
การเรียนรู้4มิติเปลี่ยนชาติสร้างพลัง
การเรียนรู้ 4 มิติ เปลี่ยนชาติสร้างพลัง : คอลัมน์ แต่งร้านให้ได้ล้าน โดย... ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง
การผลักดันให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้กับนานาอารยประเทศ มิติที่ควรจะลงน้ำหนักมากสุดคือ การสนับสนุนการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรชาติ คือ “มนุษย์” ให้มีคุณภาพ มีภูมิคุ้มกัน คือ “ภูมิปัญญา” ที่จะเป็นเกราะแห่งความเข้มแข็งให้ชาติรอดวิกฤติ ตลอดจนสามารถส่งเสริมและต่อยอดให้ประเทศมีความแข็งแกร่งในทุกมิติ แต่เมื่อประเทศไทยขาดการสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ เป็นเพียงปะติดปะต่อ ชาติก็จะกลายเป็นเว้าๆ แหว่งๆ ผิดทิศผิดทาง บูดเบี้ยว การศึกษาที่ขาดการมองรอบทิศ ขาดมิติอันลึกซึ้งมีผลต่อบุคลากรของชาติในอนาคตที่ไร้คุณภาพตามมา
ทัศนคติของคนในชาติบางอย่างเป็นปัญหา ทัศนคติที่ไม่ได้มองชาติก่อนแต่กลับมองผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง เห็นแก่ “เงิน” มากกว่าเห็นแก่ “งาน” ซึ่งเป็นความบอบช้ำของสังคมในขณะนี้
หลักสูตรการเรียนการสอนด้านปรัชญาความคิดมรดกทางวัฒนธรรม ก็ต้องปิดการเรียนการสอนลงเพราะไม่ได้ประโยชน์ทางการเงิน เพราะคนเรียนมีน้อย ซึ่งอาจทำให้ชาติอาจขาดแคลนบุคลากรทางปรัชญาไปมาก ซึ่งมีแต่จะเพิ่มพูนบุคลากรด้านการผลิต ด้านเศรษฐกิจมาแทนที่ ซึ่งอาจทำให้ชาติเกิดวิกฤตในที่สุดเพราะมองเงินมาก่อนปัญญา ระดับของการศึกษาก็เช่นกัน ความเจริญของชาติไม่ได้ขึ้นอยู่กับการศึกษาที่สูงส่งเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างบ้าน 1 หลัง ไม่ได้เกิดจากวิศวกรกับสถาปนิกเพียงไม่กี่คน แต่จะต้องร่วมสร้างจากอาชีพทุกกลุ่ม ตั้งแต่กรรมกร จับกัง ช่างไม้ ช่างปูน ผู้รับเหมา ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ สำหรับบ้าน นักออกแบบ ฯลฯ นั่นก็แปลว่าในสังคมก็ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องมีแต่เฉพาะคนจบการศึกษาสูงๆ บ้านไม่มีทางเสร็จได้หรอกครับถ้าผู้สร้างไม่ได้มาจากการร่วมมือจากคนทุกกลุ่ม
สังคมก็เช่นกัน ถ้าจะสมบูรณ์อยู่ได้ต้องเกิดจากระดับความรู้ และ ”ชีวภาพทางความรู้” ที่หลากหลาย คอยเติมเต็มให้สังคมนั้นสมบูรณ์ การมองการศึกษาจึงไม่ใช่แค่แนวตั้ง แนวนอนก็สำคัญ ทุกระดับแม้จบการศึกษาระดับไหนก็ตามก็ถือว่า มีความสำคัญเท่ากันหมด เสมือนร่างกายที่มีอวัยวะที่ทุกส่วนต้องทำงานร่วมกันเอื้อต่อกัน มีหน้าที่ต่างกันแต่ส่งเสริมกันและกัน โดยความสำคัญเท่าเทียมกัน ถือว่าเป็นร่างกายที่สมบูรณ์
ขณะที่ในปัจจุบันการศึกษาในระดับล่าง ระดับกลางก็ประสบปัญหา อาชีพที่ใช้แรงงานก็เกิดวิกฤตเพราะคนไทยส่วนใหญ่จะดูถูกดูแคลนคนระดับล่าง จนแรงงานระดับล่างขาดความภาคภูมิใจในอาชีพ สุดท้ายก็ต้องหนีจากความถนัดไปสู่ระดับที่ตัวเองไม่ถนัด และก่อเกิดการขาดบุคลากรระดับแรงงานอย่างมากในปัจจุบันนี้ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศเขาให้ความสำคัญกับอาชีพทุกระดับและร่วมสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับทุกอาชีพ โดยมีแรงบันดาลใจ และความหวังที่มองเห็นอนาคตว่าจะเติบโตสำเร็จได้อย่างไร สร้างไฟปลุกความสามารถให้เกิดขึ้นจากทุกอาชีพทุกระดับไม่ก่อให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ดูถูกดูแคลนอาชีพตัวเอง มีความภาคภูมิใจประกอบอาชีพใดก็รักในอาชีพนั้น
สถาบันการศึกษาเองก็ไม่ควรบ่มเพาะแต่เพื่อการศึกษาสูงด้านเดียว แต่ต้องมองให้ครบทุกมิติ และการศึกษาก็ใช่ว่าจะตกอยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียนเท่านั้น แต่การเรียนรู้ทางการศึกษาต้องเกิดขึ้นทุกวินาทีที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีพและถ้าเข้าใจ เราสามารถวางแผนการศึกษาเพื่อบ่มเพาะปัญญาให้กับคนในชาติอย่างยั่งยืนนั้นเอง โดยมีแนวคิดในการบ่มเพาะ 4 มิติในแนวคิด “HOME” ดังนี้
1. H = HOME เริ่มต้นที่บ้าน การสร้างสรรค์ปัญญาบ่มความคิดที่บ้านและครอบครัว ที่อบอุ่น ถือว่า สำคัญเป็นอันดับแรก และต้องทำให้เป็นระบบ การออกแบบระบบสื่อการเรียนรู้ประจำบ้าน การทำหน้าที่ของครอบครัว การสร้างแรงบันดาลใจจากบ้าน การออกแบบบ้านที่มีคุณภาพ น่าอยู่ น่าสบาย
2. O = OFFICE สำนักงาน อาชีพ ถือเป็นการเรียนรู้สำคัญ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในการทำงานมีมากมาย ยิ่งสถาบันการศึกษาใดก็ตามมีกิจกรรมร่วมกับสำนักงาน หรือแหล่งสร้างงานมากๆ สถาบันนั้นก็จะมีความยั่งยืนแข็งแรง บุคลากรก็จะมีคุณภาพตั้งแต่การเรียน ซึ่งอาจเริ่มต้นจากประถม มัธยมก็ได้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและการเรียนรู้ของจริง อีกทั้งก็ต้องเป็นสำนักงานที่มีจริยธรรมและความเป็นมืออาชีพไปพร้อมกัน สภาพแวดล้อมในส่วนกลางจะต้องออกแบบให้มีคุณภาพ
3. M = MEDIA สื่อต่างๆ ที่มีผลกระทบสู่มนุษย์เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีทั้งเลวและดี การคัดกรองความรู้จากสื่อเหล่านี้ จึงมีประโยชน์ต่อการรับรู้ และเรียนรู้อย่างมาก ทั้งสื่อออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ ข่าวสารต่างๆ และสื่อใหม่ๆ ที่พร้อมจะเกิดขึ้นมากมายและมีพลังมหาศาล การเรียนรู้ของโลกจะเกิดการปฏิวัติมหาศาล อาจจะเป็นคู่แข่งกับห้องเรียนในที่สุด
4. E = EDUCATION CENTER ศูนย์การศึกษาทุกระดับ ซึ่งให้เป็นข้อที่ 4 เพราะอาจจะมีอิทธิพลน้อยมากในอนาคต ถ้าไม่ปรับตัวการเรียนรู้ผ่านโรงเรียน จึงไม่ใช่อิทธิพลในการเรียนรู้มากกว่าเมื่อก่อนอีกต่อไป แต่ก็มีความสำคัญที่สุดถ้าได้รับการสร้างสรรค์อย่างมีคุณภาพ และต้องปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ E สุดท้าย ที่สำคัญไม่แพ้กับ E ในข้อนี้ คือ “ENVIRONMENT” คือ สภาพแวดล้อมรอบตัวที่มีอิทธิพลอย่างมากในการเรียนรู้ของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นการบ่มเพาะครบทุกมิติรอบตัว
ผมจึงยืนยันได้ว่า การเรียนรู้ 4 มิติ (กว่าๆ) แบบนี้ คือ ระบบการเรียนรู้ที่ต้องได้รับการออกแบบให้เกิดประสิทธิภาพ ชาติก็จะไปรอดจะต้องเกิดจากการพัฒนาการเรียนรู้ครบทุกมิติ จากทุกคนทั้งผู้นำและผู้ตาม เพื่อสร้างคน สร้างปัญญา ให้มีประสิทธิภาพในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาติบ้านเมืองต่อไป การสนับสนุน การเรียนรู้รอบทิศ จึงถึงเป็นเรื่องใหญ่ โดยทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือ “มนุษย์” นั่นเองครับ
.......................................
(หมายเหตุ การเรียนรู้ 4 มิติ เปลี่ยนชาติสร้างพลัง : คอลัมน์ แต่งร้านให้ได้ล้าน โดย... ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง)