ไลฟ์สไตล์

บ่อเกลือในฝัน...ที่เป็นจริง

บ่อเกลือในฝัน...ที่เป็นจริง

09 มิ.ย. 2556

บ่อเกลือในฝัน...ที่เป็นจริง : คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย...ธีรภาพ โลหิตกุล

               น่าแปลก ที่ “เกลือ” ซึ่งวันนี้ถูกนำไปเปรียบเปรยในทางลบ ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความงก แต่ประวัติศาสตร์กลับบันทึกว่าเกลือในอดีตเป็นของสูงค่า ถึงขั้นต้องทำสงครามแย่งชิงเกลือกัน เกลือเป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง พ่อค้าเกลือในแคริบเบียนถึงกับเก็บเกลือไว้ในห้องใต้ดิน จอมจักรพรรดิจีน โรมัน ฝรั่งเศส เวนิส และอีกหลายแว่นแคว้น ที่เก็บภาษีเกลือเพื่อไปทำสงคราม มีการจ่ายเกลือเป็นค่าจ้างทหารและกรรมกร แม้แต่จักรวรรดิโรมันอันเกรียงไกร เมื่อ 2,000 ปีก่อน ก็จ่ายเงินเดือนให้ทหารเป็นเกลือ เพราะเกลือมีค่ามาก คำว่า Salary ที่แปลว่า เงินเดือน จึงมีรากศัพท์มาจากคำว่า Salt ที่แปลว่าเกลือ

                มีคำกล่าวว่า “เกลือเป็นของธรรมดาที่มีค่ามหาศาล” 700 กว่าปีที่แล้ว “นันทบุรีศรีนครน่าน” เข้มแข็งเป็นเมืองศูนย์กลางอาณาจักรล้านนาตะวันออกได้ ก็เพราะมีแหล่งผลิตเกลือ ทำให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า และส่งออกเกลือยังสุโขทัย เชียงใหม่ เชียงตุง เชียงทอง (หลวงพระบาง) รวมถึงสิบสองปันนา จีนตอนใต้ ฯลฯ แต่ในที่สุด นันทบุรีศรีนครน่านก็ถูกยึดครองเป็นส่วนหนึ่งของนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เหตุเพราะมีบ่อเกลืออันเป็นยอดปรารถนาของผู้คนในยุคนั้น

                คืนวันผันผ่าน หลายสิ่งอย่างสูญสลายไปกับกาลเวลา ทว่า บ่อเกลือโบราณร่วม 8 ศตวรรษ แห่งนันทบุรีศรีนครน่าน ยังไม่เคยเหือดแห้ง และกลายเป็นที่มาของชื่อ “อำเภอบ่อเกลือ” ห่างจากตัวเมืองน่านราว 80 กิโลเมตร ทั้งยังมีชื่อเสียงในด้านการทำเกลือบนภูเขา โดยมีบ่อเกลือโบราณเหลืออยู่ 2 บ่อ ตั้งอยู่ที่บ้านบ่อหลวง ริมน้ำมาง ลำน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน ทั้ง 2 บ่อกรุขอบด้วยคอกไม้กันดินปากหลุมถล่ม และมีนั่งร้านสำหรับยืนตักน้ำเกลืออยู่ข้างๆ น้ำเกลือจาก 2 บ่อนี้จะมีความเข้มข้นสูง แม้ชาวบ้านจะพยายามขุดหาบ่อเกลือเพิ่ม แต่ก็ไม่สามารถพบบ่อเกลืออีกเลย

                ตำนานการค้นพบบ่อเกลือที่บ้านบ่อหลวง เล่าสืบต่อกันมาว่า มีนายพรานคนหนึ่งเห็นสรรพสัตว์แวะเวียนมากินน้ำที่นี่เป็นประจำ เมื่อลองชิมดูถึงรู้ว่ามีรสเค็ม ข่าวนี้ล่วงรู้ถึงเจ้าหลวงภูคา และเจ้าหลวงบ่อ จึงมาดูน้ำเค็ม แล้วปีนขึ้นไปบนยอดดอยภูจั่น แข่งขันกันพุ่งสะเดา (หอก) เจ้าหลวงภูคา พุ่งหอกไปทางทิศตะวันตกของลำน้ำมาง ณ จุดที่ปัจจุบัน ชาวบ้านตั้งเป็นโรงหอทำพิธีระลึกบุญคุณเจ้าหลวงทั้งสองพระองค์ทุกปี เพราะบ่อเกลือนำมาซึ่งรายได้ พวกเขาจึงตั้งกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนคนต้มเกลือสินเธาว์บ้านบ่อหลวง” ที่ยังคงต้มเกลือด้วยวิธีดั้งเดิม

               เริ่มจากตักน้ำเกลือจากบ่อ ส่งผ่านไปตามลำไม้ไผ่สู่บ่อพัก จากนั้นจึงตักน้ำมาต้มในกระทะใบบัวราว 3 ชั่วโมง ให้น้ำเกลือระเหยแห้ง แล้วนำไม้พายมาตักเกลือใส่ตะกร้าที่แขวนไว้เหนือกระทะ เพื่อให้น้ำเกลือไหลลงมาในกระทะ ทำอย่างนี้ไปจนน้ำในกระทะแห้งหมด จึงตักน้ำเกลือจากบ่อมาใส่ลงไปใหม่ เกลือที่ได้ก็ใส่ถุงวางขายกันหน้าบ้าน แต่เกลือภูเขาจัดเป็นเกลือสินเธาว์ซึ่งไม่มีไอโอดีนเหมือนเกลือทะเล จึงต้องมีการเติมสารไอโอดีนก่อนถึงมือผู้บริโภค ทำให้แทบไม่พบเห็นชาวเหนือวันนี้ เป็นโรคคอหอยพอกเหมือนแต่เก่าก่อน

                และที่น่าชื่นชม คือชาวน่านตระหนักค่าของมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ แล้วจัดการให้กลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมล้ำค่า จน “บ่อเกลือ” ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่ทุรกันดาร กลายเป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเกลือชั้นดี และยังทำให้เกลือธรรมดาๆ กลายเป็นสินค้าของที่ระลึกอันทรงคุณค่าอีกด้วย

                สำหรับชาวบ่อเกลือ เกลือเป็นมากกว่าเครื่องปรุงรสและถนอมอาหาร จึงนอกจากบรรจุใส่ถุงใหญ่วางขายเพื่อการบริโภคแล้ว ยังใส่ถุงเล็กๆ เป็นของที่ระลึกจากบ่อเกลือ มีแผ่นกระดาษพิมพ์เกร็ดความรู้เรื่องเกลือใส่ไว้ทุกถุง ที่น่าสนใจคือ แผนกแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลบ่อเกลือ และกลุ่มแม่บ้านบ้านบ่อหลวง ยังแปรรูปเกลือเป็นเกลือสปาขัดผิว โดยใช้สมุนไพรธรรมชาติ เช่น งาดำ น้ำผึ้ง ใบเตย ดอกอัญชัน ขมิ้น มาเป็นส่วนประกอบ ช่วยให้ผิวสะอาดเนียนนุ่ม

                ที่สำคัญ ไปบ่อเกลือวันนี้ไม่ต้องห่วงเรื่องที่พัก เพราะมี “บ่อเกลือวิวรีสอร์ท” ไม่ไกลจากอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ผืนป่าที่มีต้นชมพูภูคาแห่งเดียวในโลก รีสอร์ทน่ารักแห่งนี้ อยู่บนเนินเขาที่มีลำน้ำมางไหลผ่าน รายรอบด้วยแปลงนาขั้นบันได มองเห็นวิวทิวทัศน์หุบเขาอันเป็นที่ตั้งอำเภอบ่อเกลือชัดเจน ไม่ไกลกัน ยังมีรีสอร์ทสไตล์คอตเทจตั้งอยู่ริมลำน้ำมาง แวดล้อมด้วยขุนเขาและสายหมอกบางๆ ชื่อ “อุ่นไอมาง” แค่ฟังชื่อก็อยากไปพักแล้ว

               สภาพภูมิประเทศโดยรอบบ่อเกลือเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน มีลำน้ำสำคัญคือ น้ำมาง น้ำว้า และน้ำน่านไหลผ่าน ป่าไม้ก็ยังอุดมสมบูรณ์ อากาศจึงหนาวเย็นตลอดปี การเดินทางสู่อำเภอบ่อเกลือ แม้อาจจะยากลำบากสักนิด เพราะเส้นทางเลี้ยวลดคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา แต่เมื่อไปถึงและได้สัมผัสตัวตนที่แท้ของบ่อเกลือ จะรู้สึกคุ้มค่าที่ได้ไปเยือน แม้แต่ในหน้าฝน บ่อเกลือก็สวยและมีเสน่ห์ไปอีกแบบ

               พ.ศ.2533 หรือเมื่อ 23 ปีมาแล้ว ผมบันทึกรอยเท้าและความทรงจำแรกที่บ่อเกลือ ในภารกิจยกกองถ่ายทำสารคดี “โลกสลับสี” มาถ่ายทำที่นี่ ความรู้สึกที่มีต่อบ่อเกลือ คือเป็นอำเภอทุรกันดารไกลปืนเที่ยง มาวันนี้ บ่อเกลือเปลี่ยนไปมาก แต่ยังเก็บงำอดีตล้ำเลอค่า อย่างบ่อเกลือโบราณ แล้วพัฒนาให้เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวได้อย่างดีเยี่ยม น่าชื่นชมจริงๆ ครับ

 

 

...................................................

(บ่อเกลือในฝัน...ที่เป็นจริง : คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย...ธีรภาพ โลหิตกุล)