ไลฟ์สไตล์

'สุนทรภู่'ครูกลอนอักษรศิลป์

'สุนทรภู่'ครูกลอนอักษรศิลป์

30 มิ.ย. 2556

หนังสือที่เธอถือมา : สุนทรภู่ครูกลอนอักษรศิลป์ : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม

 

๑.

                             วันสุนทรภู่-หลายปีก่อน  ผมแต่งกลอนไว้สำนวนหนึ่ง  ดังนี้

                             ‘ยี่สิบหก  มิถุนา  เวียนมาถึง’

                             คำกลอนซึ่ง  เหมือนจะเชย  เคยจำได้

                             วรรคหนึ่งนั้น  พลันนึกหน้า  ว่าเป็นใคร

                             ตำนานไทย  ตำนานนั้น  ตำนานกวี

                             นักกวี  คืออะไร  ในอักษร

                             นักกลอน  คืออะไร  ในศักดิ์ศรี

                             สัมผัสนอก  สัมผัสใน  ในวิธี

                             สองร้อยปี  กลอนแปดต่าง  กลอนประตู

                             นานสองร้อย  กว่าปีโน้น  ใครคนนั้น

                             เยี่ยงนักฝัน  เยี่ยงนักจริง  ยิ่งนักสู้

                             เราเพิ่งเกิด  เหตุไฉน  ได้เรียนรู้

                             ‘สุนทรภู่  ครูกลอน  อักษรไทย’

                             ‘สุนทรภู่  ครูกลอน  อักษรศิลป์’

                             คำได้ยิน  เหมือนจะเชย  เคยจำได้

                             ยิ่งจดจำ  ยิ่งจริงจัง  ยิ่งฝังใจ

                             คนรุ่นใหม่  จึงสะท้อน  กลอนโบราณ

                             ในเก่า  มีใหม่...ในใหม่   มีเก่า

                             คนรุ่นแล้ว  รุ่นเล่า  ยังสืบสาน

                             กวีโลก  กวีไทย  ในตำนาน

                             กวีเมือง  กวีบ้าน  ตำนานกลอน

                             ครูกลอน  คืออะไร  ในศักดิ์ศรี

                             ครูกวี  คืออะไร  ในอักษร

                             โลกธรรม  นามธรรม  คำสะท้อน

                             ศรีสุนทร  สุนทรภู่  ครูชีวิต!

 

๒.

 

                             แบบแต่งกลอนรำลึกสุนทรภู่ด้วย  แล้วก็รำลึกคำกลอนในสังคมที่มักได้ยินเมื่อเอ่ยถึงสุนทรภู่ด้วย

                             ทั้ง ‘ยี่สิบหก  มิถุนา  เวียนมาถึง’ ‘สุนทรภู่  ครูกลอน  อักษรไทย’ ‘สุนทรภู่  ครูกลอน  อักษรศิลป์’  คือพอมีการแต่งกลอนถึงสุนทรภู่  กลอนมักพาไปออกมาทำนองนี้  จนผมอยากจะเรียกว่า ‘คำกลอนซึ่ง  เหมือนจะเชย  เคยจำได้’

                             ผมผ่านทั้งการประกวดกลอนและเป็นกรรมการตัดสินการประกวดกลอน  ผ่านหูผ่านตากลอนสูตรซ้ำๆ อย่างนี้มาไม่น้อยทีเดียว  เหมือนกับว่าพอคนรุ่นลูกรุ่นหลายนึกถึงสุนทรภู่ แล้วต้องแต่งกลอนสักบทสองบท ก็จะออกมาเป็นแบบนั้น  เหมือนแต่งกลอนปีใหม่ก็เริ่ม ‘ในวาระ ดิถี ขึ้นปีใหม่’

                             วันก่อน  ครูให้หลานสาวแต่งกลอน  แต่งไม่ได้ก็มาหาผม  ผมบอกแต่งให้ไม่ได้  แต่ให้ลองไปคิดวรรคแรกวรรคสองมาก่อน  แล้วจะช่วยดูให้  ไม่นานเธอกลับมาพร้อมคำว่า ‘ยี่สิบหก  มิถุนา  มาบรรจบ’ 

                             ทั้งนี้  อาจรวมถึงครูภาษาไทยจำนวนไม่น้อย  ที่แต่งกลอนได้ประมาณนั้น  ขนาดเข้าไปดูในกูเกิ้ลต่างๆ ที่ว่าด้วยสุนทรภู่  ก็มีกลอนที่เริ่มวรรคแรกประมาณนี้  โดยส่วนตัวที่แต่งกลอนมานาน  รู้จักพลิกแพลงถ้อยคำใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา  ก็คิดเห็นใจอยู่สำหรับคนที่เขาแต่งกลอนไม่เป็น  หรือไม่ชอบนักแต่ต้องแต่งตามครูสั่ง  อับความคิดจนถ้อยคำไปตามสภาพ  อย่างไรก็ตาม  มีโอกาสแนะนำได้  ผมก็จะแนะนำว่าการแต่งกลอนถึงสุนทรภู่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยแรงบันดาลใจมากมาย   แม้บางคนจะพลิกแพลงไปทางตลกโปกฮา  ‘สุนทรภู่  ครูกลอน  อักษรศิลป์  นั่งเป็นหิน  อยู่ที่หน้า  อาคารสอง’  หรือ  ‘สุนทรภู่  ครูกวี  ขี่สแมธ’

                             ดีๆ ชั่วๆ ก็ถือว่ายังมีกระแสรำลึกกวีเอกสุนทรภู่แหละครับ  สำหรับผมเองที่นิยมชมชอบกลอน  ก็เรียกท่านว่าครูกลอน  ครูกวี  ขณะเดียวกัน  ท่านสอนหรือให้แสงสว่างด้านชีวิต  จนเรียกเป็นครูชีวิตได้!

 

 

-----------------------

(หนังสือที่เธอถือมา : สุนทรภู่ครูกลอนอักษรศิลป์ : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม)