
วิวัฒนาการ'ตึกแถว'
วิวัฒนาการ'ตึกแถว' : คอลัมน์ตึกแถว + อพาร์ตเม้นท์ไม่บาน
สถาปัตยกรรมในสไตล์ “ชิโน-โปรตุกีส” (Chino-Portuguese Architecture) ประเภท “ตึกแถว” ได้ถือกำเนิดขึ้นในดินแดน “แหลมมลายู” (Malay Peninsular) ในยุคสมัยการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมของชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2054 ชาว “โปรตุเกส” ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้าบริเวณเมือง “มะละกา” ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญและได้นำศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนวิทยาการตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลาที่ชาว “โปรตุเกส” อาศัยอยู่นั้น ก็ได้สร้างอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัยไว้ ด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกตามความรู้และประสบการณ์ของตน ทำให้ผลงานสถาปัตยกรรมเหล่านั้นมี “รูปแบบ”และ “กลิ่นอาย” ของตะวันตก
ขณะเดียวกันได้ใช้ช่างชาวจีนนำแบบแปลนของบ้านเรือนนั้นไปดำเนินการก่อสร้าง แต่ด้วยความรู้และประสบการณ์ประกอบกับความเชื่อที่สืบเนื่องมาจากบริบททางสังคมของช่างชาวจีน ทำให้ผลงานการก่อสร้างอาคารถูกดัดแปลงไปจากแบบแปลนที่ชาว “โปรตุเกส” ได้วางไว้ โดยช่างชาวจีนได้ตกแต่งลวดลายสัญลักษณ์รวมถึงลักษณะรูปแบบบางส่วนของอาคารตามคติความเชื่อของจีนเกิดการผสมผสานกันระหว่าง “โปรตุเกส” และ “จีน” เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ต่อมาเมื่อชาว “ดัตช์” และชาว “อังกฤษ” ได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ ก็ได้ปรับปรุงรูปแบบของอาคารดังกล่าวเพิ่มเติมขึ้น โดยดัดแปลงและสอดแทรกรูปแบบ รวมไปถึงลวดลายประดับตกแต่งต่างๆ เพิ่มเติมลงไปในการก่อสร้างตามแบบของตน และก็เรียกลักษณะของสถาปัตยกรรมเหล่านี้ว่า “ชิโน-โปรตุกีส” ซึ่งคำว่า “ชิโน” หมายถึง “คนจีน” ส่วนคำว่า “โปรตุกีส” หมายถึง “คนโปรตุเกส” แม้ว่า “อังกฤษ” และ “ดัตช์” จะเข้ามามีอิทธิพลในการผสมผสานศิลปะของตนเข้าไปในยุคหลังด้วยก็ตาม ซึ่งการก่อสร้างบ้านเรือนในรูปแบบ “ตึกแถว” ได้แพร่หลายไปยังดินแดนต่างๆ ใน “แหลมมลายู” สามารถพบเห็นได้หลายที่ ไม่ว่าจะเป็น มะละกา, ปีนัง, สิงคโปร์ ฯลฯ รวมไปถึงหลายต่อหลายพื้นที่ในประเทศไทยของเราด้วย
หากจะว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว “สถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส” ได้เข้าสู่ “สยาม” ประเทศ โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง “อันดามัน” ในยุคสมัยของ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งเป็น สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ในช่วงปี 2444-2456 ในรัชสมัย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ในช่วงนั้นอาคารประเภท “ตึกแถว” ถือว่ามีความทันสมัยมากครับ ซึ่งก็ต้องให้เครดิตกับ “พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ” ถือว่าท่านเป็นผู้ที่พัฒนานำความเจริญในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารรูปแบบใหม่และการวางผังเมืองใหม่ ประกอบกับในช่วงนั้น “ภูเก็ต” ได้มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้ากับ “ปีนัง” อย่างเฟื่องฟู ทำให้เกิดการ “แลกเปลี่ยน+เรียนรู้” ศิลปวัฒนธรรม วิทยาการใหม่ๆ อีกด้วย
ในภาพรวมแล้ว ใน “รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” นั้น “สยาม” ประเทศได้เริ่มปรับตัวให้ ทันสมัยตามแบบตะวันตก ใน “กรุงเทพฯ” เองก็ มีการสร้างถนนขึ้นใหม่หลายสาย เพื่อขยายอาณาเขตของเมืองให้กว้างออกไป ถนนที่ตัดใหม่ในสมัยนั้น ได้แก่ ถนนเจริญกรุง, ถนนบำรุงเมือง, ถนนเฟื่องนคร ฯลฯ เมื่อเมืองขยายออกไปทางใดชุมชนก็มักจะตามไปด้วยเสมอ อาคารบ้านเรือนและร้านค้าที่สร้างขึ้นในระยะนี้มีรูปแบบ การก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก คือ เป็น “ตึกแถว” 1 หรือ 2 ชั้น ที่มีหลังคาสูงเสมอกัน การสร้าง “ตึกแถว”ที่เกิดขึ้นยุคแรกนั้น กล่าวกันว่าได้แบบมาจาก “ตึกแถว” สไตล์ “โคโลเนียล” ที่ “ปีนัง”และ “สิงคโปร์” ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารที่มีที่ดินติดริมถนนร่วมกันสร้าง “ตึกแถว” เพื่อให้บ้านเมืองดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม ดังนั้น “ตึกแถว” ในยุคแรกจึงเป็นภาพลักษณ์ของความ “ทันสมัย” เพราะทั้ง “ถนน” และ “ตึกแถว” , “ไฟฟ้า” ตลอดจน “รถราง” ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นกับเมืองไทยในช่วงนั้น
ยุคต่อมา “ตึกแถว” กลายเป็นอาคารที่ตอบรับกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการทำกิจการค้า จึงทำให้ “ตึกแถว” ได้รับความนิยม และเป็น “อสังหาริมทรัพย์” ที่คืนทุนเร็วอีกด้วย ทำให้การก่อสร้าง “ตึกแถว” ดำเนินต่อเนื่องติดต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย มีพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมทั้งรูปแบบของตัวอาคาร “ตึกแถว” ซึ่งยุคเริ่มต้นส่วนใหญ่เป็นอาคารสองชั้น บันไดไม้ พื้นไม้ โครงหลังคาไม้ วงกบและบานหน้าต่างเป็นไม้ ด้านหน้าอาคารประดับลวดลายปูนปั้น ประตูทางเข้าชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยมไม้
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง “ตึกแถว” ก็เริ่มพัฒนาขึ้นประกอบกันกับ ประเทศสามารถผลิต ‘เหล็กเส้น’ ได้เอง “ตึกแถว” จึงมีวิวัฒนาการตามความทันสมัยของเทคโนโลยีและวัสดุในการก่อสร้างสามารถสร้าง “ตึกแถว” ได้ 3 ถึง 4 ชั้นครึ่ง พัฒนาหลังคาจากมุงกระเบื้องเป็นหลังคาแบน (Flat Slab) ในลักษณะดาดฟ้าคอนกรีตเสริมเหล็ก มีระเบียงบนชั้นที่ 2 และมีประตูเปิดออกมาที่ระเบียงด้านนอกได้ ซึ่ง “ตึกแถว” ยุคนี้เกิดพร้อมโรงภาพยนตร์และศูนย์การค้า เช่น ที่ย่าน สยามสแควร์, วังบูรพา ถือได้ว่าเป็นยุค “เฟื่องฟู” ของ “ตึกแถว” อีกช่วงหนึ่งในประเทศ
ต่อมาเมื่อวงการ “อสังหาริมทรัพย์” และการก่อสร้างได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2525 เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่าง “รุ่งโรจน์ ชัชวาลย์” ที่ดินมีราคาแพงขึ้นเกิดการก่อสร้างอาคารลักษณะใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นและมีความสูงขึ้นนับสิบชั้น เช่น อาคารสำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ทำให้ “ตึกแถว” ในเมืองถึงยุคชลอตัว “ตึกแถว” จึงทยอยออกไปผุดตาม “ชานเมือง” และ “หัวเมือง” ขณะเดียวกัน “ตึกแถว” ก็พัฒนารูปแบบถึงขีดสุด คือสร้างได้ถึง 4-5 ชั้น มี “ลิฟต์” โดยสาร ก่อสร้างด้วยวัสดุทันสมัย โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหรือเหล็ก รวมทั้งใช้วัสดุทนไฟ ประตูหน้าต่างมีทั้งที่เป็นกรอบไม้-กรอบอะลูมิเนียม มีทั้งบานเปิดและบานเลื่อนและสามารถปรับประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายเพิ่มมากขึ้นและสามารถตอบโจทย์กับวิถีชีวิตสมัยใหม่ในยุคการค้าเสรี “อาเซียน” มากยิ่งขึ้นครับ
............................................
(วิวัฒนาการ'ตึกแถว' : คอลัมน์ตึกแถว + อพาร์ตเม้นท์ไม่บาน)