
58 ปี อนุสาวรีย์สุนทรภู่
หนังสือที่เธอถือมา : 58 ปี อนุสาวรีย์สุนทรภู่ : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม
๑.
สุนทรภู่-นับว่ามีสีสันทั้งชีวิตและผลงาน ขณะคนต่างยุคสมัยอ่านศึกษาผลงานด้วยแง่คิดอันหลากหลาย เรื่องราวในชีวิตก็ถูกเล่ากันไปต่างๆ นานา มีการถาม การถก การเถียง การนำเสนอ แนวคิดหลายชั้น
เรื่องหลักๆ ที่ได้ยินตั้งแต่เริ่มรู้จักชื่อท่านก็คือ เป็นคนขี้เมา และเจ้าชู้?
เรื่องเจ้าชู้ก็อีกเรื่องหนึ่งไว้ก่อน แต่เรื่องขี้เมานั้น หลายคนตั้งคำถาม คนกินเหล้าเมามายจะสร้างมรดกทางปัญญาจำนวนมากตกทอดถึงเราได้อย่างไร?
อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ถึงกับว่า ‘สุนทรภู่ถึงแก่กรรมเมื่ออายุประมาณ ๗๐ ปี ประมาณว่าผลงานทั้งหมดผลิตขึ้นในช่วงอายุ ๒๐-๗๐ ปี...เวลาเขียนกลอนซึ่งประมาณสูงสุด ๑ ใน ๓ ก็เท่ากับประมาณ ๑๖ ปี...ลองคิดเล่นๆ ว่า ๑๖ ปี สุนทรภู่มีผลงานเป็นกลอนประมาณ ๖๐,๐๐๐ คำกลอน เฉลี่ยปีละประมาณ ๓,๖๐๐ คำกลอน เดือนละ ๓๐๐ คำกลอน วันละ ๑๐ คำกลอนทุกวัน (เว้นไม่ได้)...ก็น่าคิดนะครับว่า ขี้เมาคนไหนบ้าง ที่ทำได้อย่างสุนทรภู่?’
ก็ว่ากันไปแหละครับ เป็นประเด็น เป็นสีสัน เป็นเรื่องเล่าของบุคคลซึ่งเคยมีอยู่จริง แต่บัดนี้เหลืออยู่เพียงแต่ในจินตนาการของเรา ผมเองก็รู้สึกเช่นนั้น คือถ้าท่านเมาสะเงาะสะแงะทั้งวันทั้งคืน ท่านจะแต่งคำกลอนดีๆ ได้อย่างไร หรือถึงแม้ท่านชอบเมามายก็เถอะ ท่านก็คงมีความสามารถพิเศษในการบริหารจัดการชีวิตของตัวเอง ทั้งในเรื่องกินดื่ม และการคิดค้นทำงาน
บางคนก็ว่า สุนทรภู่เป็นผู้ที่แตกฉานทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นนักเดินทางผจญภัย คบหาผู้คนได้ทุกชนชั้น ท่านย่อมต้องมีศิลปะในการครองตนอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่...
ชีวิตจริงในจินตนาการ-จินตนาการในจินตนาการ-บางทีก็ดูเหลื่อมซ้อนกัน ผมมักถามนักเรียนว่า พระอภัยมณีเป็นชีวิตจริงหรือจินตนาการ? หลายคนมักลังเล ตอบไม่ได้ แต่ก็มีอยู่ที่ตอบได้ว่า พระอภัยมณีแค่เป็นตัวละครที่คลอดออกจากจินตนาการสุนทรภู่ ซ้ำบางคนยังจินตนาการไปไกลอีกว่า แล้วสุนทรภู่มีชีวิตจริงไหม? หรือบางที-สุนทรภู่อาจเป็นแค่เพียงตัวละครจากจินตนาการของใครสักคน?
๒.
ในหนังสือ ‘สุนทรภู่ : อาลักษณ์เจ้าจักวาล’ ของ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ยังมีข้อเขียนเรื่อง ‘อนุสาวรีย์สุนทรภู่’ ของ เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ (ส.ส. ระยอง หลายสมัย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง)
อ่านแล้ว ทำให้เห็นที่มาที่ไป อนุสาวรีย์สุนทรภู่ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งครบ ๑๐๐ ปีมรณกาลสุนทรภู่ คุณเสวตรศรัทธาสุนทรภู่มาก จึงคิดสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นให้เหมือนที่อังกฤษสร้างอนุสาวรีย์ให้กวีเอกเชคสเปียร์ โดยเลือกที่วัดป่าเดิม บ้านกร่ำ อำเภอแกลง ซึ่งสุนทรภู่เดินทางไปหาบิดาที่บวชอยู่ กระทั่งเกิด ‘นิราศเมืองแกลง’
มีการทำเรื่องเสนอกระทรวงวัฒนธรรมและได้รับความเห็นชอบดำเนินการ โดยเชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไปเป็นประธานวางศิลาฤกษ์ เงินที่จะใช้สร้างอนุสาวรีย์ในตอนนั้น ได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
คุณเสวตรเล่าอีกว่า ยังได้เชิญให้ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เขียนต้นแบบรูปปั้นให้ แต่เมื่อมีการสร้างจริงนั้นก็ได้ศิลปินผู้ออกแบบอีกกลุ่มหนึ่ง เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน ในปี ๒๕๐๐ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกรัฐประหาร ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ต่อมาในสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินจากสำนักงานสลากกินแบ่งอีกครั้ง บวกกับเงินบริจาคของประชาชนจำนวนมาก อนุสาวรีย์สุนทรภู่จึงแล้วเสร็จ และมีการทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๑๓
ถ้านับจากปี ๒๔๙๘ จนถึงปัจจุบัน ก็ร่วม ๕๘ ปี...
คนรุ่นหลังมากมายที่ผ่านไปไหว้อนุสาวรีย์สุนทรภู่ นอกจากจินตนาการถึงสุนทรภู่เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีก่อนโน้นแล้ว อาจพอเห็นภาพที่มาที่ไปในระยะสายตาอันไม่ใกล้ไม่ไกลเรานี้!
------------------------
(หนังสือที่เธอถือมา : 58 ปี อนุสาวรีย์สุนทรภู่ : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม)