยาให้ ไม่ได้เปิดเป็นคลินิก
แม่ไม่ว่า แม่ทำงานเก่ง หาเงินเก่ง แม่บอกตอนแต่งงานกับพ่อนึกว่าจะได้เป็นเจ๊นั่งนับเงิน ปรากฏว่าไม่มีอะไรมาถึงเลย แม่เรียนจบ ป.4 เป็นลูกคนโต ต้องออกมาทำงาน ความจริงแม่อยากเรียนต่อแต่ไม่ได้เรียน เลยสนับสนุนลูก ลูกอยากเรียนอะไรก็ให้เรียน...ตอนนี้พ่ออายุ 75 ปี แม่อายุ 64 ปี ถือว่าแต่งงานช้าเหมือนกัน
..............................................
(ทายาท'กาแฟดาว'กับความฝันเพื่อคนลาว : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : โดย...นีพร มฤคพิทักษ์ [email protected])