
Nikon D600 ฟูลเฟรม ตัวเล็ก ถึงใจ
Nikon D600 ฟูลเฟรม ตัวเล็ก ถึงใจ : คอลัมน์ ไอทีรีวิว : โดย...ไซเบอร์แบต
เดี๋ยวนี้กล้องยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกล้องคอมแพ็กท์ หรือดีเอสแอลอาร์ (กล้องเลนส์เดี่ยวแบบดิจิตอล) มักจะมีขนาดที่เล็กลงเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ที่นิยมถ่ายภาพในชีวิตประจำวันมากขึ้นเพื่อนำภาพไปโพสต์บนสื่อโซเชียลมีเดียมากกว่าที่จะอัดลงในกระดาษเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำเช่นเดิม แต่กล้องตัวเล็กเช่นนี้กลับอัดแน่นไว้ด้วยประสิทธิภาพในการถ่ายภาพ และฟังก์ชันที่หลากหลายช่วยในการเก็บภาพในมิติต่างๆ ดีขึ้นมาก
เช่นเดียวกับ กล้อง Nikon D600 กล้องดีเอสแอลอาร์แบบฟูลเฟรม รุ่นรองจากกล้องฟูลเฟรมระดับเรือธง อย่าง D800 ในค่ายเดียวกันที่จะเน้นการถ่ายภาพระดับมืออาชีพมากกว่า โดย Nikon D600 ที่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2555 เป็นกล้องดีเอสแอลอาร์ระดับฟูลเฟรม ตัวเล็ก และมีน้ำหนักเบา (เพียง 760 กรัม) แต่อัดแน่นไว้ด้วยคุณสมบัติในการถ่ายภาพที่เพียบพร้อม เริ่มจากเซ็นเซอร์รับภาพ CMOS ขนาดเท่าฟิล์ม 35 มิลลิเมตร ความละเอียด 24.3 เมกะพิกเซล และสามารถเก็บภาพในแบบ DX-format ด้วยความละเอียด 10.5 เมกะพิกเซล ค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 100-6400 สามารถลดลงมาที่ ISO 50 และเพิ่มได้สูงสุดที่ ISO 25,600 ความเร็วชัตเตอร์สูงสุด 1/4000
จุดโฟกัส 39 จุด พร้อมจุดโฟกัสแบบ Cross type 9 จุด บริเวณตรงกลาง หน้าจอแสดงผลด้านหลัง ขนาด 3.2 นิ้ว ที่ความละเอียด 9.21 แสนจุด ถ่ายวิดีโอด้วยความละเอียดระดับฟูล HD 1080p ที่ 30 เฟรมต่อวินาที
เรียกน้ำย่อยกันไปด้วยสเปกคร่าวๆ กันไปแล้ว ก็ถึงการใช้งานจริง โดยทางนิคอน ส่ง D600 มาพร้อมกับเลนส์ AF 24-70 mm f2.8 N และเลนส์ AF-S 12-24 mm F3.5-5.6 มาให้ทดลองใช้ระยะหนึ่ง ซึ่งในส่วนตัวที่เป็นคนชอบถ่ายภาพอยู่แล้วแต่จะคุ้นเคยกับกล้องจากค่ายแคนนอนมากกว่า เลยต้องมาปรับตัวเข้ากับ D600 ตัวนี้พอสมควร แต่นี่ก็เป็นปัญหาโลกแตกของตากล้องที่ต้องการเปลี่ยนค่ายอยู่แล้ว
แต่เมื่อเปิดเมนูต่างๆ ขึ้นมาดู ก็พบว่าเจ้า D600 มีฟังก์ชันการทำงานอัดแน่นไว้ในกล้องดีเอสแอลอาร์ระดับฟูลเฟรมตัวเล็กนี้อย่างเพียบพร้อม ทั้งการตั้งไวท์บาลานซ์ ที่ตั้งได้หลายแบบ รวมทั้งโหมดการตั้งค่าสีด้วยตัวเอง การแต่งภาพหลังกล้องโดยใช้เอฟเฟกท์ต่างๆ ทำให้ตากล้องระดับที่ไม่คิดมากสามารถแต่งภาพหลังกล้องได้จนพอใจ
ปุ่มฟังก์ชันต่างๆ กระจายอยู่ทั้งด้านหน้าและหลัง โดยด้านหน้าจะมีปุ่ม Fn ที่สามารถกำหนดได้ว่าจะใช้เป็นฟังก์ชันอะไร เช่น การวัดแสงเฉลี่ย/เฉพาะส่วน ปุ่ม Bkt เปิดระบบถ่ายคร่อมแสง และปุ่มเปิดแฟลชหัวกล้อง ส่วนด้านหลังอัดแน่นไปด้วยปุ่มฟังก์ชันกระจายไปทั่ว และมีปุ่มควบคุมเคอร์เซอร์ 4 ทิศทางให้เลือกสั่งการเมนู และจุดโฟกัส
แต่เมื่อประกอบเข้ากับเลนส์ขนาดใหญ่อย่าง 24-70 mm F2.8 N จะมีปัญหาหน้ากล้องคว่ำ เพราะเกิดความไม่สมดุลระหว่างน้ำหนักตัวกล้องกับเลนส์ ทำให้ระหว่างถ่ายภาพต้องใช้สมาธิค่อนข้างมากในการประคองกล้องพร้อมเลนส์ ซึ่งจุดนี้ก็มีข้อชดเชยในส่วนของการออกแบบกริปบนกล้องที่ทำให้จับถือได้กระชับมือ
ภาพถ่ายที่ออกมาด้วยชุดกล้องพร้อมเลนส์ดังกล่าว ทำได้อย่างประทับใจ ภาพใส เคลียร์ และเมื่อใช้ ISO สูงๆ ระดับ 6400 ก็มีปัญหาสัญญาณรบกวน หรือน็อยส์ พอประมาณแต่ไม่น่าเกลียด แต่จุดที่น่าประทับใจคือ ความที่เซ็นเซอร์กล้องอย฿ในระดับฟูลเฟรมทำให้เมื่อเปิดหน้ากล้องกว้างสุดที่ f 2.8 ทำให้ได้ภาพชัดเจนที่ตัววัตถุ ส่วนฉากหลังเบลอเกือบกลายเป็นแผ่นเดียวกัน ขับความเด่นของวัตถุหลักโดดออกมาได้อย่างดี ซึ่งตรงนี้ก็ต้องยกความดีให้กับเลนส์คุณภาพระดับเทพตัวนี้มากกว่าตัวกล้อง
ข้อดีอีกประการหนึ่งของ D600 คือภาพที่มีสีสันจัดจ้าน คอนทราสต์ระหว่างสีค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์นิคอนแต่ไหนแต่ไร ซึ่งคนที่ใช้นิคอนจะเข้าใจจุดเด่นนี้อย่างชัดเจน
ในภาพรวมแล้ว Nikon D600 สามารถให้ไฟล์ภาพที่โดดเด่น ชัดเจน ในระดับมือโปร เสียแต่ตัวกล้องมีน้ำหนักเบา เมื่อประกบกับเลนส์ตัวใหญ่อาจจะมีปัญหาในการจับถือบ้าง แต่ถ้ามีน้ำหนักของกริปแบตเตอรี่เสริมขึ้นมาน่าจะทำให้ปัญหานี้คลี่คลายลงไปได้
ปัจจุบันราคาขายของ Nikon D600 อยู่ที่ราว 6 หมื่นปลาย (ราคาประกันศูนย์) ลดลงจากราคาเปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้วเกือบ 1 หมื่นบาท ทำให้เจ้า D600 น่าสนใจมากสำหรับตากล้องสมัครเล่นที่ต้องการเทิร์นโปร ด้วยการสัมผัสกล้องฟูลเฟรมน้ำหนักเบาแต่อัดแน่นไว้ด้วยคุณภาพคับกล้อง
........................................
(Nikon D600 ฟูลเฟรม ตัวเล็ก ถึงใจ : คอลัมน์ ไอทีรีวิว : โดย...ไซเบอร์แบต)