
นกจับแมลงสีน้ำตาล
นกจับแมลงสีน้ำตาล : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว
ทุกสุดสัปดาห์แรกของเดือน สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) จะจัดกิจกรรม Birdwalk นำดูนกในสวนสาธารณะ เพียงไปที่สวนรถไฟในวันเสาร์ช่วงเช้าตรู่ หรือวันอาทิตย์ที่ สวนหลวง ร.9 จะพบกับบูธและอาสาสมัครจากทางสมาคม ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
สำหรับคนที่เคยดูนกมาก่อนแล้ว นกที่พบตามสวนสาธารณะส่วนใหญ่อาจถูกมองว่าเป็นนกที่ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่ เพราะล้วนนกพบได้ทั่วไป แต่นกเหล่านี้นั่นเองที่มักถูกมองข้าม จนเรามีข้อมูลเกี่ยวกับชนิดที่หายากมากกว่าพวกมันเสียอีก บางครั้งการเฝ้าดูนกใกล้ตัวให้ละเอียดขึ้นก็อาจทำให้เราพบว่ามีอะไรน่าสนใจไม่น้อยไปกว่านกหายากเลย นกประจำสัปดาห์นี้เป็นหนึ่งในนกขนาดเล็กที่พบได้ง่ายที่สุดทั่วประเทศไทย ชื่อว่า นกจับแมลงสีน้ำตาล (Asian Brown Flycatcher)
นกจับแมลงที่ไร้จุดเด่นเสียจนได้ชื่อเรียกตามสีตุ่นๆ ชนิดนี้เป็นที่รู้จักดีในฐานะนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ที่พบกระจายอยู่ทั่วไป และพบได้บ่อยมาก แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่ามีประชากรที่เป็นนกประจำถิ่นหรืออพยพไม่ไกลมาก (short-distance migrant) อยู่ด้วย ซึ่งไม่ไกลมากสำหรับนกอาจหมายถึงระยะทางหลักร้อยกิโลเมตร!
ประชากรที่ว่านี้ถูกจัดเป็นชนิดย่อยชื่อว่า siamensis เพราะถูกเก็บตัวอย่างได้ครั้งแรกทางภาคเหนือของไทย ทำรังวางไข่ในป่าโปร่ง พบเห็นตัวได้ยากกว่าชนิดย่อยหลัก (latirostris) ซึ่งเป็นนกอพยพทางไกล จากทางตอนเหนือของจีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย
ทั้งสองชนิดย่อยหน้าตาต่างกันพอที่จะจำแนกได้ไม่ยากในภาคสนาม ชนิดย่อยหลักมีลำตัวสีอมเทามากกว่า ท้องสีขาวกว่ามาก มีแถบเคราสีขาวและวงรอบตาเห็นได้ชัดกว่าชนิดย่อย siamensis ซึ่งมีปากยาวกว่าชัดเจน บางครั้งมีลายสีน้ำตาลที่อก หากพิจารณาโดยรวมแล้ว เจ้าจับแมลงสยามนี้มีลักษณะคล้าย นกจับแมลงสีน้ำตาลท้องลาย (Brown-streaked Flycatcher) มากกว่านกจับแมลงสีน้ำตาลชนิดย่อยหลักเสียอีก
โซนภาคกลางอย่าง กทม.และปริมณฑล สามารถพบได้หมดทุกสายพันธุ์ที่กล่าวไปข้างต้น หากเฝ้าดูพฤติกรรมจะพบว่ามันชอบออกไปโฉบแมลงแล้วกลับมาเกาะที่เดิมอยู่เสมอ หากมีนกจับแมลงตัวอื่นอยู่ใกล้ๆ ก็อาจมีการต่อสู้ขับไล่กัน เพื่อแย่งชิงตำแหน่งที่ดีที่สุดในการสอดส่ายสายตาหาแมลง
................................................
(นกจับแมลงสีน้ำตาล : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)