ไลฟ์สไตล์

ธรรม...พระอนุรักษ์ธรรมชาติ

05 มิ.ย. 2552

ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุทุกรูปจะเป็น พระป่า พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกำชับให้ภิกษุสาวกของพระองค์ให้ออกไปสู่โคนไม้ คูหาหรือเรือนร้าง เพื่อปฏิบัติสมาธิภาวนา

 ขณะเดียวกัน พุทธองค์ได้ทรงจาริกไปสั่งสอนเวไนยสัตว์ และเสด็จประทับอยู่ในป่า เมื่อมีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาสร้างวัดถวาย ก็จะสร้างวัดในป่า เช่น เชตวัน เวฬุวัน อัมพวัน ลัฏฐิวัน ชีวกัมพวัน มัททกุจฉิมฤคทายวัน อันธวัน และนันทวัน เป็นต้น

 พระพุทธองค์จะประทับอยู่ในวัดดังกล่าวตอนช่วงพรรษา ปีหนึ่งไม่เกินสี่เดือน นอกจากนั้น จะเสด็จจาริกนอนตามโคนไม้ตามป่า

 ปัจจุบันสมัย พระสงฆ์ถือเป็นศาสนบุคคลที่มีบทบาทและแนบแน่นในสังคมไทย บทบาทหนึ่งที่ถือว่า มีความสำคัญไม่น้อยกว่า การเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณสั่งสอนศีลธรรมและจริยธรรม นั่นคือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมิได้ขัดต่อปรัชญาหลักธรรมคำสอน และข้อปฏิบัติทางพุทธศาสนา หากกลับเกื้อกูลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตลอดจนส่งเสริมวัตรปฏิบัติ และการพัฒนาจิตวิญญาณ

 พระสงฆ์จึงเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน มีส่วนช่วยสนับสนุนชุมชน และรัฐ ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
 เนื่องในวัน  วันแห่งการร่วมมือระหว่างชาติของทั่วโลกเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม  หรือ วันสิ่งแวดล้อมโลก (๕ มิถุนายน) "คม ชัด ลึก" ได้รวบรวม หลากหลายเหตุผลของพระสงฆ์ที่มาจับงานด้านการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

 เช่น  พระอธิการเอนก ยสทินฺโน เจ้าอาวาสวัดป่าไทรงาม บ้านไทรงาม ถนนเดชอุดม-ทุ่งศรีอุดม ต.เมืองเดช อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี ได้รับฉายาว่า "พระผู้พลิกฟื้นผืนดินสู่ผืนป่า" บอกว่า

 คนเรานั้น มีความผูกพันกับต้นไม้และป่าไม้ตั้งแต่เกิดจนตาย เราได้รับประโยชน์จากต้นไม้มากมาย เช่น แรกเกิดแม่ก็นอนที่แคร่ไม้ไผ่ ใช้ถ่านอยู่ไฟ เราเจริญเติบโตมาก็เพราะกินอาหาร อาหารนั้นส่วนใหญ่ก็มาจากพืชผักทั้งนั้น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มทั้งหลายที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น ก็มาจากใยของพืช บ้านที่อาศัยจะหลังเล็กหลังใหญ่ก็มาจากต้นไม้เช่นกัน อาหารทุกรสทุกประเภท ก็ได้มาจากพืชและต้นไม้เป็นส่วนมาก

 ยามเราจะหลับนอน หัวของเราก็หนุนหมอน ร่างกายก็ต้องใช้ผ้าห่ม ชีวิตของเราทุกคนนั้น ทั้งยามหลับและยามตื่น ก็อาศัยพืชต้นไม้ตลอดเวลา

 ยามเราเจ็บป่วย เราก็อาศัยยารักษาโรค ซึ่งก็ได้มาจากกลุ่มสมุนไพรเป็นส่วนมาก แม้ที่สุดของชีวิต ในยามเราตายไปก็ต้องอาศัยฟืนถ่านเผาซากศพของเรา

 ตลอดชีวิตมนุษย์ เริ่มตั้งแต่เกิดจนถึงวันที่เราละโลกไป เราทุกๆ คนก็ได้อาศัยต้นไม้ และพืชผักต่างๆ หล่อเลี้ยงชีวิตมาด้วยกันทั้งนั้น

 หลวงพ่อประจักษ์ ธัมมปทีโป วัดเชรษฐพลภูลังกา ต.ดงบัง อ.บึงโขงหลง จ.หนองคาย ได้รับฉายาว่า “วีรบุรุษแห่งป่าดงใหญ่” บอกว่า

 "ธรรมกับธรรมชาติเป็นอันเดียวกัน กฎศาสนาออกมาจากกฎธรรมชาติ แต่กฎหมายบ้านเมืองออกมาจากกิเลสของคน เอากิเลสเป็นตัวกำหนด โลกมันเลยไหลไปไหลมาอยู่อย่างนี้ ทุกวันนี้อยู่อย่างโลกลืมได้ แต่ไม่เคยคิดที่จะลืมทำอะไรเพื่อโลก การที่จะบอกให้ใครทำตามเรานั้น เราต้องทำให้เป็นตัวอย่างก่อน อย่างกับคำพูดที่ว่า ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอนนั่นแหละ เมื่อคนเห็นประโยชน์ คนก็ทำตามเอง ไม่ต้องไปเกณฑ์ ไม่ต้องไปจ้าง การทำงานด้วยใจ การทำงานด้วยความมุ่งมั่น ย่อมสำเร็จด้วยดี พระแต่ละรูปต่างมีความถนัด และความชอบแตกต่างกันไป วัดทุกวัดที่สร้าง ต้นไม้ทุกต้นที่ปลูก ไม่ได้ปลูกเพื่อตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้ว ตายไปก็นำติดตัวไปไม่ได้สักอย่าง"

 ในขณะที่ พระครูประโชตธรรมาภิรม หรือ  หลวงตาสาย เจ้าอาวาสวัดวังศิลาธรรมาราม อ.แกลง จ.ระยอง เจ้าของฉายา “ภิกษุผู้คืนชีวิตให้ผืนป่า” บอกถึงแนวคิดในการสร้างป่าว่า

 ชีวิตกับธรรมชาติ และธรรมะ เป็นเรื่องเดียวกัน แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังใช้ป่าเป็นที่ตรัสรู้ แสดงธรรม และปรินิพพาน เราจึงควรสืบทอดปณิธานของพระพุทธเจ้า บรมครูของชาวโลก โดยการร่วมกันอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าให้คงอยู่คู่โลกต่อไป แล้วก็มาเปลี่ยนทัศนความคิดของคนทำบุญอีกแบบหนึ่งว่า เราสร้างศาสนวัตถุเสียจนเต็ม ไม่ค่อยมีใครอาศัย ไม่มีคนดูแล ทีนี้ถ้าเราสร้างป่า อย่างน้อยๆ ก็มีสิงสาราสัตว์ หรือพวกแมลงอาศัย ก็เลยคิดมาทำป่า

 พระศราวุธ เตชะธรรมโม วัดป่าช่องกุ่ม หมู่ ๕ บ้านช่องกุ่ม ต.ช่องกุ่ม อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ได้ทุ่มเทเวลาในการอนุรักษ์ผืนป่า แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่กลับมีพลังในการสร้างจิตสำนึกให้ชุมชน พลิกป่าหญ้าที่ไร้ค่าให้กลับมาเป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร แหล่งน้ำ และสร้างห้องเรียนธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ให้ชุมชน จนได้รับฉายา “ประทีปธรรมแห่งบ้านช่องกุ่มธีระ วัชรปราณี” บอกว่า "ป่าเป็นหัวใจของความสงบสุขของโลก เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ไม่มีสิ่งใดที่เราไม่ได้จากป่า ไม่ว่าจะเป็นอากาศและน้ำ เมื่อเข้ามาวัดก็ได้อาศัยร่มเงา ความสงบร่มเย็น มีความรู้สึกสบาย และเข้ามาหาพระ พระก็มีความสงบอยู่ก่อน พระจะเป็นพระที่สงบได้ ก็ต้องฝึกฝนในสถานที่ที่สงบด้วย ก็คือต้องมีป่า ป่าทำให้พระสงบ เมื่อพระสงบ พระก็เป็นที่พึ่งที่ปรึกษาให้โยมที่มีความทุกข์ได้ หากเราไม่มีสถานที่สัปปายะ ทั้งพระและโยมต่างก็อยู่ในสถานที่ที่รุ่มร้อน ต่างก็เป็นผู้รุ่มร้อนทั้งคู่ มันก็ไม่สามารถช่วยคลี่คลายปัญหาได้ ความทุกข์ในโลกก็แก้ไม่ได้ ความสามารถในการช่วยแก้ปัญหาสังคมก็ไม่มี"

 ด้าน พระอธิการพรหมมา เจ้าอาวาสวัดเขาฉลาด ต.เทพนิมิต อ.เขาสมิง จ.ตราด เจ้าของฉายา “พระผู้สร้างป่า เป็นตำราแห่งความพอเพียง” บอกว่า

 การสร้างความเข้าใจให้เกิดแก่ผู้ที่ไม่รู้ ย่อมต้องใช้เวลา และความตั้งใจจริง การปลูกป่าก็เช่นกัน ต้องใช้เวลาและความตั้งใจจริง เมื่อรวมเข้ากับความเข้าใจแล้ว ผืนป่าที่ปลูก จึงมีนัยมากกว่าการสร้างพื้นที่สีเขียว นอกเหนือจากการปฏิบัติกิจของสงฆ์ประจำวันแล้ว ก็ปลูกทุกวัน ค่อยๆ ปลูกไปเรื่อยๆ พอมีเวลาว่างก็จะเข้าไปเดินในป่าแล้ว บางทีก็ไปถางหญ้า เดินผ่านไปก็เก็บเมล็ดที่มันร่วงหล่น บางอันก็ขุดหลุมปลูกได้เลย บางอันก็เก็บเอามาเพาะก่อน โตสักหน่อยแล้วค่อยเอาไปปลูก

 "อารามโรปา วะนะโรปา เย ชะนา เสตุการะกา ปะปัญจะ อุทะปาณัญจะ เย ทะทันติ อุปัสสะยัง เดสัง ทิวา รัตโต จะ สะทา ปุญญัง ปวัฑฒะติธัมมัฏฐา สีละสัมปันนนา เต ชะนา สัคคคามิโน"

 พระคาถานี้ หมายความว่า "คนที่ปลูกต้นไม้ สร้างป่า รักษาป่า ย่อมมีความสุขขณะที่มีชีวิตอยู่  ตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์"

 แนวคิดตามความในพระคาถานี้ ซึมซับในจิตวิญญาณและตกผลึกเป็นอุดมการณ์ของ ท่านพระครูถาวรพัฒนกิจ เจ้าอาวาสวัดนวการาม บ้านโคกใหญ่ ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ในการที่จะพลิกฟื้นผืนป่าเพื่อเติมพื้นที่สีเขียว แทนดินแห้งแล้งที่กำลังขยายตัวกว้างออกไปเรื่อยๆ ปัจจุบันพระครูถาวรพัฒนกิจ ปลูกยางนาด้วยมือของท่านเองไปแล้ว ๖ หมื่นต้น บนเนื้อที่ ๑๐๐ ไร่

เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"