ไลฟ์สไตล์

'หมอประเวศ'แนะ!แก่แล้วเลิกทะเลาะ

'หมอประเวศ'แนะ!แก่แล้วเลิกทะเลาะ

28 พ.ค. 2556

'หมอประเวศ' แนะสร้างสังคมเข้มแข็ง พร้อมวอน 'รมว.สธ.-แพทย์ชนบท'เลิกทะเลาะกันหันมาหารือ ด้าน'หมอเกรียงศักดิ์' ฟุ้งม็อบ 3-4 พัน หน้าบ้าน 'นายกฯ' 6มิ.ย.นี้

               28 พ.ค.56 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพกว่า 300 องค์กร จัดเวที "สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่" เนื่องในโอกาสการดำเนินงาน สสส.ครบรอบ 12 ปี ภายในงานเวทีการแสดงทรรศนะของนักวิชาการสาธารณสุขไทยและต่างชาติ เสวนาวิชาการ 22 ห้อง ในตลาดนัดแห่งแรงบันดาลใจ รวมถึงมีผู้ร่วมงานจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนกว่า 3,000 คน

               ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวปาฐกถานำเรื่อง นวัตกรรมทางสังคมกับการพัฒนาประเทศว่า การทำงานของ สสส.ใน 12 ปีที่ผ่านมา เป็นการสร้างเครื่องมือที่เป็นต้นแบบนวัตกรรมทางสังคม ทำให้เกิดพื้นที่ทางสังคมในแต่ละพื้นที่ทางปัญญาอย่างกว้างขวาง และสามารถแก้ไขการบริหารแบบแนวดิ่งได้ ซึ่งสังคมเป็นตัวนำให้มีการเมืองที่ดี ศีลธรรมดี และเศรษฐกิจดี โดยไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมือง หากอยู่ท่ามกลางสังคมเข้มแข็ง มีความเป็นพลเมืองสูง อำนาจจะถูกตรวจสอบและทำตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องอยู่ในร่องรอย สังคมเข้มแข็งที่เป็นปัจจัยให้เกิดการเมืองดี ศีลธรรมดี และเศรษฐกิจดี

               "การปล่อยให้สังคมอ่อนแอผู้คนขาดจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมือง ตัวใครตัวมัน อำนาจต่างๆ ในสังคมจะไม่ถูกตรวจสอบ และสามารถทำตามอำเภอใจได้มาก การเมืองจึงไม่ดี ศีลธรรมไม่ดี และนำมาสู่เศรษฐกิจที่ไม่ดีตาม เมื่อปัจจัยชี้ขาดอนาคตของการพัฒนาประเทศอยู่ที่สังคมเข้มแข็ง จึงมีความสำคัญที่จะทำให้สังคมเข้มแข็งและขับเคลื่อนเรื่องที่ทำได้ยากเดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงกระบวนการบ่มคิดร่วมทำด้วยกันจะทำพาสังคมให้ดีขึ้น" ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

               ส่วนกรณีความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พีนั้น ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า เป็นคนแก่แล้ว ไม่อยากให้ทะเลาะและขัดแย้งกัน แต่อยากให้ทำงานแบบปรึกษาหารือกัน เพราะในเรื่องของสุขภาพนั้นจะต้องมองรวมไปถึง บริบทชุมชนด้วยที่ทำเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การนับผลงานปฏิบัติจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของการรักษาในโรงพยาบาล แต่จะต้องประเมินถึงชุมชนเข้ามาร่วมด้วย จึงเห็นว่าทั้งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์ชนบทเลิกทะเลาะกันแต่ให้หันหน้ามาคุยกันดีกว่า

               สำหรับการประกาศชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 มิถุนายน นั้น ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า ไม่ขอให้ความเห็นเพราะเป็นเรื่องการเมือง และที่ผ่านมาก็มีคนมองว่าเป็นหัวขบวนทั้งๆที่ไม่ได้ไปยุ่งและไม่ได้มีอิทธิพลอะไรกับเขาอย่างที่มีคนพยายามจะแต่งตั้งให้ ตอนนี้แก่แล้วอยากให้มองว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งก็เป็นเรื่องที่เป็นโอกาสในการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้เดินไปข้างหน้าร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายมาร่วมกันปรึกษาหารือน่าจะดีกว่า

               สำหรับปัญหาการเมืองแทรกองค์การเภสัชกรรมนั้น ศ.นพ.ประเวศ บอกว่า ไม่อยากให้ความเห็นในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องการเมือง แต่อยากให้มองถึงบทบาทระหว่างฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติที่ไม่ใช่เพียงการทำงานขององค์การเภสัชกรรมเท่านั้น จะต้องระวังไม่ให้เกิดการแทรกแซงโดยฝ่ายนโยบายควรจะทำงานด้านนโยบาย ไม่ใช่มองว่ามีงบประมาณตรงไหนแล้วต้องนำมาใช้อย่างไร จึงระวังไม่ให้เข้าไปล้วงลูกฝ่ายปฏิบัติ 

              ด้าน ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการประเมินผลการดำเนินงาน สสส. กล่าวในการอภิปรายเรื่อง "เรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บนฐานของการติดตามประเมินผล  1 ทศวรรษของ สสส." ว่า การทำงานของ สสส.ตลอดเวลาที่ผ่านมามีจุดประสงค์ที่จะสร้างวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีแผนการดำเนินงาน โครงการ และกิจกรรมต่างๆ ด้วยความหลากหลายทั้งพื้นที่ กลุ่มอายุ ทำให้เกิดพหุภาคี ชุมชน และองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน

              ศ.นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวว่า การทำงานของ สสส. ที่ประสบผลสำเร็จและส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนอย่างสูง อาทิ การลดลงของอัตราการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ อีกมากที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาวะสังคม เช่น ด้านการศึกษา การสื่อสารสาธารณะ และการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นต้นแบบสำหรับเครือข่ายการทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพทั้งในและนอกประเทศ ทั้งนี้ การประเมินผลการทำงานถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การประเมินผลและการพัฒนาศักยภาพจะผลักดันให้ สสส. ก้าวไปข้างหน้าด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและรับผิดชอบ

              ทั้งนี้ ภายในงานจะมีเวทีการแสดงทรรศนะของนักวิชาการสาธารณสุขทั้งไทย และต่างชาติ การเสวนาวิชาการห้องย่อยรวม22 ห้อง และตลาดนัดแห่งแรงบันดาลใจ หรือ Market Place จากภาคีเครือข่ายกว่า 300 องค์กร อาทิ ห้องเรียนความมืด เพื่อให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และเข้าใจการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตา, โรงภาพยนตร์แห่งแรงบันดาลใจ ถ่ายทอดเรื่องราวทางสังคมจากคนทุกกลุ่ม โดยพิธีกรจากรายการสารคดีข่าว อาทิ คนค้นฅน ข่าวสามมิติ วิตามินข่าว เป็นต้น และถนนแห่งนิทรรศการ รวบรวมผลงานเด่นที่ขับเคลื่อนสังคมอย่างเป็นรูปธรรมและทำได้จริงจาก สสส. และภาคีเครือข่าย

 

"หมอเกรียงศักดิ์"ฟุ้งม็อบ3-4พันหน้าบ้าน"นายกฯ"6มิ.ย.

                สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม จัดประชุมสมาชิกเพื่อกำหนดท่าทีเคลื่อนไหวปกป้ององค์การเภสัชกรรม(อภ.) คัดค้านการแปรรูป โดยมีการเสวนา เรื่อง "รุกฆาตองค์การเภสัชกรรม คือความหายนะของชาติและประชาชน" นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ในการชุมนุมวันที่ 6 มิถุนายน 2556 นี้ ที่หน้าบ้านนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ขอยืนยันว่า เป็นการชุมนุมอย่างปัญญาชน ไม่มีความรุนแรง ไม่ใช่ม็อบการเมือง แต่เป็นการเรียกร้องเพื่อระบบสาธารณสุขในภาพรวม โดยจะไม่มีการบุกบ้านนายกฯ ให้เกิดความเสียหาย เพียงต้องการให้ผู้บริหารประเทศออกมารับฟังปัญหา ที่ไม่เฉพาะเรื่องค่าตอบแทนที่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึง เรื่องภาพลักษณ์ที่เสียหายของอภ. นำไปสู่ปัญหาการเข้าถึงยาในอนาคต

                “การชุมนุมครั้งนี้เป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ครั้งแรก ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโรงพยาบาลชุมชน มีทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกรรม ทันตกรรม 2. สหภาพ อภ. 3.กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และ 4 .กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต เอดส์ มะเร็ง ธาลัสซีเมีย และโรคหัวใจ เบื้องต้นจะมาร่วมชุมนุมไม่ต่ำกว่า 3-4 พันคน และยืนยันว่าไม่ได้ชักชวนผู้ป่วยมาร่วมล้างไตนอกสถานที่ แต่เป็นการสมัครใจมา ซึ่งพวกเราก็เป็นห่วง จึงเตรียมประสานขอรถพยาบาลฉุกเฉินแล้ว แต่หากไม่มีใครช่วย ก็จะรวบรวมเงินบริจาคขอเช่ารถพยาบาลแทน ส่วนที่บอกว่าจะต้องขออนุญาตกองประกอบโรคศิลปะนั้น ไม่จำเป็นเพราะเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั่วไป ล่าสุดโรงพยาบาลชุมชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ บอกว่า จะส่งรถพยาบาลมาให้ 3 คันด้วย" นพ.เกรียงศักดิ์

                นายระวัย ภู่ผะกา ประธานสหภาพฯ กล่าวว่า ถึงนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. จะออกมาระบุว่า ไม่มีการแปรรูป อภ. แต่จากสถานการณ์ที่ผ่านมาไม่สามารถไว้วางใจได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ อภ. จนขาดความน่าเชื่อถือ หรือการเข้ามาแทรกแซงอำนาจหน้าที่ ระเบียบข้อบังคับต่างๆ อย่างกรณีเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ 75 ล้านบาทที่ อภ.ให้สถานพยาบาลที่ชำระตรงตามกรอบเวลา ขณะที่ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) อภ. ก็ไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสหภาพฯ ในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อความเสียหายแก่ อภ. ทั้งหมดย่อมทำให้องค์กรอ่อนแอ และนำไปสู่การแปรรูปในที่สุด

                "ประธานบอร์ด อภ.ควรพิจารณาตัวเองว่าสมควรอยู่ในตำแหน่งหรือไม่ หากยังดื้ออยู่ต่อก็ควรออกมาชี้แจงให้ชัดว่า จะปกป้ององค์กรอย่างไร และขอให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องฟ้องร้องผู้ที่ทำให้ อภ.เสียหายทั้งรมว.สธ. เลขานุการรมว.สธ. และสื่อทีวีบางช่อง ที่ออกมาให้ข่าวทำให้อภ.เสียหาย และขอยืนยันจะร่วมชุมนุมหน้าบ้านนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้อภ." นายระวัย กล่าว

                ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า อภ.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงยามากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ญาติผู้ป่วยมะเร็งจะรู้ดีที่สุด เพราะโดยปกติแล้วยารักษามะเร็งราคาจะอยู่ที่หลักหมื่นขึ้นไป บางเข็มมีราคาสูงถึงกว่า 50,000 บาท แต่จากการที่ อภ.ช่วยต่อรองราคายาทำให้ทุกวันนี้ยารักษามะเร็งราคาถูกลงเหลือเพียงไม่เกิน 1,200 บาท และถูกบรรจุลงเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่สิทธิการรักษาของกองทุนใดก็ตาม ทั้งประกันสังคม 30 บาทรักษาทุกโรค หรือสวัสดิการข้าราชการ ก็จะได้ใช้ยารักษามะเร็งในราคาถูก ถือว่าเป็นผลดีต่อประชาชนและผู้บริโภคทุกคน ที่สำคัญ อภ.ยังเป็นหน่วยผลิตยาด้วย ทำให้มีอำนาจในการต่อรองราคายามากขึ้น

                “อภ.ทำให้ราคายาถูกลง เป็นการขัดผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทยาข้ามชาติ จึงมีการทำให้ อภ.เสียภาพลักษณ์ จนผู้บริโภคมองว่ายาที่ผลิตได้เองในประเทศห่วย มีการปลอมปน ไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายให้ผู้บริโภคร่วมจ่ายด้วยทุกครั้งที่มารับบริการสาธารณสุข เนื่องจากมีการประกาศว่าจะไม่มีการเพิ่มค่าหัว ทำให้ต้องหาหนทางในการได้เงินเข้ามาในระบบ นั่นก็คือต้องมีการร่วมจ่าย เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักได้เป็นระบบขึ้น”น.ส.สารีกล่าว            


 "หมอมงคล"ชี้ขู่เพิกเฉยม็อบหมอกระทบรัฐบาล


               นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรมว.สธ. กล่าวว่า การแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน และชุมนุมโดยสงบเป็นเรื่องที่สามารถทำได้เป็นเรื่องปกติ เมื่อมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงของสธ. ซึ่งได้แสดงออกด้วยวิธีต่างๆแล้วไม่เป็นผลก็ต้องมีการแสดงออกต่อไปเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข จึงไม่ควรปิดกั้นความรู้สึก และหากสิ่งที่เรียกร้องไม่ได้ผลก็จำเป็นต้องยกระดับการชุมนุมต่อไป

               “ความจริงต้องหาทางคุยกันตั้งแต่ต้น ฟังความเห็นของทุกฝ่ายไม่ใช่ใช้อำนาจสั่งการ การจะพูดคุยกันตอนนี้คงเป็นสิ่งที่เลยเวลามามากไปแล้ว เพราะต่างฝ่ายต่างมีทิฐิ หน้ามืด ตามัวมืดบอด จนไม่มีปัญญาสู้กันด้วยความโง่ทั้งสองฝ่าย เหมือนกับการเดินชนฝา ชนกำแพง มีแต่จะเกิดความเสียหายขึ้น และกระทบต่อการให้บริการต่อประชาชนเพราะผู้ให้บริการต้องลางานมาประท้วง  ส่วนฝ่ายบริหารก็ล้วนแต่ไม่มีความสุขเพราะถูกจารึกไว้แล้วว่าเป็นคนบริหารในห้วงเวลาที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย แตกแยก ทางออกคิดว่า นายกรัฐมนตรี ต้องลงมาเป็นผู้ตัดสิน ไม่สามารถลอยตัวเหนือปัญหา เพราะเป็นผู้ที่ตัดสินใจให้ นพ.ประดิษฐ เข้ามาทำงาน หากไม่มีการตัดสินใจหรือกระทำการใด สุดท้ายก็จะได้รับผลกระทบจากความไม่พอใจของบุคลากรทางการแพทย์ กลายเป็นปัญหาของรัฐบาล”นพ.มงคล กล่าว