
ไขปัญหาฯ : เส้นลมปราณอยู่ตรงไหน
ไขปัญหาสุขภาพแผนจีน : เส้นลมปราณอยู่ตรงไหน : โดย...หมอไพร
เรียนคุณหมอไพร ผมใคร่ขอความกระจ่างว่า เส้นลมปราณที่ว่าอยู่ด้านไหนของร่างกาย อยู่ด้านขวาหรือด้านซ้ายของร่างกาย
ขอบคุณครับ ... สุทธิชัย
ตอบ คุณสุทธิชัย เส้นลมปราณ เป็นลักษณะพิเศษที่มีในการแพทย์แผนจีนเท่านั้น แพทย์จีนรุ่นก่อนได้สั่งสมประสบการณ์มาเป็นเวลา 2,000 กว่าปี จนสามารถค้นพบกฎเกณฑ์ว่า “ชี่” มีความสำคัญต่อร่างกาย ถ้าคนเราขาดชี่ จะหมดลม ซึ่งก็คือ “ตาย” แต่ชี่เดินไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ต้องมีเส้นทางโคจรของ “ชี่” อย่างเป็นระบบและมีกฎเกณฑ์
จากนั้นจึงค่อยๆ สรุปจนเป็นหลักทฤษฎีเกี่ยวกับเส้นลมปราณออกมาอย่างเป็นระบบ โดยเส้นลมปราณหลักที่จีนเรียกว่าเส้น “จิง” มี 12 เส้นที่เดินเป็นเส้นดิ่งตามร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ยังมีเส้นพิเศษอีก 8 เส้น นอกจากนี้ยังมีเส้นลมปราณรอง
ที่จีนเรียกว่า “เส้นลั่ว” ที่ช่วยเชื่อมโยงเส้นหลักทั้ง 12 เส้นและเส้นพิเศษ 8 เส้นเข้าด้วยกัน เป็นตาข่ายโยงใยทั่วร่างกาย จากภายในสู่ภายนอก จากบนสู่ล่าง อาศัยความเกี่ยวพันอันสลับซับซ้อนนี้ มารักษาโรคได้อย่างน่ามหัศจรรย์
ดังนั้นเส้นลมปราณจึงมีอยู่ทั่วร่างกาย จากบนสู่ล่าง จากซ้ายสู่ขวา จากนอกสู่ใน เส้นลมปราณเหล่านี้แหละที่เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งชี่เลือดไปสู่ส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย หากเส้นลมปราณเดินสะดวก ไหลลื่นไม่ติดขัด ชี่เลือดจะเดินไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายสะดวก ร่างกายจะไม่เจ็บปวดและมีความแข็งแรง หากเส้นทางเดินนี้เกิดการติดขัดขึ้นเมื่อใด จะเกิดอาการเจ็บปวดและเกิดโรคขึ้นได้ ดูแล้วจึงมีส่วนคล้ายระบบเส้นเลือดและระบบเส้นประสาท เพียงแต่จะไม่สัมผัสและมองเห็นด้วยตา ทั้งๆ ที่ดำรงอยู่จริง
การสัมผัสเส้นลมปราณ กระทำได้ทั้งผ่านจุด ที่เรียกว่าจุดฝังเข็ม ไม่ว่าจะด้วยการกดจุด หรือการฝังเข็ม มาปรับความสมดุลของการเดินของเส้นลมปราณ ไปบรรลุการปรับความสมดุลของร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง ยังสามารถกดนวดตามเส้นทางเดินของลมปราณ แพทย์จีนทุกคนจึงต้องเรียนรู้เส้นทางเดิน กฎเกณฑ์การโคจรของเส้นลมปราณ ที่เป็นเส้นยินหรือเส้นหยาง เดินขึ้นหรือเดินลง เพราะหากเราจะนวดเส้น ต้องรู้ว่าถ้านวดตามเส้นจะเป็นการ “บำรุง” หากนวดทวนเส้นจะเป็นการ “ขับ” หากทำตรงข้ามไม่เพียงไม่หายแต่กลับจะหนักยิ่งขึ้น
การลูบตามผิวหนัง หรือกวาซา ก็เป็นการดูแลรักษาร่างกายด้วยตัวเองที่ได้ผลดี เพราะที่ผิวหนังเป็นปลายของเส้นลมปราณ หากจะเปรียบก็เหมือนปลายประสาท เพียงเราลูบหรือทุบตามเส้นลมปราณ ปลายเส้นลมปราณนี้จะส่งผ่านไปตามวงจรไปสู่อวัยวะที่เขากำกับดูแล จึงได้ผลในการดูแลร่างกายและรักษาโรค
ดังนั้นที่ผู้เขียนบอกจุดให้กด หรือให้ทุบตามเส้นลมปราณ ขอให้ทำตามนั้นเป็นประจำ ร่างกายคุณจะดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
เท่านี้ท่านก็คงรู้แล้วว่า คำว่าเส้นลมปราณนั้นมีอยู่ทั่วร่างกาย การฝังเข็มนั้นไม่เพียงนำเข็มแหลมๆ ที่ทำด้วยโลหะที่ไม่เป็นสนิมฝังลงไปบนจุดแล้ว การนวดกดจุด การกวาซา การลูบหรือทุบตามเส้น การครอบแก้ว ล้วนอยู่ในขอบข่ายของศาสตร์การฝังเข็มทั้งนั้น