ไลฟ์สไตล์

คนอ่านหนังสือเล็กๆในเมืองหนังสือโลก

คนอ่านหนังสือเล็กๆในเมืองหนังสือโลก

28 เม.ย. 2556

หนังสือที่เธอถือมา : คนอ่านหนังสือเล็กๆ ในเมืองหนังสือโลก : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม

 

๑.

 

มีผู้ประชดประชัน ‘เมืองหนังสือโลก’ อาจพัฒนาเป็น ‘เมืองหนังสือจักรวาล’ ให้ขำๆ

                          ผมไม่รู้ที่มาที่ไปของ ‘เมืองหนังสือโลก’ หรือที่บอกว่า ‘อ่านกันสนั่นเมือง’ เท่าไรนัก รู้แต่ว่าชื่อเสียงเรียงนามมันใหญ่โตเหลือเกิน ใหญ่โตจนน่ากลัวและรู้สึกตัวเองลีบเล็กลงโดยพลัน

                          วันก่อนมีจดหมายจาก สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว  ทั้งเจ้าหน้าที่จัดงานต่อสายมาเชิญไปร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ ‘๓๕ ปี รางวัลซีไรต์’ พอดีผมติดไปเที่ยวทะเลกับครอบครัว จึงตอบปฏิเสธไป กระนั้นก็เถอะ ถึงว่างก็ไม่อยากไป เพราะรู้สึกแปลกๆ อะไรสักอย่างเป็นการส่วนตัว ขณะเดียวกันมีเพื่อนนักเขียนซีไรต์บางคนแอบกระซิบถาม จะไปไหม? ควรไปไหม? ผมว่าใครไปก็ไป  แต่ผมไม่ไปแน่ๆ

                          โลกมันเร็วในหลายช่องทางอย่างแปลกประหลาด นั่งอยู่ชายทะเลยังไม่เห็นหน้าหนังสือกระดาษสักฉบับ ผมก็ได้เปิดอ่านข่าวความเคลื่อนไหวสดๆ แล้วทางเฟซบุ๊ก คนที่ไปเขาโพสต์ไว้ทั้งภาพถ่ายและความคิดเห็นอันชวนคิดชวนตาม ได้รับรู้ว่าภายใต้ป้ายใหญ่โต ‘๓๕ ปี รางวัลซีไรต์’ ที่ว่าใช้งบประมาณมากมายนั้น ก็มีปัญหาที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เกิดขึ้นอย่างคาดไม่ถึง (นึกว่างานเลี้ยงรุ่น ๓๕ ปีเสียอีก)

                          ไม่อยากตอกย้ำอะไรครับเพราะผมไม่ได้ไปเห็นจริง แต่เท่าที่แอบฟังจากผู้ที่เขาไป เขาก็เล่าปัญหาเป็นฉากๆ ฟังแล้วก็สลดใจกับภาพลึกๆ ในภาพที่ดูเหมือนใหญ่โตสวยงามนั้น

                          แม้เป็น ๑ ใน ๓๕ ปีรางวัลซีไรต์ ผมก็ไม่ได้ไปยึดติดอะไรตรงนั้น ถ้าแบบมีกิจธุระให้ทำบ้างก็อาจไป แต่ให้ไปเดินดูเฉยๆ ก็เก้อๆ เขินๆ น่ะ ยิ่งเป็นงานใหญ่ๆ โตๆ ยิ่งเป็นงานแบบราชการ ยิ่งเป็นงานที่มีแขกผู้ใหญ่หรือแขกต่างชาติจำนวนมากยิ่งไม่อยากไป  เพราะกลัวตัวเองจะลีบเล็กและจมหายไปเฉยๆ เพราะหลายครั้งที่ผมไปงานแบบราชการ คนจัดงานไม่ค่อยอ่านหนังสือ แทบไม่รู้จักว่าใครเป็นใครเลยก็มี

                          เขาก็ให้เกียรตินำภาพและข้อมูลไปแสดงตามลำดับแหละครับ ไม่ได้ไปดูแต่ก็มีผู้ไปดูถ่ายภาพมาให้ดูทางเฟซบุ๊ก พอได้เห็นแหละครับ ข้อมูลถูกบ้างผิดบ้าง ทั้งนี้คงเป็นเพราะเขาพึ่งพากูเกิ้ลนั่นเอง ยังเอะใจว่างานใหญ่ระดับนี้ไม่เห็นมีใครติดต่อมาขอข้อมูลที่ ‘อัพเดทกว่ากูเกิ้ล’

                          “โชคดีที่ไม่ไป ตัดสินใจถูกแล้ว”  ผมบอกกับตัวเอง

 

๒.

 

‘คั่นเจ้าสิอ่านหนังสือ อย่าท่าอ่านแต่หนังสือที่ได้รางวัลซีไรต์ เด้อหล่า’

                          เทวดาประจำหนังสือ กล่าวให้โอวาทแก่เด็กชาวอีสานในงาน ‘ป่าหนังสือโลก’

                          คลับคล้ายฝันไปแหละครับ ผมฝันถึงห้องสมุดโรงเรียนเล็กโรงเรียนน้อยในกรุงเทพมหานคร หรือห้องสมุดโรงเรียนในทุกภูมิภาค  โดยเฉพาะที่ห่างไกลจากความเจริญ มีหนังสือดีมีคุณค่าให้เด็กอ่าน มีครูผู้รักการอ่าน มีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเขียน ที่สำคัญคือมีงบประมาณที่กระจุกอยู่กับส่วนใดส่วนหนึ่งในการจัดแสดงหรือในงานเลี้ยงตามรูปแบบ ให้กระจายไปสู่เนื้อหาด้านการอ่านของผู้คน

 

๓.

 

อยู่ต่างจังหวัดมาหลายปี ไม่ค่อยได้เข้ากรุงเทพฯ แม้แต่งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ 

                          แต่ผมได้อยู่กับพื้นที่จริงของการรณรงค์เขียนอ่านพอสมควรโดยเฉพาะในโรงเรียน ปัญหาก็คือมักขาดครูผู้รักการอ่าน หรือห้องสมุดขาดแคลนหนังสือที่น่าอ่าน ที่สำคัญคือขาดงบประมาณจัดหาหนังสือดีๆ ถึงพอมีอยู่บ้างก็มักจะต้องรอแต่หนังสือที่ได้รางวัล 

                          เด็กๆ น่ะ ไม่รักการอ่านอยู่แล้ว เป็นวิสัยทั่วไปในยุควิทยุ โทรทัศน์ แทบเล็ต เฟซบุ๊ก เอาชื่อ ‘นักเขียนซีไรต์’ หรือ ‘กวีซีไรต์’ ระดับมีชื่อเสียงที่สุดไปถาม พวกเขายังแทบไม่รู้จักเลย     

                          กลัวนะกลัวคำว่า ‘เมืองหนังสือโลก’ กลัวคำว่า ‘อ่านกันสนั่นเมือง’ กลัวจะเป็นแบบ ‘เข็นครกขึ้นภูเขา’ หรือ ‘ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ’ กลัวจะใหญ่แต่ชื่อ กลัวใหญ่แต่งบประมาณ กลัวจะใหญ่แต่การประชาสัมพันธ์ กลัวจะใหญ่แต่ภาพการท่องเที่ยว

แต่เนื้อหาหรือความเป็นไปได้อาจเล็กนิดเดียว!

 

 

--------------------

(หนังสือที่เธอถือมา : คนอ่านหนังสือเล็กๆ ในเมืองหนังสือโลก : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม)