
เครื่องหลวมแรงตก(2)
เครื่องหลวมแรงตก(2) : คอลัมน์มอเตอร์เวิลด์ : โดย...นายประโยชน์
ทบทวนกันนิดหนึ่งว่า วาล์วยัน คืออาการที่วาล์วต้องการปิดให้สนิทแต่ไม่สนิท ทำให้กำลังอัดรั่ว (ลิ้นไอดี ไอเสียจะปิดสนิทเมื่อลิ้นเริ่มจังหวะอัดและในจังหวะระเบิด) อัตราส่วนกำลังอัดน้อยลง อัตราส่วนการเผาไหม้ก็เปลี่ยนไป แรงจึงตก
อาการที่บ่งบอกคือ เครื่องติดยากทั้งเย็นและร้อน ถ้าเป็นมากเรียกว่าสตาร์ทกันจนน้ำมันท่วม (ในเรื่องยุคเก่ายุคคาร์บูฯ) ถ้าเป็นเครื่องดีเซล (รุ่นเก่าก็ต้องเผาหัวกันจนเผาหัวขาดหรือล่อด้วยเบนซิน เมื่อเครื่องติดแล้วจะเบายาก เดินเบาไม่เรียบ (เครื่องโยน สั่น) ถอนคันเร่งแล้วเรื่องดับ เมื่อติดได้แล้วจะเหม็นกลิ่นน้ำมันที่ปลายไอเสีย ในเครื่องดีเซลติดแล้วควันดำเหมือนควันปล่องโรงงานเหม็นกลิ่นน้ำมันดีเซล
ถ้ารถเก่าใครมีอาการอย่างนี้ลอง ปรับตั้ง วาล์วทั้งไอดีไอเสีย (รุ่นที่เป็นแบบกลไก) ส่วนรุ่นที่เป็นวาล์วไฮโดรลิก ก็ถอดออกล้างหรือเปลี่ยนชุดซ่อมหรือเปลี่ยนใหม่) สำหรับในรุ่นวาล์วไฮดรอลิก ตอนผมไม่มีกะตังค์ ผมจะถอดออกมาแช่น้ำมันเบ็นซินไว้สักสามสี่ชั่วโมง (เรียกว่าล้างดิบ) เสร็จแล้วใช้ลมแรงเป่าทำความสะอาด เพื่อไล่คราบน้ำมันหล่อลื่นภายในออกแล้วแช่น้ำมันเครื่อง(เกรดเดียวกับน้ำมันเครื่องที่ใช้) ทิ้งไว้สักหนึ่งคืน แล้วจึงประกอบคืนเข้าระบบ ถ้าใครใช้วิธีนี้ต้องอดทนรอกับเสียงเครื่อง (วาล์ว) ดังวินาศสันตะโรเมื่อเครื่องติดใหม่ๆ เพราะน้ำมันเครื่องในระบบกว่าจะเข้าไปในตัววาล์วไฮดรอลิกนั้นต้องใช้เวลา (แม้แต่กับไฮดรอลิกตัวใหม่ก่อนใส่ก็ควรจะแช่น้ำมันเครื่องทิ้งไว้สักคืน เพราะไม่งั้นวาล์วจะดังเมื่อติดเครื่องครั้งแรกๆ อาการอย่างนี้ ช่างมือใหม่ ตกม้าตายกันมาเยอะแล้ว (เออ บ้านเราไม่ค่อยมีคนขี่ม้าสักเท่าไร ทำไมถึงไม่เรียกว่าตกวัวตกควายตายกันมั่งไม่รู้)
ช่างก็จะรื้อเข้ารื้อออกสุดท้ายก็ไปโทษว่าของที่ซื้อมาไม่ดีเป็นของเก๊ของเทียมมั่งล่ะ (เฮ่อ) ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า วาล์วไฮดรอลิก ทำงานด้วยแรงดันน้ำมันเครื่องไงถึงเกิดอาการวาล์วยันได้ เรื่องนี้ตอบได้ไม่ยาก ภายในวาล์วไฮดอลิก (ตัวขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย) มีส่วนประกอบเป็นกลไกที่สำคัญคือ สปริง (ตัวเล็กๆ) และวาล์ว (ตัวกระจิดริด) เมื่อวาล์วต้องการเปิด (วาล์วเลื่อนลงล่าง) ไฮดรอลิกที่มีแรงดันน้ำมันเครื่องอยู่ในนั้นและลิ้นน้ำมัน (อันกระจิดริด) จะปิดกักน้ำมันเอาไว้เพื่อให้กระเดื่องวาล์วมีแรงกดไปถึงก้านวาล์ว วาล์วหรือลิ้นจึงเปิดได้กว้างที่สุดตามที่ถูกออกแบบไว้ เมื่อวาล์วต้องการปิด (ในจังหวะดูดหรือคลายไอเสีย) กระเดื่องวาล์ว (โดยการวบคุมของเพลาราวลิ้น) จะบังคับให้คลายตัวจากการกดไฮดรอลิกวาล์ว เมื่อไม่มีแรงกดจากภายนอก สปริง (ตัวน้อยๆ) ก็จะทำหน้าที่เปิดวาล์ว (อันกระจิดริด) ให้น้ำมันที่อยู่ในวาล์วไฮดรอลิกไหลออก ระยะห่างจากก้านวาล์วกับตัวกดวาล์วก็จะมีระยะห่างตามกำหนด (ประมาณว่า 0.025มิลลิเมตร) วาล์ว ก็จะไม่ยัน เมื่อได้ที่กระเดื่องกดว่า ยกแล้วแต่น้ำมันในไฮดอลิกวาล์วไม่ไหลออก วาล์วไฮดรอลิกตัวนั้นก็จะไปยันอยู่กับกระเดื่องกดวาล์วระยะห่าง (ประมาณ 0.025 มิลลิเมตร) ระหว่างก้านวาล์วกับกระเดื่องกดก็จะไม่มี ลิ้นไม่ว่าจะเป็นลิ้นไอดีหรือไอเสียก็จะปิดไม่สนิท อาการเช่นนี้แหละที่เรียกกันว่าวาล์วยัน
ก็คงจะงุนงงสับสนกันสักหน่อยสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ช่าง เพราะมีทั้งวาล์วใหญ่ (ลิ้น) กับวาล์วกระจิดริด (ลิ้นกันน้ำมันในไฮดรอลิกวาล์ว) เดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิด อ่านแล้วไม่งงก็ถือว่าเป็นผู้ที่อ่านภาษาไทยได้แตกฉาน โธ่นับประสาอะไร ผมเขียน (พิมพ์) อยู่กับนิ้วตัวเองยังเป็นงงเลยครับท่านพี่น้อง สัปดาห์หน้าว่ากันถึงเครื่องหลวมแรงตกตอนวาล์วห่าง หรือวาล์วดัง ก็ทำให้แรงตกได้
..................................................
(เครื่องหลวมแรงตก(2) : คอลัมน์มอเตอร์เวิลด์ : โดย...นายประโยชน์)