
ต้นขั้ว'จดหมายเหตุกรุงเสีย'
'กีรติ วรรณเลิศศิริ'ต้นขั้ว'จดหมายเหตุกรุงเสีย' : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : โดย...บุษราคัม ศิลปลาวัลย์
ผู้ชายตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ได้ทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเขา ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม นั่นคือ การ "ปลุกสำนึก" ไม่ว่าสำนึกนั้น จะเกิดกับใครทั้งหมดหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าใครจะรู้สำนึกหรือไม่ก็ตาม
เพราะคลิปวิดีโอแอนิเมชั่น "The Fall of Ayutthaya จดหมายเหตุกรุงเสีย" มันได้ทำหน้าที่ของมันแล้วเป็นอย่างดี ทั้งเป็นที่ฮือฮา และมีผู้เข้าชมไม่ขาดสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่ช่วงเดือนเมษายน มาจนกระทั่งทุกวันนี้
โดยเฉพาะช่วงบรรยายขึ้นต้นที่ว่า "พวกเราเรียนประวัติศาสตร์ไปเพื่ออะไร เรียนเพื่อจำวันเดือนปี หรือต้องมานั่งท่องชื่อของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์...จริงๆ แล้วประวัติศาสตร์มีความสำคัญอย่างมาก เพราะประวัติศาสตร์ได้ทำให้เราเรียนรู้อดีต เพื่อทำให้ปัจจุบันดียิ่งขึ้น"
และตบท้าย "...การแย่งชิงอำนาจสมัยกรุงศรีอยุธยา สู่การแย่งชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เรารู้ประวัติศาสตร์ แต่เรากำลังเดินซ้ำรอย ประวัติศาสตร์ทำให้เราเรียนรู้อดีต เพื่อทำให้ปัจจุบันดีขึ้น"
มันคือสิ่งที่อยู่ในใจคนไทยทั้งประเทศ ที่อยากยุติความขัดแย้งแตกแยกในสังคมและการเมือง อยากเห็นบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุขเสียที อยากเห็นการพัฒนาที่รุดหน้าเหมือนประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย และนานาอารยประเทศ
มันคือ คำตอบอย่างสร้างสรรค์ในตัวของมันเอง ว่าอดีตช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะปรับปรุงปัจจุบัน เพื่อที่จะไม่ต้องย่ำซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีก
ว่ากันว่าคลิปวิดีโอขนาดความยาว 7 นาที ที่ย่อเรื่องราวประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยามาได้อย่างครอบคลุมและเข้าใจง่ายที่สุดนี้ เป็นที่ฮือฮาอย่างมากของชาวโซเชียลออนไลน์ในช่วงเวลาที่ไทยกำลังให้ความสนใจเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชากรณีเขาพระวิหาร และการให้การด้วยวาจาต่อศาลโลกของทั้งสองประเทศ
แม้ว่าคลิปวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่มาตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2555 จัดทำโดย กีรติ วรรณเลิศศิริ นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ที่ได้รับเลือกให้ไปแสดงโชว์ในงานปล่อยแสงของ ทีซีดีซี เมื่อปี 2555 และมีการนำมาลงในเว็บไซต์ยูทูบอีกครั้งเพื่อให้ประชาชนได้รับชมซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ไทยกับกัมพูชาในเวลานั้นพอดี
จากนั้นชื่อ กีรติ วรรณเลิศศิริ ก็เป็นที่ติดหูติดตา ผู้เข้าชมคลิปวิดีโอ "จดหมายเหตุกรุงเสีย" ในชั่วเวลาอันรวดเร็ว ทั้งยังได้รับคำชมและบอกต่อผ่านสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง และแม้แต่สื่อกระแสหลักก็ยังต้องเกาะกระแสความดังนี้ด้วย
"กีรติ" เป็นชาวกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันประกอบอาชีพด้านกราฟฟิกดีไซน์ เขาเล่าว่าเขาเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง ใช้ชีวิตกันแบบเรียบง่าย คุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างปล่อยลูกๆ อยากทำอะไรคุณพ่อคุณแม่สนับสนุนหมด แต่ต้องไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เกินตัว และมีเหตุผลที่ดีพอ ถ้าผ่าน 3 ข้อนี้ อยากทำอะไรคุณพ่อคุณแม่ให้ทำทั้งหมด
ส่วนที่เห็นในคลิปจดหมายเหตุกรุงเสีย เป็นคลิปที่ใช้วิธีผสมผสานงานดีไซน์กับภาพเคลื่อนไหวในการบอกเล่าเรื่องราวนั้น กีรติเล่าว่า เขาเป็นคนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ โดยในช่วงประถมหลังเลิกเรียน ระหว่างรอคุณพ่อมารับกลับบ้าน หลังจากทำการบ้านเสร็จ ก็จะหยิบสมุดเปล่าขึ้นมาวาดรูปเล่น วาดไปเรื่อย แต่ก็ยังไม่รู้ตัวว่าชอบ จนกระทั่ง มาเอาจริงเอาจังเรื่องศิลปะ ตอน ม.5 โดยตอนนั้นไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกา
"ช่วงที่ไปแรกๆ ไม่ค่อยมีเพื่อนครับ เลยวาดรูปให้เพื่อนคนหนึ่ง แล้วทุกคนก็ไปบอกต่อกัน สุดท้ายก็มีคนมาขอให้วาดรูปให้ทั้งห้อง หลังจากวันนั้นก็รู้ตัวว่า ฝีมือก็พอใช้ได้ น่าจะเอาดีทางด้านนี้" กีรติ เล่าพลางหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
ด้วยใจที่รักในด้านนี้ วันว่างๆ ส่วนใหญ่ จึงชอบเข้าร้านหนังสือออกแบบ โดยส่วนตัวเป็นคนชอบหนังสือ ชอบการออกแบบของหนังสือต่างๆ ชอบไปดูว่าเขาจัดหน้ากระดาษยังไง เข้ารูปเล่มยังไง
ส่วนหนังที่ชอบส่วนใหญ่ก็จะออกแนวดราม่า และตลกร้าย เช่น Little Miss Sunshine, Ma vie en rose, The Queen, เรื่องตลก 69, Memories of Matsuko รวมถึงเพลง ก็ชอบฟังหลายแนวมาก ที่จริงแล้วแต่ความรู้สึกของวันนั้นเลยก็ว่าได้ ว่าอยากฟังอะไร แต่เพลงที่จะเก็บไว้ในมือถือจะมี The Beatles, Noah and the whale, M83
เกี่ยวกับประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในสังคม โดยเฉพาะเรื่องแบนภาพยนตร์ หรือการห้ามฉาย กีรติ เห็นว่า โดยหลักการเห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งภาพยนตร์เพราะมันคือการจัดระเบียบผู้ชมให้เหมาะสมกับเนื้อหานั้นๆ แต่ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายเพราะเหตุผลที่ห้ามฉายเราก็ไม่รู้ชัดเจนว่าทำไมจึงห้าม มันขัดต่อผลประโยชน์ของใคร มันตีแผ่ความจริงที่คนแค่กลุ่มหนึ่งรับไม่ได้หรือเปล่า พวกเราไม่มีทางรู้ เพราะพวกเราไม่มีสิทธิได้ดูไปแล้ว จะมีเรตเพิ่มอายุอีกหรือคนที่ดูต้องมีวุฒิการศึกษาที่เพียงพอก็แล้วแต่จะพิจารณากัน แต่ส่วนตัวเห็นว่าการห้ามฉายไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
แม้ภายนอกของกีรติจะดูเป็นเด็กเรียบร้อย ไม่มีวี่แววของเด็กดื้อให้เห็นก็ตาม แต่เขาบอกว่า ที่จริงแล้วเขาดื้อมาตั้งแต่เด็กจนโต ทุกวันนี้ก็ยังแอบดื้ออยู่ แต่ดื้อสุดๆ คงเป็นมัธยมต้น วีรกรรมสมัยเด็กๆ คือ ชอบแกล้งครู เช่น วันนี้ไม่อยากเรียนคณิตศาสตร์ ก็จะชวนเพื่อนๆ จัดห้องใหม่ เอาแว็กซ์ขัดพื้นมาขัดห้อง เอาน้ำมาเช็ดกระดาน พออาจารย์เข้ามา ก็ไม่ได้สอน เลยโดนดุทั้งคาบ สุดท้ายก็ไม่ได้เรียนจริงๆ กีรติ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นเซเลบไปแล้วเล่าไปหัวเราะไป
แล้วช่วงสำคัญของชีวิตและรอยต่อความสำเร็จในทุกวันนี้ ก็เริ่มต้นฉายแววขณะเรียนมหาวิทยาลัย เขาเล่าว่า เป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุด เพราะได้ทำกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงมีโอกาสได้ทำละครเวทีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชื่อ เรื่อง "ยู่หลง ใจสู้ฟัดหมัดธรรมดา" ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก ด้วยความที่เป็นนักศึกษา แต่ต้องทำงานจริง ให้คนดูจริงๆ ซื้อบัตรเข้ามาดู ทุกคนเลยต้องเต็มที่มากๆ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน บางทีแค่มองสีหน้ากันก็รู้แล้วว่า คิดอะไรกันอยู่
มาถึงทุกวันนี้ หลังจากเป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้าง เมื่อคลิป "จดหมายเหตุกรุงเสีย The Fall of Ayutthaya" เป็นที่นิยมในโซเชียลมีเดีย ทำให้มีคนอยากรู้จักเรามากขึ้น เพื่อนๆ ก็มาแซวกันเยอะว่า เป็นคนดังไปแล้ว ซึ่งหลังจากออกสื่อต่างๆ ทำให้คนจำหน้าได้มากขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง คือ ต้องฝึกคิดเยอะๆ ก่อนพูด ก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไป เพราะมีคนมองดูเราอยู่ตลอด
นอกจากนี้ แม้ว่าคลิปของกีรติ จะได้รับความชื่นชมอย่างมากในสังคมโซเชียลมีเดีย แต่ก็ยังมีอีกหลายคลิป(ของคนอื่น) ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ ซึ่งเขามองว่า วิดีโอคลิปในสังคมโซเชียลมีเดีย การชม กับด่า เป็นเรื่องปกติในสังคม มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่คนที่ชมก็ไม่ควรอวยซะเกินหน้าเกินตา ส่วนคนที่ด่าก็อยากให้ด่าอย่างสร้างสรรค์ ว่าควรแก้ไขอย่างไรด้วย ไม่ใช่เข้ามาด่าอย่างเดียว ผู้ผลิตก็ไม่รู้ว่าที่ด่ามีจุดประสงค์อะไร ง่ายๆ ครับ "ติเพื่อก่อ อย่าติเพราะแค่เกลียด"
ที่น่าสนใจ และไม่ชวนคุยไม่ได้ เพราะผลงานที่ออกมามันสะท้อนอุดมคติและแนวคิดทางการเมืองอยู่ไม่น้อย ก็คือเรื่องการเมืองที่หลายคนอยากฟัง เพราะท่ามกลางปัญหาการเมืองที่กำลังขัดแย้งแตกแยกเป็นฝักฝ่าย ดูเหมือนวัยรุ่น คนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยแสดงออกเท่าที่ควร แถมยังถูกมองว่า หันไปคลั่งไคล้หลงใหลอยู่กับอินเทอร์เน็ตชนิดไม่ลืมหูลืมตา
กีรติ เห็นว่า "วัยรุ่นในยุคโซเชียลมีเดียเฟื่องฟู ทุกคนสนใจการเมือง แต่พวกเราไม่อยากแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งมากกว่า เพราะเมื่อวิจารณ์ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง จะถูกหาว่าอยู่อีกฝั่งหนึ่งทันที ทั้งๆ ที่จริงแล้ว อาจจะไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายไหนเลยก็ตาม ผมเชื่อว่าวัยรุ่นไทยทุกคนมีความคิดนะครับ เพื่อนผมบางคนก็คุยเรื่องปัญหาบ้านเมืองกันตั้งแต่มัธยมแล้ว ทุกคนรู้ครับว่า เราพอจะรู้บ้างปัญหามันคืออะไร แต่ผมขอพูดแทนวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ว่า บางทีผู้ใหญ่มองเราเหมือนว่าพวกเราดูจะไร้สาระสนุกไปวันๆ แต่ผมก็เชื่อในเด็กยุคใหม่ครับว่า เราได้บทเรียนจากผู้ใหญ่มาพอสมควร และทุกคนก็มีความคิดว่า อยากเปลี่ยนให้มันดีขึ้น แค่ยังหาวิธีนั้นไม่เจอ เพราะยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอเท่านั้นเอง"
ยิ่งกว่านั้น ในความคิดของ กีรติ ก็เชื่อว่า ใช่ว่าวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ จะไร้สาระไปเสียหมด "ผมเชื่อว่าเมื่อทุกคนมีโอกาส ทุกคนก็จะทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคมเท่าที่ทำได้ เพื่อนผมบางคนก็ปั่นจักรยานไปเรียนไปทำงาน บางคนเขียนภาพประกอบมองโลกในแง่บวกสอนใจผู้คน บางคนไปพากย์นิทานให้เด็กพิการทางสายตา ร่วมกันบริจาคของให้เด็กพิการซ้ำซ้อน หรืออย่างช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมาผมเห็นเครือข่ายของคนรุ่นใหม่ช่วยกันอย่างเต็มที่ครับ"
ใครที่เคยคิดว่า คนรุ่นใหม่ไม่สนใจ ใส่ใจปัญหาสังคม และการเมือง วันนี้อาจต้องคิดใหม่ โดยเฉพาะ "กีรติ" เมื่อได้พูดคุยอย่างใกล้ชิดแล้ว รู้เลยว่า "ไอเดีย" ไม่ธรรมดาจริงๆ !!
..........................................................
('กีรติ วรรณเลิศศิริ'ต้นขั้ว'จดหมายเหตุกรุงเสีย' : คอลัมน์คุยนอกกรอบ : โดย...บุษราคัม ศิลปลาวัลย์)