ไลฟ์สไตล์

เส้น-สี โยงใยชีวิต : ศ.ชลูด นิ่มเสมอ

เส้น-สี โยงใยชีวิต : ศ.ชลูด นิ่มเสมอ

06 มิ.ย. 2556

ศิลปวัฒนธรรม : เส้น-สี โยงใยชีวิต : ศ.ชลูด นิ่มเสมอ

 

                    อีกคำรบที่ห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนบนชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คลาคล่ำไปด้วยคนรักงานศิลป์ที่จดจ่ออยู่กับผลงานจิตรกรรม และประติมากรรมชิ้นแล้วชิ้นเล่า ซึ่งบรรจงรังสรรค์จากฝีมือชั้นเยี่ยมของบรมครูด้านศิลปะวัย 84 กะรัต ศาตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาประติมากรรม ปี 2541 ในชื่อ "จิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์ชลูดและผลงานย้อนหลัง" นับเป็นครั้งแรกที่ศิลปินผู้ตีค่าตัวเองว่าเป็นเพียง "ศิลปินชนบท" คนหนึ่งที่ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง แล้วจัดแสดงเดี่ยวในพื้นที่ใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา

                    เริ่มตั้งแต่หน้าประตูทางเข้าจะเห็นว่ากว่า 50 ปี บนถนนสายศิลป์ของบรมครูศิลปะท่านนี้ เรียงร้อยออกมาได้อย่างน่าสนใจตามช่วงเวลาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งการจัดแสดงผลงานออกเป็น 6 ชุดด้วยกัน อย่าง ชุดจิตรกรรมฝาผนัง ผลงานชุดปัจจุบันที่สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2553-2556 เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และจินตนาการที่เกิดขึ้น สัมพันธ์ไปกับสภาวะแวดล้อมและสถานการณ์รอบตัว ผ่านรูปทรงหลักคือ "ภาพผู้หญิงและเด็ก" สัญลักษณ์แทนความรู้สึกที่สะอาดบริสุทธิ์ อ่อนโยน ปรากฏอยู่ร่วมกับรูปทรงซึ่งมีที่มาจากสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม โดยใช้เทคนิคที่เรียบง่ายอย่างการวาดเส้นด้วยหมึก และการระบายสีอะคริลิกลงบนกระดาษสา วัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติ ผลงานทั้งหมดถูกจัดวางเรียงรายต่อเนื่องกันจนเต็มฝาผนัง เป็นจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยที่มิได้บอกเล่าเรื่องราวทางพุทธศาสนา แต่กำลังบอกเล่าเรื่องราวทางศิลปะจากประสบการณ์ชีวิตของศิลปิน

                    ชุดธรรมศิลป์ ประมาณ พ.ศ. 2530-2539 ถ่ายทอดออกมาจากสภาวะจิตใจที่มีธรรมะเป็นเครื่องกล่อมเกลา ด้วยรูปแบบผลงานเรียบง่าย รูปทรงอันสงบนิ่ง และสีสันที่นุ่มนวลสะอาดตา สะท้อนความบริสุทธิ์ของจิตใจที่สงบนิ่งและปล่อยวาง ถัดมา ชุดผลงานวาดเส้น เป็นเทคนิคการสร้างสรรค์ที่ศิลปินมีความชื่นชอบเป็นพิเศษ และได้สร้างสรรค์ไว้เป็นจำนวนมาก  เนื่องจากเป็นเทคนิคที่เรียบง่าย แต่สามารถถ่ายทอดและแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี โดยผลงานดังกล่าวจัดแสดงไว้ 4 ชุดด้วยกัน คือ “บทกวี” (พ.ศ.2525-2526), “ลูกสาว” (พ.ศ.2528), “ประติมากรรมในทิวทัศน์” (พ.ศ.2550) และผลงานชุด “วาดเส้นภาวนา” (พ.ศ.2554)

                    ชุดประติมากรรมชนบท เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2525 ศิลปินนำแรงบันดาลใจมาจากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตชนบทไทย มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีความก้าวหน้าล้ำสมัย ทั้งในด้านรูปแบบและลักษณะการแสดงออก ด้วยการหยิบจับวัตถุและวัสดุจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทั้งจากธรรมชาติ และสังเคราะห์มาเป็นสื่อ ซึ่งถือว่า อ.ชลูด เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวทางการทำงานศิลปะเชิงความคิด (conceptual art) ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัยไทยก็ว่าได้ ชุดผลงานยุคแรก ระหว่างปี พ.ศ. 2498-2505 ศิลปินสะท้อนภาพวิถีชีวิตชนบทไทย ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แบบแกะลายเส้น (engraving)โดยทดลองนำเมโซไนท์ (mesonite)หรือกระดาษอัดแข็งมาใช้แทนไม้เป็นคนแรกของไทย ต่อมาได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ (wood cut) ซึ่งมีทั้งภาพพิมพ์ขาวดำและภาพพิมพ์สี เป็นต้น

                    "ผมรู้สึกตื่นเต้นมากโดยเฉพาะห้องแสดงจิตรกรรมฝาผนังถือเป็นไฮไลท์ของงาน ผิดกับในส่วนของผลงานย้อนเวลาผมว่าเป็นธรรมดาของผม แต่คนอื่นอาจสนใจก็เท่านั้น..." ศิษย์เอกของ อ.ศิลป์ พีระศรี เจ้าของเส้นสายและสีสันอันหลากหลาย บอกพร้อมกับเผยด้วยว่า จริงๆ แล้วยังมีชิ้นงานศิลปะอีกจำนวนมากที่มิได้นำมาจัดแสดงด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ทว่าเท่าที่มีให้เห็นก็รู้สึกชื่นใจที่มองไปทางไหนก็มีแต่ลูกศิษย์ลูกหาพากันมาชื่นชม

                    และความที่เป็นศิลปินพูดน้อย อ.ชลูด บอกเพียงว่า ผลงานทุกชิ้นต้องการสื่อถึง "ความเป็นศิลปะ" ไม่อาจสรรหาคำพูดสวยๆ มาอธิบาย ขณะที่ลายเส้นส่วนใหญ่ที่เห็นมักมีภาพเด็กหญิง หรือหญิงสาวเป็นองค์ประกอบหลักนั้น แค่อยากสื่อถึงผู้หญิงคือ มนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เหมือนต้นไม้ ปลา และดวงดาว

                    "ผมชอบความอ่อนหวาน นุ่มนวลของผู้หญิง เวลาวาดรูปผู้หญิงก็รู้สึกว่า จริงๆ ผู้หญิงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่พอวาดไปแล้ว รู้สึกความเป็นผู้หญิงค่อยๆ ออกมา" ศิลปิน เผยเพียงสั้นๆ

                    ทั้งนี้ อ.ชลูด ทิ้งท้ายว่า การหาโอกาสเข้ามาชมผลงานอย่างน้อยจะได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของคนคนหนึ่งที่ทำงานมาตลอดชีวิต แต่ละชิ้นลื่นไหลต่อเนื่อง เหมือนชีวิตที่เติบโตเปลี่ยนแปลง ซึ่งในนิทรรศการไม่กล้าบอกว่าชอบชิ้นไหนที่สุด เกรงว่าชิ้นอื่นๆ จะเสียใจ... ร่วมค้นหาแรงบันดาลใจไม่สิ้นสุด โดยนิทรรศการจะจัดแสดงไปจนถึง 18 สิงหาคมนี้