
นกกระจิบหัวแดง
นกกระจิบหัวแดง : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว
ในปัจจุบันหากมีการพบนกชนิดใหม่แต่ละครั้ง ย่อมตกเป็นข่าวฮือฮากว่าการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในวงการใดๆ ทั้งหมด ด้วยความที่นกเป็นสัตว์กลุ่มที่พบเห็นได้ง่ายและมีความหลากหลายมาก กิจกรรมดูนกจึงเป็นที่แพร่หลายและมีคนให้ความสนใจมากตามไปด้วย จนเรียกได้ว่าถูกสำรวจกันจนพรุน แทบไม่มีอะไรใหม่ๆ ให้ค้นหา แต่จริงๆ แล้วก็อาจยังมีนกใหม่รอการค้นพบอยู่ไม่ไกลบ้านคนด้วยซ้ำ ล่าสุดมีการพบนกจับแมลง (Flycatcher) ที่มีลักษณะโดดเด่นจนน่าจะเป็นชนิดใหม่ของโลก ในป่าไม่ไกลจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อปีก่อนที่กัมพูชาก็มีการพบนกกระจิบ (Tailorbird) ที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่าง นกกระจิบคอดำ (Dark-necked Tailorbird) และนกกระจิบหัวแดง (Ashy Tailorbird) ในพื้นที่รกร้างริมถนนใกล้กรุงพนมเปญ!
นกกระจิบคอดำเป็นที่คุ้นเคยกันดีสำหรับนักดูนกส่วนใหญ่ เพราะพบได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะตามป่าที่มีไม้พุ่มรกๆ และใกล้ลำธาร ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นนกที่พบชุกชุมที่สุดชนิดหนึ่ง ส่วนนกกระจิบหัวแดงนั้น อาศัยอยู่ตามป่าชายเลนและป่าละเมาะตามริมชายฝั่งทะเลทางภาคใต้ของไทย นอกจากนี้ยังพบในเวียดนามและกัมพูชาด้วย แต่ในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียตะวันออก นกกระจิบหัวแดงเป็นนกกระจิบที่พบชุกชุมที่สุดในทุกถิ่นอาศัย ตั้งแต่ตามสวนสาธารณะไปจนถึงป่าดิบเขา ในขณะที่นกกระจิบคอดำเป็นชนิดที่พบน้อยกว่ามาก
แม้สีสันจะไม่เหมือนกันเลย แต่ทั้งสองชนิดมีเชื้อสายค่อนข้างใกล้ชิดกัน จะเห็นได้จากเสียงร้องที่คล้ายกัน การที่นกกระจิบคอดำมีลำตัวสีเขียวไพลคล้าย นกกระจิบธรรมดา (Common Tailorbird) ซึ่งพบได้ทั่วประเทศเช่นเดียวกันมากกว่า ส่วนนกกระจิบหัวแดงนั้นมีลำตัวสีเทาเหมือน นกกระจิบกระหม่อมแดง (Rufous-tailed Tailorbird) ซึ่งพบในแถบซุนดาเช่นกัน อาจเป็นผลจากการวิวัฒนาการให้คล้ายกันเพื่อสร้างความสับสนให้กับผู้ล่า ยามที่พวกมันหากินในพื้นที่เดียวกัน
นกกระจิบหัวแดงเพศผู้มีลำตัวสีเทาอมฟ้าทั่วทั้งตัว หัวและใบหน้าสีส้มอมชมพู ขนคลุมข้อขาสีส้ม เพศเมียมีสีสันโดยรวมจางกว่า และอกสีขาว ส่วนนกวัยเด็กมีคอและท้องสีขาวคล้ายนกกระจิบกระหม่อมแดง ในบรรดานกกระจิบที่พบในประเทศไทย มีเพียงนกกระจิบหัวแดงและนกกระจิบคอดำเท่านั้นที่เพศผู้และเพศเมียสีสันต่างกันชัดเจน พฤติกรรมโดยรวมไม่ต่างจากนกกระจิบอื่นๆ น้ำหนักตัวที่เบาและขาที่ยาวช่วยให้มันสามารถกระโดดเกาะใบไม้ เพื่อซอกซอนไปในพุ่มไม้ จับแมลงตัวเล็กๆ กินเป็นอาหารได้อย่างคล่องแคล่ว
..........................................................
(นกกระจิบหัวแดง : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)