
ฝ่าวิกฤติการณ์ดินเค็มอีสาน
ฝ่าวิกฤติการณ์ดินเค็มอีสานปัญหาใหญ่ที่ต้องบูรณาการ : รายงาน โดย... ดลมนัส กาเจ
การสะท้อนจากหลายภาคส่วนบนเวทีสัมมนา หัวข้อ" อีสาน...กับวิกฤติการณ์ดินเค็ม" ที่บ้านเปือยใหญ่ ต.เปือยใหญ่ อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น เมื่อไม่นานมานี้ เป็นสิ่งบ่งชัดว่า ปัญหาดินเค็มในภาคอีสานนั้น เป็นตัวบั่นทอนต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลโดยตรงต่อการดำรงชีพของชาวบ้าน เนื่องจากบางพื้นที่สภาพดินเค็มในระดับที่รุนแรง แทบจะปลูกพืชผลทางการเกษตรไม่ได้เลย
ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินระบุว่า ประเทศไทยประสบปัญหาดินเค็มทั้งหมดกว่า 21 ล้านไร่ ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสาน ถึง 17.81 ล้านไร่ ในพื้นที่ 18 จังหวัด 94 อำเภอ จากพื้นที่ของภาคอีสานทั้งหมด 107 ล้านไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สกลนคร มหาสารคาม และขอนแก่น จะมีสภาพดินเค็มมากที่สุด จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อเกษตรกรที่จะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ทำกินด้านการเกษตร
นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาดิน สะท้อนความเห็นว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อดินเป็นอันดับแรก เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานของภาคเกษตรที่เกษตรกรต้องใช้เป็นพื้นที่ทำกิน หากดินมีปัญหา อย่างกรณีดินเค็มในภาคอีสาน เห็นชัดว่าเกษตรกรเดือดร้อน เนื่องจากส่วนใหญ่เกษตรกรจะมีอาชีพทำนา เมื่อประสบกับดินเค็มทำให้ผลผลิตได้น้อย ส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทางกรมพัฒนาที่ดินพยายามที่จะแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเอาชนะดินเค็ม สามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะที่บ้านเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ซึ่งถือเป็นโมเดลในการเอาชนะดินได้ และการจัดเวทีสัมมนาครั้งนี้ก็เป็นแนวทางหนึ่ง เพราะได้ระดมความคิดเห็นจากพื้นที่ เพื่อนำเสนอรัฐบาลต่อไปว่าจะเอาอย่างไร หรือแก้ไม่ได้ หรือเปลี่ยนแนวคิดใหม่หันมาส่งเสริมทำเป็นโซนอุตสาหกรรมได้หรือไม่
"การแก้ปัญหาดินเค็มต้องใช้เวลา เพราะใต้มีเกลือโซเดียมอยู่ใต้ดิน อย่างที่ขอนแก่น ผมเคยมาทำงานมาก่อน พบว่า ในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ โนนศิลา และชนบท พอถึงหน้าแล้งจะเห็นดอกเกลือขึ้นสีขาวเต็มไปหมด ทางกรมพัฒนาที่ดินก็พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อต้องการให้ผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องหากรรมวิธีอื่นด้วย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มทดแทนการทำนาที่ให้ผลผลิตต่ำ อย่างล่าสุดได้บริษัทสยามฟอเรสทรี กำจัด ในเครือเอสซีจี (เครือซิเมนต์ไทย) สนับสนุนให้ปลูกยูคาลิปตัส ามคันนา พบว่าสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง" นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายพิสุทธิ์ ศาลากิจ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดการฟื้นฟูและพัฒนาที่ดินเค็ม โดยจัดโครงการปลูกต้นไม้ทนเค็มเพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็มในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล ที่เมืองเพีย เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543 เนื่องจากที่บ้านเมืองเพียครอบคลุมพื้นที่ อ.บ้านไผ่ โนนศิลา และชนบท จ.ขอนแก่น โดยเริ่มศึกษาสภาพของดิน พบว่า มีปัญหาดินเค็มอย่างรุนแรง ไม่สามารถปลูกพืชได้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นแหล่งเกลือน้ำใต้ดินอยู่ระดับเดียวกันกับผิวดิน เมื่อถึงหน้าแล้งน้ำเค็มจะซึมขึ้นสู่ผิวดินและทิ้งคราบเกลือไว้ ถือเป็นอุปสรรคยิ่งต่อการเพาะปลูก เพราะผลผลิตลดลงทุกปี นอกจากนั้นน้ำเค็มจะไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติด้วย
ทางสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 พร้อมหน่วยงานในสังกัด ได้เข้ามาดำเนินแก้ปัญหาในพื้นที่ อ.บ้านไผ่ โนนศิลา ชนบท พระยืน และบ้านแฮด ผ่านไป 15 ปี ประสบความสำเร็จที่น่าพอใจระดับหนึ่ง เพราะทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชผลทางเกษตรที่ให้ผลผลิตมากขึ้นจากเดิมที่ปลูกข้าวหอมมะลิได้ไร่ละ 150 กก. เพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 300 กก. แต่ต้องยอมรับว่า การทำนาที่จะให้ผลผลิตดี เรื่องน้ำเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งปัจจุบันภาคอีสานยังขาดแคลนน้ำ ต้องอาศัยน้ำฝน ทางออกควรผันน้ำจากแม่น้ำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาต่อไป
สอดคล้องกับแนวคิดของนายบุญจันทร์ สิมหลวง เกษตรกรดีเด่น และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ ที่ระบุว่า การทำเกษตรในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ไม่เพียงแต่ปัญหาดินเค็ม แต่อีกปัญหาที่สำคัญไม่ด้อยกว่ากันคือ ขาดแคลนน้ำ ต้องอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว หากปีไหนฝนฟ้าไม่เอื้ออำนวยก็จะได้รับความเสียหาย ส่วนการแก้ปัญหาดินเค็มนั้น ได้นำต้นแบบการแก้ปัญหาดินเค็มของกรมพัฒนาที่ดินที่บ้านเมืองเพีย ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง
ขณะที่ ดร.ชัยนาม ดิสถาพร นักวิชาการเกษตรชำนาญ และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนาการจัดการดินเค็ม กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จากที่ศึกษามาพบว่า พื้นที่ดินที่เมืองเพียมีความแปลกกว่าที่อื่น คือ ปกติดินเค็มในพื้นที่ภาคอีสานเป็นทราย แต่ที่เมืองเพียเป็นดินเหนียว สภาพดินมีความเค็มเท่าน้ำทะเล ทางกรมพัฒนาที่ดินจึงดำเนินการตามโครงการปลูกต้นไม้ทนเค็มเพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็มในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล พบว่า ล่าสุดในการแก้ปัญหาดินเค็มได้ คือปลูกต้นไม้ที่ทนต่อดินและดูดน้ำเค็มได้ เช่น กระถินออสเตรเลีย อาคาเซีย พืชตระกูลถั่ว ที่จะช่วยเพิ่มไนโตรเจนให้แก่ดิน และหลังจากเกษตรกทำนาเกี่ยวข้าวแล้วให้ไถกลบตอซังด้วย นอกจากนี้ยังใช้หลักวิศวกรรม ดําเนินการปรับรูปแปลงนา ขุดคูน้ำ คลองเป็นทางลําเลียงระบายเกลืออีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม หากประเมินดูจากปัญหาดินเค็มในภาคอีสานที่ดูหมือนว่ายากต่อการที่จะแก้ไขได้อย่างเร็ว ตราบใดที่รัฐบาลยังเมินต่อการที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง เนื่องจากกินพื้นกว้าง และต้องใช้งบประมาณอย่างมหาศาล ทางออกที่จะแก้ไขได้ รัฐบาลต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และทุกภาคส่วนต้องร่วมมือบูรณาการด้วยกัน จึงพอจะมีแนวในการแก้ปัญหาได้
.......................................
ความสำเร็จเมืองเพียโมเดล
จากการติดตามของกรมพัฒนาที่ดินต่อผลการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มที่บ้านเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พบว่า ในพื้นที่ที่มีปัญหาดินเค็มปลูกข้าวได้ผลผลิตต่ำ คือ ได้ผลผลิต 150 กก. หลังจากมีการปรับรูปแปลงนาและมีการใช้โสนแอฟริกันเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อปรับปรุงดิน ทำให้ได้ผลผลิตข้าวสูงขึ้นเป็นไร่ละ 300 กก. เกษตรกรยังมีการใช้ประโยชน์พื้นที่บนคันนาอย่างเต็มที่โดยการปลูกไม้เศรษฐกิจบนคันนา เช่น ยูคาลิปตัส ยูคาลิปตัสเป็นไม้ยืนต้นที่ปลูกง่าย โตเร็วและให้ผลตอบแทนภายใน 3-5 ปี โดยปลูกยูคาลิปตัส 80 ต้นต่อไร่ พบว่า ช่วงเวลาการตัดฟัน 4 ปี จะมีรายได้จากการขายยูคาลิปตัส 20,000 บาทต่อไร่ต่อ 4 ปี
ส่วนพืชที่สามารถปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ดินเค็มอีกชนิดหนึ่ง คือ โสนแอฟริกัน การปลูกโสนแอฟริกันเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ ในพื้นที่ดินเค็มปานกลาง สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ไร่ละ 100-150 กก. ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไร่ละ 3,300-4,950 บาทต่อ 4 เดือน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการปลูกถั่วพร้าบนคันนาในพื้นที่ดินเค็มปานกลางถึงน้อย สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ไร่ละ 180-200 กก. เกษตรกรมีรายได้ประมาณไร่ละ 4,500-5,000 บาท
ในด้านการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตพืช สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ได้มีการวิจัย ทดสอบและสาธิตการเพิ่มผลผลิตพืชในพื้นที่ดินเค็ม ได้แก่ การปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้พืชปุ๋ยสดในพื้นที่ดินเค็มทุ่งเมืองเพีย ชนิดของพืชปุ๋ยสดที่ใช้ คือ โสนแอฟริกัน เนื่องจากสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ดินเค็ม โดยเมื่อปลูกในพื้นที่ที่ดินเค็มและในช่วงการเจริญเติบโตมีน้ำเพียงพอจะได้น้ำหนักสด 2,500 กก.ต่อไร่ น้ำหนักแห้ง 575 กก.ต่อไร่ เมื่อไถกลบที่อายุ 65 วัน คิดปริมาณธาตุอาหารจากพืชเป็นปริมาณธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมี พบว่า สามารถทดแทนปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 ได้ 35 กก.ต่อไร่ ทดแทนปุ๋ยเคมีสูตร 0-60-0 ได้ 4 กก.ต่อไร่ และทดแทนปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 ได้ 20 กก.ต่อไร่
ขณะที่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน เมื่อมีการใช้โสนแอฟริกันปรับปรุงบำรุงดิน หลังจากไถกลบและปล่อยทิ้งไว้ให้ย่อยสลาย 15 วัน ทำให้ปริมาณอินทรียวัตถุในดินสูงขึ้นเฉลี่ยเป็น 2.11 เปอร์เซ็นต์ และทำให้ปริมาณธาตุอาหารในดิน ได้แก่ ปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้เพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมามีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ และอบรมให้ความรู้เกษตรกรผู้ร่วมโครงการมาแล้วเกือบ 1,000 ราย
.......................................
(หมายเหตุ ฝ่าวิกฤติการณ์ดินเค็มอีสานปัญหาใหญ่ที่ต้องบูรณาการ : รายงาน โดย... ดลมนัส กาเจ)