ไลฟ์สไตล์

เตือน!หน้าฝนระวังสารพิษจากขยะอันตราย

เตือน!หน้าฝนระวังสารพิษจากขยะอันตราย

14 มิ.ย. 2556

'กรมควบคุมโรค' เตือนหน้าฝนระวังสารพิษจากขยะอันตรายไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ แนะปชช.ควรแยกออกจากขยะทั่วไป

 

                        14 มิ.ย.56 นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าจากข้อมูลเมื่อปี 2547 พบว่า มีขยะอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้นในประเทศไทยปีละ 4 แสนตันและนับวันจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และในช่วงปลายปี 2554 เกิดขยะอันตรายซึ่งมาจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในภาคกลางตอนล่างอีก 18,000 ตัน ซึ่งขยะอันตรายเหล่านี้ยังไม่มีระบบการจัดการที่ดี ยังคงเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายร่วมมือกัน ลดการใช้และทำลายอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะในหน้าฝนโอกาสที่สารพิษจากขยะอันตรายจะไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมีมาก การลดอันตรายจากสารพิษที่ประชาชนทำได้ คือ ลดการใช้สารเคมีและการคัดแยกขยะครัวเรือนออกจากขยะทั่วไปเพื่อลดจำนวนสาร อันตรายไม่ให้ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หากได้รับสารพิษที่ปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร จึงได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคสร้างความตระหนักและความรู้เกี่ยวกับขยะ อันตรายให้ประชาชนได้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยจากขยะอันตรายเหล่านั้น

                        ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขยะอันตรายจากชุมชน หมายถึง วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้ว ซึ่งปนเปื้อนหรือมีสารอันตรายเป็นส่วนประกอบ อยู่ในบ้านเรือนหรือชุมชนที่เห็นบ่อย ได้แก่ ซากผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ซากวิทยุ โทรทัศน์ พัดลม แอร์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่มือถือ ซากคอมพิวเตอร์ สารเคมีที่ใช้ในครัวเรือน เช่น สเปรย์ น้ำยาทำความสะอาด สี น้ำมันเครื่อง ยารักษาโรค เป็นต้น

                        ขยะอันตรายนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ทางการหายใจ ทางปาก และทางผิวหนัง หากสูดดมสารพิษจะรู้สึก แสบจมูก ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ เจ็บคอ แสบคอ คัดจมูก หากถูกผิวหนังอาจเกิดอาการผิวหนังไหม้ เกิดผื่นคัน แสบตา ตาแดง หากรับประทานสารพิษเข้าร่างกายอาจเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ในระบบทางเดินอาหาร ปวดท้องและอาจถึงตายได้ นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเฉียบพลันแล้ว สารพิษในขยะอันตรายที่ถูกกำจัดแบบไม่ถูกวิธียังอาจก่อให้เกิดผลเรื้อรังด้วย เช่น ถ่านไฟฉาย มีสารแคดเมี่ยม ทำให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้าง กระดูก ปอดและไต หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ มีสารปรอทซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง แบตเตอรี่รถยนต์ มีธาตุตะกั่วที่สามารถทำอันตรายต่อระบบการสร้างเม็ดเลือดแดง และพัฒนาการของสมองในเด็ก ซากผลิตภัณฑ์เครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสารโบรมีนเป็นส่วนประกอบในกล่องสายไฟและแผงวงจรเป็นสารก่อมะเร็ง สีทินเนอร์ น้ำมันหล่อลื่น และสารเคมีจากกระบวนการล้างอัดขยายภาพ มีตัวทำละลายซึ่งมีฤทธิ์ไวไฟและเป็นพิษต่อมนุษย์ สารกำจัดแมลงและสารกำจัดวัชพืชที่ตกค้างในภาชนะบรรจุก่อให้เกิดการเปลี่ยนต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย และ มีผลต่อระบบสืบพันธุ์

                        ดังนั้น เพื่อป้องกันโรคและภัยสุขภาพ ควรดำเนินการดังนี้ 1.ลดปริมาณขยะอันตรายในบ้าน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีภายในบ้าน เช่น ยากำจัดแมลงหรือน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ควรหันไปใช้สารทดแทนจากธรรมชาติจะดีกว่า เช่น ใช้เปลือกส้มแห้งเผาหรือตะไคร้หอมเพื่อไล่ยุง  ใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ผลิตจากสารธรรมชาติหรืออาจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานงาน เช่น แบตเตอรี่แบบชาร์ตได้ 2.ถ้าจำเป็นต้องซื้อวัสดุ/อุปกรณ์ที่มีสารอันตรายเป็นส่วนประกอบ เช่น สีทาบ้าน ควรซื้อในปริมาณที่เพียงพอจะใช้เท่านั้น ไม่ควรซื้อเกินและเหลือทิ้งภายหลัง 3.ไม่ควรเทสารเคมีที่ใช้ลงในท่อน้ำทิ้งแหล่งน้ำสาธารณะ หรือ บนพื้นดิน เพราะจะทำให้ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมของเรา การใช้สารเคมีควรใช้ให้หมดโดยสุดท้ายให้ใช้น้ำมาผสมแล้วใช้ให้หมดเกลี้ยง 4.ขยะภายในครัวเรือน ควรแยกเป็น 3 ถุง ได้แก่ขยะอาหาร ขยะแห้งที่เป็นพลาสติก เสื้อผ้า รองเท้าฯลฯ และขยะอันตรายที่มีสารพิษเป็นส่วนประกอบไม่ควรทิ้งเศษวัสดุ/อุปกรณ์ที่มีอันตรายปนเปื้อนหรือปะปนกับขยะทั่วไปควรใส่ถุงแยกไว้ต่างหาก หรือทิ้งในถังที่ระบุว่าเป็นขยะอันตราย ขยะอันตรายเหล่านั้นถ้าไปปะปนกับขยะทั่วไปจะเกิดอันตรายรุนแรงมากขึ้น เพราะกรดหรือก๊าซไข่เน่าในขยะทั่วไปจะไปทำปฏิกิริยากับสารพิษทำให้เกิดความเป็นพิษมากขึ้น และหากไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จะเกิดผลเท่ากับมีคนเอาขยะพิษมาทิ้งในบ่อน้ำ

                        นอกจากจะดูแลขยะอันตรายภายในบ้านแล้ว ในระดับชุมชนควรเฝ้าระวังอย่าให้ผู้อื่นนำขยะอันตรายมาทิ้งในชุมชน วิธีสังเกตว่ามีขยะอันตรายในชุมชน สังเกตโดยในอากาศจะมีกลิ่นขยะปนสารเคมีโชยมาตามลม หากขยะอยู่บนดิน ถ้าขยะอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ สี กลิ่น รสของน้ำจะเปลี่ยนไป เมื่อใช้แล้วจะมีอาการคัน หากมีอาการเจ็บป่วยจากสารเคมี ให้จดบันทึกอาการอย่างละเอียดพร้อมระบุ วัน เวลา สถานที่เกิดอาการ ถ้ามีกล้องจากมือถือให้ถ่ายภาพ ผื่นคัน ตาแดง หรืออาการอื่นๆที่เห็นได้ชัดไว้เป็นหลักฐาน และมาพบแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยได้ถูกต้องว่าเป็นอาการป่วยมาจากสารพิษ รวมทั้งให้แจ้ง อบต. เทศบาล หรือตำรวจ และงดใช้น้ำบริเวณที่มีขยะอันตราย ไม่ว่าจะเป็นน้ำบ่อ น้ำบาลดาล หรือประปาหมู่บ้านที่มีต้นน้ำมาจากบริเวณดังกล่าว

                        อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า จากข้อมูลโครงการพัฒนาแนวทางการประเมินปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมควบคุมมลพิษ ได้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงปี พ.ศ.2555-2559 หากไม่มีการดำเนินการกำจัดขยะอันตรายอย่างถูกต้อง จะมีซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ดังนี้ โทรทัศน์ 12 ล้านเครื่อง กล้องถ่ายภาพ/วีดีโอ 4 ล้านเครื่อง อุปกรณ์เล่นภาพ/เสียงขนาดพกพา 17 ล้านเครื่อง เครื่องพิมพ์/โทรสาร 7 ล้านเครื่อง โทรศัพท์มือถือ/โทรศัพท์บ้าน 48 ล้านเครื่อง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 11 ล้านเครื่อง เครื่องปรับอากาศ 3 ล้านเครื่อง และตู้เย็น 4 ล้านเครื่อง ซึ่งหลายหน่วยงานกำลังร่วมกันกำจัดขยะอันตรายเหล่านี้อย่างถูกวิธี แต่อย่างไรก็ตามจะสำเร็จได้ต้องเริ่มต้นจากการแยกขยะในครัวเรือนเป็นลำดับแรก และไม่นำขยะอันตรายทิ้งปนกับขยะทั่วไป รวมถึงลดการใช้สิ่งต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดขยะอันตราย หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลต์ กระทรวงสาธารณสุข 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร 02-5903333