ไลฟ์สไตล์

ชง“เมืองเก่าเชียงแสน-สุวรรณโคมคำ”เป็นมรดกโลก

ชง“เมืองเก่าเชียงแสน-สุวรรณโคมคำ”เป็นมรดกโลก

03 มิ.ย. 2552

วธ.ชงมรดกโลกวัฒนธรรมร่วมไทย-ลาว “เมืองเก่าเชียงแสน-สุวรรณโคมคำ” ภูพระบาทหมดลุ้นมรดกโลกปีนี้ วธ.หวั่นวืดอุทยานฯพิมาย-พนมรุ้ง-เมืองต่ำ เปิดประชาพิจารณ์ อีก4แหล่ง “คำเส้นทางศรีวิชัย-ล้านนา--วัดเบญจฯ-ภูมิทัศน์เจ้าพระยา”เสนอปี54

 เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2552 นายธีระ  สลักเพชร    รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)  เปิดเผยว่า วธ.มีแผนงานแนวทางการดำเนินการในด้านนำเสนอแหล่งมรดกโลกในประเทศไทยขึ้นเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่จำนวน 5 แหล่ง 1. แหล่งโบราณ คดีเมืองเก่าเชียงแสน จ.เชียงราย ร่วมกับแหล่งโบราณคดีสุวรรณโคมคำ เมืองบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ชื่อ The Trans-boundary of Archaeological Urban Complex of Chiang Sean and Suvannakhomkham เป็นแหล่งโบราณคดีร่วมเป็นมรดกโลกแห่งแรกของ 2 ประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่สมบูรณ์อายุราว 500 - 600 ปี ที่สมบูรณ์และที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองในภูมิภาคนี้ เสมือนเป็นช่องประตูแม่น้ำโขงตอนเหนือของ 2 ประเทศรับอารยธรรมยิ่งใหญ่ของโลกคือจีน-อินเดีย มาผสมผสานจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ศิลปกรรมที่โดดเด่นของตนเอง

  2.เส้นทางวัฒนธรรมศรีวิชัย-นครศรีธรรมราช-สทิงพระ 3.แหล่งวัฒนธรรมล้านนา 4.ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ ำเจ้าพระยา และ5. กลุ่มสถาปัตยกรรมของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดิวงศ์ เช่น วัดเบญจมบพิตร เป็นต้น ทางสำนักโบราณคดีกรมศิลปากรจะจัดทำข้อมูลของไทย 5 แห่งดังกล่าวให้เสร็จในปี 2553 เพื่อเข้าสู่บัญชีรายชื่อศูนย์มรดกโลกยูเนสโก ให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม

 รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า  ส่วนกรณีที่ไทยได้นำเสนอให้ศูนย์มรดกโลกเข้าบัญชีรายชื่อแล้ว 2 แหล่ง มีอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี และเส้นทางเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ โดยในส่วนของอุทยานฯ ภูพระบาทกำลังจัดทำเอกสารประกอบขอขึ้นทะเบียนขั้นตอนสุดท้ายเสนอต่อศูนย์มรดกโลกให้ทันการพิจารณาปี 2553

 “หากผ่านความเห็นชอบจะเข้าสู่คณะกรรมการมรดกโลกชุดใหญ่พิจารณาในกลางปี 2554 อย่างไรก็ตามอุทยานฯ ปราสาทหินพิมายยังมีปัญหาขอบเขตพื้นที่ของโบราณสถานที่อยู่ในชุมชน ที่ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ก่อน เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาเหมือนอุทยานฯ พระนครศรีอยุธยา ดังนั้นกรมศิลปากรจะจัดสัมมนาประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนพื้นที่อุทยานฯ ปราสาทหินพิมายก่อน ในวันศุกร์ที่ 5 มิ.ย.นี้” นายธีระ กล่าว

 นายธราพงศ์   ศรีสุชาติ    ผอ.สำนักโบราณคดี  กรมศิลปากร กล่าวว่า คณะกรรมการมรดกโลกจะมีการประชุม ครั้งที่ 33 วันที่ 22-30 มิ.ย. ประเทศสเปน ซึ่งกรมศิลปากรจะยังไม่เสนออุทยานฯ 2 แหล่งดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่จัดทำข้อมูลของอุทยานฯ ภูพระบาทขั้นตอนสุดท้าย เพราะสภาพนิเวศทางวัฒนธรรม ประติ มากรรมโขดหินอายุนับล้านปี และธรรมชาติของป่าเขาไม่ถูกรบกวนจากบ้านเรือนและผู้คนอาศัยอยู่รอบเขตอุทยานฯ ซึ่งต้องดำเนินการจัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานฯ ตามหลักเกณฑ์มรดกโลก และแปลเป็นภาษาอังกฤษประมาณ 500 หน้า ที่จะเสนอศูนย์มรดกโลก น่าจะเสนอในกลางปี 2553

 “ในส่วนของอุทยานฯ ปราสาทพิมายนั้น ต้องทำประชาพิจารณ์รับฟังข้อคิดเห็นของคนในพื้นที่กับแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาฯ ให้เรียบร้อยก่อน เพราะเกรงว่าจะไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินของอิโคโมสสากล ทั้งจะส่งผลกระทบไปถึงปราสาทหินพนมรุ้ง-ปราสาทเมืองต่ำจะไม่ได้เป็นมรดกโลกอีกด้วย อย่างไรก็ตามหากประชาชนในพื้นที่อุทยานฯปรา สาทหินพิมายเห็นชอบแผนแม่บทฯ ก็จะเร่งจัดทำข้อมูลเสนอพร้อมกันอุทยานฯภูพระบาทปี 2553” นายธราพงศ์  กล่าว