ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนรุ่นใหม่ในเจเนอเรชั่น วาย หรือกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2523-2543 หรือที่มีอายุระหว่าง 9-29 ปี เป็นกลุ่มคนที่โตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์-อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีไอที ทำความรู้จักกับอุปกรณ์ไอที ทั้ง คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน รวมทั้งเกมคอนโซลได้ง่ายและเร็วกว่าคนรุ่นพ่อแม่ที่อยู่ในเจเนอเรชั่น เอ็กซ์
คนกลุ่มเจเนอเรชั่น วาย จะมีลักษณะเฉพาะตัว คือ เป็นผู้ที่กล้าแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเอง (มาก) ชอบแหวกกรอบหรือม่านประเพณีต่างๆ และชอบความชัดเจนในส่วนของการทำงานว่าเป็นผลบวก หรือลบ ต่อตนเอง และที่ทำงานอย่างไร
นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการทำงานที่ใช้อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร และทำการสื่อสารได้ดี และมีความสามารถในการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน
ด้วยความที่พวกเขาเหล่านี้เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวไกล เรียกว่าเกิดมาก็หยิบจับโทรศัพท์มือถือมากดเล่น และใช้เวลาเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากกว่าการออกไปเล่นนอกบ้าน ทำให้เทคโนโลยีชนิดต่างๆ ซึมซับเข้าไปในกระแสเลือดของคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี
ผลการศึกษาของบริษัท ซิสโก้ ผู้ผลิตโซลูชั่นด้านการสื่อสารชั้นนำของโลก ในโครงการ "Connected World" ระบุว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของคนรุ่นเจเนอเรชั่น วาย ทั่วโลกที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า พวกเขาเช็กสมาร์ทโฟนเพื่อดูข่าวคราวอัพเดตในอีเมล ข้อความ และโซเชียลมีเดีย ก่อนที่จะลุกจากเตียง ขณะที่สภาพการณ์ในประเทศไทยก็ไม่แตกต่างไปจากคนรุ่นเจเนอเรชั่น วายทั่วโลก ที่ 98% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าเสพติดสมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ต อย่างหนัก
ยิ่งไปกว่านั้น 2 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าตนเองรู้สึกกระวนกระวาย เหมือนกับขาดอะไรในชีวิตไป ถ้าไม่มีสมาร์ทโฟนที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา
ข้อมูลสำคัญจากรายงานของซิสโก้ยังระบุด้วยว่า ตั้งแต่เช้าเมื่อตื่นขึ้นมา คนเจเนอเรชั่น วายจะทำกิจวัตรประจำวันตั้งแต่ แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ และเพิ่มกิจวัตรอีกประการหนึ่งคือ "ส่งข้อความ" บางคนอาจจะตื่นขึ้นมาและคว้าสมาร์ทโฟนขึ้นมาก่อนเพื่อเช็กข้อความและส่งข้อความไปทักทายเพื่อนๆ ในสื่อโซเชียลมีเดีย
แนวคิดของคนรุ่นนี้แตกต่างไปจากคนรุ่นอื่นๆ ที่มีการใช้ชีวิตที่ "ช้า" กว่ากัน และพวกเขาเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างคล่องแคล่วและเชื่อมต่อกับโลกการสื่อสารอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นกิจกรรมที่มีควาหมายสำคัญต่อชีวิต เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัว มีความรู้ข่าวสารกว้างขวาง และ "เหนือ" กว่าคนรุ่นก่อนในส่วนของความฉับไวในการติดต่อสื่อสาร
วิถีชีวิตเช่นนี้ของคนรุ่นเจเนอเรชั่น วาย ยังเป็นแรงขับเคลื่อนของการปฏิวัติแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน เพราะประชากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มหลักที่ใช้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนอย่างเป็นจริงเป็นจังและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน ทั้งยังเป็นคนในวัยทำงาน ที่ต้องการใช้แอพพลิเคชั่นในการสื่อสาร ความบันเทิงเช่น เกม และดูภาพยนตร์ เพื่อการพักผ่อน นอกจากนั้นอีกประมาณ 1 ใน 4 ยอมรับว่าใช้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเพื่อการทำงาน
นั่นหมายความว่าคนเจเนอเรชั่น วาย นั้นใช้แอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย และเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ และมีความต้องการซื้อแอพพลิเคชั่นเพื่อมาใช้งานตอบสนองความต้องการในการสื่อสาร พักผ่อน และทำงาน ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นจะอ้างอิงความต้องการของคนกลุ่มนี้ในการสร้างแอพพลิเคชั่นหนึ่งๆ ขึ้นมา
นอกจากนั้นคนกลุ่มนี้ยังจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่ต้องปรับตัวเข้ากับกระแสความนิยมของคนรุ่นเจเนอเรชั่น วาย ที่นิยมใช้สมาร์ทโฟนซื้อสินค้า มากกว่าหน้าจอใหญ่ๆ ของคอมพิวเตอร์ คนกลุ่มนี้ยังเป็นผู้ใช้ทรัพยากรการเก็บสำรองข้อมูลระดับโลกมากที่สุด เพราะเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ หรือเนื้อหาเข้าสู่โลกออนไลน์มากที่สุด ทั้งรูปถ่าย วิดีโอ ข้อความที่ส่งเข้าสู่สื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ รวมทั้งสื่อโซเชียลมีเดียประเภทอื่น
แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ การใช้ชีวิตของคนเจเนอเรชั่น วาย นั้นจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคมโดยรวม จากความแตกต่างกันในการใช้ชีวิตของคนต่างรุ่น และการใช้สมาร์ทโฟนเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายทำให้คนรุ่นเจเนอเรชั่น วาย อาจจะฝังตัวอยู่ในโลกออนไลน์ มากกว่าสังคมที่แท้จริง ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างคนแต่ละรุ่นขึ้นมาได้
หวังว่าข้อมูลที่นำมาเสนอจะเป็นประโยชน์ต่อคนทุกรุ่นในสังคม ให้สามารถปรับตัวเข้าหากันได้มากขึ้น ด้วยความเข้าใจระหว่างกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง