
ทุ่งสังหาร
ทุ่งสังหาร : คอลัมน์หนังสือที่เธอถือมา : โดย...ไพวรินท์ ขาวงาม
๑.
หนังอย่าง ‘ทุ่งสังหาร’ หนังสืออย่าง ‘4 ปีนรกในเขมร’ หรือคำว่า ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ กลายเป็นภาพฝังใจเมื่อดูหนังและอ่านหนังสือ ไม่น่าเชื่อ-ประเทศเพื่อนบ้านเรานี้เองที่เคยมีสถานะระดับที่เรียก ‘นรก’
ก่อนจะไปเที่ยวเสียมเรียบ ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เลย คิดเพียงไปเที่ยวตามๆ คณะ พาไปไหนก็ไป เจออะไรก็เจอ ซึ่งเขาก็จัดให้เต็มที่แบบ ๓ วัน ๒ คืน เช่น เยี่ยมโรงเรียนประถม, ชมปราสาทบายนนครธม, ปราสาทตาพรหม, ปราสาทนครวัด, ล่องเรือโตนเลสาบ, ไหว้องค์เจกองค์จอม, แวะซื้อของฝาก...
รายการสำคัญหนึ่งก็คือ พาไปที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เก็บกะโหลกและโครงกระดูกประชาชนชาวเขมรที่ถูกสังหารในช่วงเขมรแดงครองอำนาจ เราไปไม่ถึงพนมเปญซึ่งเป็นทุ่งสังหาร แต่ก็ได้เห็นกะโหลกกระดูกอนุสรณ์ในเมืองเสียมเรียบ นอกจากมัคคุเทศก์จะบรรยาย ยังมีภาพถ่ายและเรื่องราวบางส่วนจัดนิทรรศการไว้ วัดแห่งนี้บรรจุไว้ด้วยตำนานสงครามและความตาย ที่เก็บและรวบรวมมาจาก ‘ทุ่งสังหาร’ ไปวัดแห่งอื่น เรามักไปเข้าโบสถ์และกราบพระพุทธรูป ไปวัดใหม่แห่งนี้ กลับถูกนำไปดูซากมนุษย์ และหวนย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ ระหว่างปี ๒๕๑๘-๒๕๒๒
‘ถ่ายรูป ก็ขออนุญาตด้วยนะ เดี๋ยวเขาตามไปถึงบ้าน’ ไกด์หนุ่มหยอดอารมณ์ขัน
ทุกวันเกิดใหม่ของเขมรในเดือนมกราคม จะมีพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ ซึ่งไม่รู้เป็นใครบ้าง แต่เห็นภาพวิธีการสังหารต่างๆ แล้ว ดูจะมีทั้งคนแก่ คนหนุ่มสาว และเด็ก แม้กระทั่งทารกก็มีการเหวี่ยงโยนขึ้นไปสูงๆ แล้วใช้ปืนยิง ว่ากันว่า-ถือเป็นการเล่นพนันกันของทหารเขมรแดง
เห็นภาพแล้วสลดใจอย่างบอกไม่ถูก ลูกชายผมไปยืนดูแล้วถามว่า ‘เขาตายเพราะอะไรครับพ่อ?’ ตอบไม่ได้ทันที ได้แต่บอกว่า ‘สงครามชิงเมืองน่ะลูก...สงครามไม่ปรานีใคร มีแต่ความโหดร้าย เขาฆ่ากันตายเป็นล้านๆ เด็กๆ ก็ถูกบังคับให้ไปเป็นทหาร จับปืนฆ่าคน แม้แต่พ่อแม่ก็ยังฆ่า...”
หลังจากนั้น เขาก็เฝ้าซักไซ้ถามเรื่อง ‘สงครามในเขมร’ ต้องเล่าให้เขาฟังสลับไปสลับมาเท่าที่รู้ และเท่าที่พอจะเล่าให้เขาเข้าใจง่ายๆ
กลับบ้าน ยังตาค้างกับเรื่องราวเหล่านั้น ต้องเปิดดูคลิปสารคดี ดูหนัง และอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘นรกในเขมร’ เมื่อประมาณ ๓๐ กว่าปีก่อนอีกครั้ง ทั้งที่เพิ่งได้ไปตื่นเต้นกับร่องรอยอารยธรรม ‘นครวัด-นครธม’ เมื่อร่วม ๑, ๐๐๐ ปีก่อน-ในคราวเดียวกัน...
๒.
ระหว่างปี ๒๕๑๘-๒๕๒๒ เป็นช่วงที่ผมบวชเป็นสามเณร เรียนหนังสืออยู่ที่อยุธยา เป็นช่วงเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม เป็นช่วงได้รับรู้เรื่องราว ‘เขมรแตก’ ได้ยินชื่อ ‘พอล พต’ ได้ยินว่าเด็กอายุ ๑๕-๑๖ ก็ต้องจับปืน
ได้ยินแบบเป็นเรื่องเล่าของอะไรที่ไกลออกไป เหมือนตำนาน ไม่เกี่ยวกับเรา เราใช้ชีวิตตามปกติของเราไป ทั้งที่บ้านเขมรกับบ้านไทยอยู่ติดกันตรงนี้เอง ภาษาพูดแรกของเราก็เป็นภาษาเดียวกัน อีกอย่างวันวัยตอนบวชเป็นสามเณร ก็เป็นอายุเดียวกับเด็กหนุ่มเขมรที่ต้องไปจับปืนฆ่าคน ภาพเด็กหนุ่มถือปืน มีผ้าขาวม้าพันคอ สวมหมวกสีเขียว ก็มีให้คุ้นๆ ตาอยู่ไม่น้อย
ถ้าเราไม่ได้เกิดบนผืนแผ่นดินไทย แต่ไปเกิดแถวพนมเปญหรือเสียมเรียบ ชีวิตคงจะไม่ธรรมดา?
‘สิ่งแรกที่เขมรแดงกระทำหลังจากได้รับอำนาจ คือ การกวาดต้อนประชาชนกัมพูชาทั้งหมดจากกรุงพนมเปญ และเมืองสำคัญอื่นๆ มาบังคับให้ทำการเกษตร และใช้แรงงานร่วมกันในพื้นที่ชนบท เพื่อจำแนกประชาชนที่ถือว่าเป็น ‘ศัตรูทางชนชั้น’ ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ข้าราชการ เชื้อพระวงศ์ ผู้มีการศึกษา หรือผู้มีวิชาชีพเฉพาะในด้านต่างๆ ออกมาเพื่อขจัดทิ้ง...’
(บางส่วนข้อมูลเรื่อง ‘เขมรแดง’ จากวิกิพีเดีย)
๓.
ไปเที่ยวดินแดนปราสาทมหัศจรรย์ของโลก ยังได้สัมผัสร่องรอยสงครามอำมหิต หนังและวรรณกรรมสงคราม เวียนเข้ามาให้ทบทวน ลูกชายก็เฝ้ารบเร้าอยากรู้...
‘ พ่อเล่าเรื่องเขมรแดงแล้ว เล่าเรื่องโสมแดงบ้างสิ?’
..........................................
(ทุ่งสังหาร : คอลัมน์หนังสือที่เธอถือมา : โดย...ไพวรินท์ ขาวงาม)