
แผนรับมือ'โรคกระดูกพรุน'
แผนรับมือ 'โรคกระดูกพรุน'
จากรายงานของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า "โรคกระดูกพรุน" เป็นปัญหาทางสาธารณสุขอันดับสองรองจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะมวลกระดูกของผู้หญิงมีน้อยกว่า และเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนจะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยทำให้แคลเซียมมาจับเนื้อกระดูก ส่งผลให้กระดูกบางลง สำหรับในประเทศไทย หากผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเกิดข้อสะโพกหัก พบว่าหลังข้อสะโพกหัก 1 ปี มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 17 เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลดังกล่าวโรคกระดูกพรุน จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่คุณไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป
นพ.วีรชัย ชื่นชมพูนุท ผู้บริหารนิรันดาคลินิก เผยว่า โรคกระดูกพรุนเป็นภาวะที่กระดูกสูญเสียเนื้อกระดูก และโครงสร้างของกระดูกผิดไป เนื่องจากแคลเซียมในกระดูกลดลง ทำให้กระดูกเปราะบาง เกิดการหักง่าย อาการสำคัญของโรค ได้แก่ ปวดตามกระดูกส่วนกลางที่รับน้ำหนัก และอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย ต่อมาความสูงของลำตัวจะค่อยๆ ลดลง หลังโก่งค่อม ส่งผลต่อบุคลิกภาพ ระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหารถูกรบกวน ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ท้องอืดเฟ้อ และท้องผูกเป็นประจำ โรคแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุดของโรคกระดูกพรุน คือ กระดูกหัก
“กระดูกของคนเราประกอบไปด้วยโปรตีน คอลลาเจน ซึ่งสร้างยึดโยงกัน โดยมีเกลือแคลเซียม ฟอสเฟต เป็นสารที่ทำให้กระดูกแข็งแรง และทนต่อแรงดึงรั้ง เกลือแคลเซียมจะอยู่ในกระดูกร้อยละ 99 และอยู่ในเลือดร้อยละ 1 ปกติกระดูกของคนจะมีการสร้างและการสลายอยู่ตลอดเวลา ในเด็กจะมีการสร้างมากกว่าการสลาย ทำให้กระดูกของเด็กมีการเจริญเติบโตและแข็งแรง กระดูกจะใหญ่ขึ้นจนกระทั่งอายุ 30 ปี และจะเริ่มสลายมากกว่าการสร้าง ทำให้เนื้อกระดูกเริ่มลดลง ในวัยทองระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมีระดับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราการสลายของกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เนื้อกระดูกลดลงและเกิดภาวะกระดูกพรุนในที่สุด” คุณหมอเผย
ทั้งนี้ นพ.วีรชัย แนะนำว่า วิธีที่จะหลีกเลี่ยงการเป็นโรคกระดูกพรุนที่ดีที่สุด คือ การเร่งสร้างและสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็ก จนอายุ 20-30 ปี ให้มีมวลกระดูกหนาแน่นที่สุด หลังจากนั้นจะต้องรักษามวลกระดูกไว้ไม่ให้ลดลงมากเกินไป ทำได้โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง อาทิ นมและผลิตภัณฑ์จากนมทุกชนิด ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย ผักใบเขียว โดยเฉพาะผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักกาดเขียว ผักบร็อคโคลี่ เป็นต้น รวมทั้งควรให้ร่างกายสัมผัสกับแสงแดดอ่อนๆ บ้าง เพื่อสร้างเสริมวิตามินดี ซึ่งมีประโยชน์ในการทำให้แคลเซียมจับกับกระดูกได้ดียิ่งขึ้น
พบกับสาระความรู้เรื่องเกี่ยวกับกระดูก พร้อมมาตรวจวัดมวลกระดูก และทดสอบการเคลื่อนไหว ได้ที่งาน “ไทม์ ทู มูฟ ขยับสนุก กระดูกแข็งแรง” ระหว่างวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้ บริเวณลานหน้าเซ็นทรัลเวิลด์