
นกกินปลีอกเหลือง
นกกินปลีอกเหลือง : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วสำหรับกิจกรรม bird walk ประจำสุดสัปดาห์แรกของเดือน ซึ่งก็คือสัปดาห์หน้านั่นเอง โดยจะมีวิทยากรจากสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) มาพาไปเดินดูนกด้วยกันที่สวนรถไฟและสวนหลวง ร.9 ทุกคนเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ สัปดาห์นี้จึงขอแนะนำหนึ่งในนกสามัญประจำบ้านที่คนไทยส่วนใหญ่ล้วนคุ้นหน้าคุ้นตา ไม่ว่าจะเคยดูนกมาก่อนหรือไม่ก็ตาม
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะมันเป็นนกที่พบได้ชุกชุมทั่วประเทศไทย และเป็นที่มาของหนึ่งในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับนกไทยที่ผู้เขียนเจอบ่อยที่สุด ผมมักได้ยินคนพูดว่า "มีนกฮัมมิ่งเบิร์ดมากินน้ำหวานดอกไม้ที่บ้าน" อ่านมาถึงตรงนี้คนที่ดูนกคงจะรู้ทันทีว่านกประจำสัปดาห์นี้เป็นนกปากยาวๆ ตัวเล็กๆ ชื่อว่า นกกินปลีอกเหลือง (Olive-backed Sunbird) นั่นเอง
ก่อนอื่นต้องเท้าความกันสักนิดว่า นกกินปลี (Sunbirds) และ Hummingbirds นั้นเป็นนกคนละกลุ่มกันโดยสิ้นเชิง แต่มีหน้าตาที่ดูเผินๆ คล้ายกัน เพราะต่างก็เป็นนกขนาดเล็กที่วิวัฒน์มาให้มีปากยาว เหมาะสำหรับการจิ้มเข้าไปในช่อดอกไม้เพื่อใช้ลิ้นเลียกินน้ำหวานเหมือนกัน ถึงกระนั้นนกกินปลีบางชนิดก็อาจมีปากค่อนข้างสั้นและหนา ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของอาหารหลัก แต่เจ้ากินปลีอกเหลืองนับว่าเป็นชนิดที่มีปากเรียวยาว ดูคล้ายพวก hummingbirds มาก
นกกินปลีอกเหลืองเป็นหนึ่งในนกกินปลีที่มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุด พบได้ตั้งแต่จีนตอนใต้ไปจนถึงออสเตรเลีย (ที่ซึ่งมีนกกินปลีเพียงชนิดเดียวอาศัยอยู่) เพศเมียไม่มีสีน้ำเงินเข้มที่คอเหมือนเพศผู้ และมีแถบคิ้วสีเหลือง แต่เพศผู้ในชุดขนหลังจับคู่ผสมพันธุ์ (eclipse plumage) มีเพียงแถบสีน้ำเงินแคบๆ ที่คอเท่านั้น ขณะเกี้ยวพาราสีจะเห็นกระจุกขนสีแดงที่บริเวณรักแร้ของเพศผู้
นกกินปลีส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในป่า มีเพียงนกกินปลีอกเหลืองและอีกไม่กี่ชนิดที่พบได้ตามบ้านคนที่ห่างไกลป่า ในแถบภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคอีสาน จะสามารถพบ นกกินปลีดำม่วง (Purple Sunbird) ที่เพศเมียมีลักษณะคล้ายกันมาก ต่างกันเพียงแค่นกกินปลีดำม่วงมีสีเหลืองที่ก้นจางกว่า ส่วนตามที่ราบลุ่มภาคกลาง และภาคใต้ก็มี นกกินปลีคอสีน้ำตาล (Brown-throated Sunbird) ซึ่งตัวใหญ่และปากสั้นกว่าด้วย
........................................................
(นกกินปลีอกเหลือง : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)