ไลฟ์สไตล์

สร้างมูลค่าเพิ่ม'กระติบข้าว'ปรับโฉมใหม่

สร้างมูลค่าเพิ่ม'กระติบข้าว'ปรับโฉมใหม่

17 เม.ย. 2556

สร้างมูลค่าเพิ่ม'กระติบข้าว'ปรับโฉมใหม่-ใช้อเนกประสงค์ : รายงาน โดย... ธานี กุลแพทย์


          ผลิตภัณฑ์กระติบข้าวโดยไม้ไผ่สีสุกของสมาชิกกลุ่มสานกระติบข้าวบ้านยางคำ ต.ยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น แบรนด์ "ไผ่ตะวัน" มีนายกองมี หมื่นแก้ว เป็นประธาน ด้วยชิ้นงานคุณภาพ ลวดลายประณีต สวยงาม วิธีการถักทอที่สืบทอดมาแต่โบราณ ทำให้กลุ่มถูกคัดเลือกเป็นกลุ่มเป้าหมายของการศึกษาวิจัยในโครงการสนับสนุนนักวิจัยหน้าใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)
 
          โครงการดังกล่าวมี ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ สายวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ โปรแกรมบรรจุภัณฑ์และนิทรรศการ (หัวหน้าทีมวิจัย) อ.เจด็จ ทองเฟื่อง สายวิชาประติมากรรม และ อ.ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์ สายวิชาจิตรกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. ลงพื้นที่ศึกษาพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กลุ่มนี้ เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชน จ.ขอนแก่น
 
          ผศ.ดวงจันทร์ กล่าวว่า การสร้างผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ วัตถุประสงค์คือ เน้นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสานที่มีรูปแบบเฉพาะตัว ใช้วัสดุไม้ไผ่สีทองที่เป็นทรัพยากรหลักของชุมชน โดยดำเนินการร่วมกับกลุ่มผู้ผลิตกระติบข้าวบ้านยางคำ ภายใต้การสื่อความหมายจากแนวคิด "วัฒนธรรมการกิน" การสร้างตราสินค้า ให้มีความแตกต่างกันเรื่องรูปร่าง สีสัน สัญลักษณ์ ที่ควบคู่กับความสวยงามแต่คงคุณค่างานฝีมือที่เน้นศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่น โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายการตลาดใหม่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น
 
          จากผลงานวิจัยทำให้กระติบข้าวแบรนด์ ไผ่ตะวัน ของชาวบ้านยางคำมีเอกลักษณ์ จากวัสดุไม้ไผ่สีทองเนื้อดี รูปทรงที่แปลกตา ทำเป็นปิ่นโต กระเป๋า เพื่อให้เกิดประโยชน์อเนกประสงค์มากกว่ากระติบข้าวแบบเดิม การเลือกใช้สีที่ลงตัว ลวดลายที่ดูแปลกสวยงาม สีที่ใช้ย้อมเป็นสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ด้วยเทคนิคการย้อมพิเศษติดทนนาน เหล่านี้ทำให้ขยายกลุ่มลูกค้า จากชาวบ้านไปสู่นักท่องเที่ยว ที่มีกำลังซื้อที่สูงขึ้น
 
          นอกจากพัฒนาผลิตภัณฑ์กระติบข้าวไผ่ตะวันแล้ว ทีมนักวิจัยยังได้นำเอาวัสดุธรรมชาติที่เหลือใช้ เช่น ใช้หนามไม้ไผ่ ผลน้ำเต้า มาสร้างสรรค์เป็นโคมไฟ ที่แขวนเสื้อผ้า โดยเจ้าของผลงานคือ อ.เจด็จ ทองเฟื่อง และ อ.ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์ ในทีมงานนั่นเอง
 
          กระติบข้าวไผ่ตะวัน โคมไฟ ที่แขวนเสื้อผ้า ผลน้ำเต้า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ได้มีการศึกษาข้อมูลแล้ว สามารถนำองค์ความรู้มาประยุกต์เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนักออกแบบและผู้ผลิตกลุ่มกระติบข้าว โดยมีเป้าประสงค์คือ ให้คนในชุมชนได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเอง แต่ผลิตภัณฑ์นั้นต้องตอบสนองกับความต้องการของตลาด กลุ่มผู้ผลิตชุมชนต้องพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอด
 
          "จะส่งผลถึงการพัฒนาชุมชนสังคมให้เกิดทักษะอันสำคัญทางวิชาการในการเรียนรู้ ให้สามารถแข่งขันในสภาวะปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลง และภูมิปัญญาเหล่านี้จะไม่เลื่อนหายไปตามกาลเวลา เพราะได้บรรจุลงในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านยางคำ ซึ่งสมาชิกกลุ่มได้สลับหมุนเวียนไปให้ความรู้เด็กๆ เป็นประจำ นี่คือการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน โดยการนำองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในชุมชนให้ดีขึ้น" ผศ.ดวงจันทร์ แจง
 
          ผู้ประกอบการหรือประชาชนท่านใดสนใจ สอบถามรายละเอียดได้ที่ ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ สายวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ โปรแกรมบรรจุภัณฑ์และนิทรรศการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.08-1562-5892
.......................................
(หมายเหตุ สร้างมูลค่าเพิ่ม'กระติบข้าว'ปรับโฉมใหม่-ใช้อเนกประสงค์ : รายงาน โดย... ธานี กุลแพทย์)