ไลฟ์สไตล์

คลื่นคนวรรณกรรม : นารีนครา

คลื่นคนวรรณกรรม : นารีนครา

31 มี.ค. 2556

คลื่นคนวรรณกรรม : 'ทา-เตอ-เฉิง'...นารีนครา : โดย...ก้อนหินริมทาง

 

                         สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในงานแนะนำหนังสือ “นารีนครา” พระราชนิพนธ์แปลนวนิยายจีนในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำหนังสือ “นารีนครา” โดยพระองค์เอง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 56 เวลา 10.30 น. ณ ห้องบอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดยมี กวน มู่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย หลี่ เสี่ยวหลิน นายกสมาคมมิตรภาพไทยจีน สุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บ.นานมีบุ๊คส์ จำกัด และ คิม จงสถิตย์วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บ.นานมีบุ๊คส์ จำกัด เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ นอกจากนี้แล้วยังมีคนในวงการนักเขียนและสื่อสิ่งพิมพ์มาร่วมรับเสด็จอย่างคับคั่ง โดยพระองค์พระราชทานพระราชดำรัสแนะนำหนังสือ 'นารีนครา' ตอนหนึ่งว่า

                         "ได้แปลวรรณกรรมจีนมาหลายเรื่องแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้อธิบายเรื่องที่แปลนั้นด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะสู้ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่มาอธิบายในครั้งก่อนๆ ไม่ได้ แต่ก็มีความรู้สึกไปอีกอย่างหนึ่ง ส่วนเนื้อหารายละเอียดนั้นก็ไม่อยากจะกล่าวมาก เพราะถ้าเล่าเรื่องหมดแล้วก็ไม่มีใครอ่าน  พูดถึงสาเหตุที่เลือกแปลเรื่องนี้เพราะวันหนึ่งเดินทางไปประเทศจีน ก็อ่านหนังสือที่เขาวางไว้ในเครื่องบิน ก็มีหน้าศิลปวัฒนธรรมพูดถึงเรื่องประวัติและผลงานของคุณฉื่อลี่ เรื่องหนังสือเล่มต่างๆ ตอนนั้นยังไม่มีหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องเก่าๆ ของนักเขียนผู้นี้ ก็ได้คุยกับครูสอนภาษาจีนคนเก่าที่ขณะนี้กลับไปทำงานที่ประเทศจีนแล้ว ชื่อครูจู นักเขียนท่านนี้มักจะเขียนเกี่ยวกับบทบาทสตรีจีน ก็เป็นด้านหนึ่งของวัฒนธรรมจีนที่น่าสนใจ การที่แปลหนังสือนั้นจะมีประโยชน์ประการแรก คือ ได้รู้จักศัพท์ต่างๆ รู้จักสำนวนต่างๆ ทำให้เข้าใจภาษาจีนได้ดีขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนภาษาจีน เมื่อแปลแล้วแทนที่จะทิ้งไว้เฉยๆ ก็นำมาเขียน มาพิมพ์ และขอให้ผู้รู้หลายๆ ท่านขัดเกลา แนะนำ คิดว่าการอ่านวรรณคดี ไม่ว่าเป็นวรรณคดีของชาติใด มีส่วนทำให้ผู้อ่านได้รู้จักความรู้"

                         สำหรับนวนิยายเรื่อง "นารีนครา"นั้น ในภาษาจีนชื่อ "ทา-เตอ-เฉิง" เป็นผลงานของ "ฉือลี่" นักเขียนหญิงชื่อดังแห่งเมืองอู่ฮั่น โดยเธอเป็นชาวเหมี่ยนหยัง (เซียนเถาในปัจจุบัน) มณฑลหูเป่ย   ซึ่งมีความโดเด่นในการสร้างสรรค์วรรณกรรมจีนร่วมสมัย ที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพชีวิตและสังคมที่เปลี่ยนไปในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นเมืองที่เธอผูกพันนับตั้งแต่เกิด ดังนั้น งานเขียนของเธอจึงล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองนี้ทั้งสิ้น ...."ฉือลี่" เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1957 หลังเรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใน ค.ศ.1974 แล้ว ก็ได้ไปเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนประถมศึกษาชนบทแห่งหนึ่ง จนปี  ค.ศ. 1976 จึงได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยการแพทย์เหย่จิน หรือมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอู่ฮั่นใน ปัจจุบันนี้นั่นเอง เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ. 1979 จึงเข้าทำงานที่สำนักอนามัยอู่กังด้านโรคระบาด และในช่วงนี้เองที่ฉือลี่เริ่มเขียนงานวรรณกรรม และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ จนกระทั่งปี ค.ศ.1983 ซึ่งสังคมจีนเริ่มเปิดกว้างทางการศึกษามากขึ้น  ฉือลี่จึงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่คณะภาษาจีน (การศึกษาสำหรับผู้ใหญ่) มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น วิชาเอกภาษาและวรรณคดีจีน เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีใน ค.ศ.1987 แล้ว ก็เริ่มหันเหชีวิตการทำงานมาอยู่ในแวดวงวรรณกรรม โดยเป็นบรรณาธิการฝ่ายวรรณกรรม วารสาร “ฟางเฉ่า” (ต้นหญ้าหอมกรุ่น) นครอู่ฮั่น ครั้นถึง ปี ค.ศ. 1990 ก็เข้าสู่ชีวิตการทำงานเป็นนักเขียนอาชีพ ในวงวรรณกรรมประเทศจีนอย่างเต็มตัว โดยผลงานของเธอได้รับรางวัลทางวรรณกรรมหลายรางวัล เช่น รางวัลวรรณกรรมหลู่ซวิ่น  รางวัลวรรณกรรมหงเหอ  รางวัลวรรณกรรมต้าเจีย  รางวัลนวนิยายคัดสรร  รางวัลนวนิยายขนาดกลางดีเด่น ระดับชาติ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วผลงานหลายเรื่องได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครชุดทางโทรทัศน์ ละครเวที ละครวิทยุ อุปรากรปักกิ่ง  รวมทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนามอีกด้วย

                         ใครยังไม่เข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ต้องมางานนี้แล้วล่ะ..เชิญร่วมงานเสวนา เรื่อง  “สนทนาสาระ...เรื่องลิขสิทธิ์” วันศุกร์ที่ 5 เม.ย.56  เวลา 12.30 - 17.00 น. ณ  ห้อง Meeting room 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ร่วมเสวนาโดย 1. วัตตรา (กานติมา) นักเขียนนวนิยาย 2.  พรอนงค์ นิยมค้า  นักแปลดีเด่นรางวัลสุรินทราชา 3. ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย  นักเขียน บรรณาธิการ   4. จรูญพร ปรปักษ์ประลัย  นักเขียน นักวิจารณ์ ดำเนินรายการโดย   เขมะศิริ นิชชากรนักกฏหมายจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

                         กลับมาแล้วเด้อพี่น้อง....นฤมิตร ประพันธ์ เจ้าของรวมเรื่องสั้น “ละครทันสมัย” และ รวมบทกวี “ประกายไฟในความมืด” ซึ่งคราวนี้ นฤมิตร ประพันธ์ กลับมาพร้อมรวมบทกวีเล่มที่ 2 “หาวันวานแต่ไม่พานพบ” โดยรวมบทกวีชุดนี้มีอายุห่างจาก รวมบทกวีเล่มแรกเมื่อ พ.ศ. 2529 และรวมเรื่องสั้น เมื่อ พ.ศ.2531 นับแล้วกินเวลากว่า 20 ปีเห็นจะได้ โดยเจ้าตังลงทุนพิมพ์เองจัดจำหน่ายแบบพอเพียงมีขายในงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่บู๊ธสำนักพิมพ์สามัญชน.

                         เนื่องในโอกาสครบรอบ 150 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทางคณะโบราณคดี ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัด “นิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื่องในโอกาสครบ 150 ปี วันประสูติ ในปี พ.ศ. 2555” ขึ้นระหว่างวันที่ 26 มีนาคม - 7 เมษายน 56 ณ บริเวณผนังโค้งชั้น 3 และ 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน

                         ขอแสดงความเสียใจแด่ผู้ที่จากไป...พันเอกรักษ์ พูลพงษ์ นักกลอนอาวุโส เสียชีวิตแล้วด้วยอุบัติเหตุหกล้มทำให้เส้นเลือดในสมองแตกเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา โดยญาติได้นำศพตั้งบำเพ็ญกุศล ณ ศาลา 14 วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน และพระราชทานเพลิงศพเวลา 13.00 น. วันวันจันทร์ที่ 1 เมษายนนี้

 

----------------------

คลื่นคนวรรณกรรม : นารีนครา

'นารีนครา'

คลื่นคนวรรณกรรม : นารีนครา

'ฉือลี่'

คลื่นคนวรรณกรรม : นารีนครา

ไพฑูรย์ ธัญญา

คลื่นคนวรรณกรรม : นารีนครา

จรูญพร ปรปักษ์ประลัย

 

----------------------

(คลื่นคนวรรณกรรม : 'ทา-เตอ-เฉิง'...นารีนครา : โดย...ก้อนหินริมทาง)