ไลฟ์สไตล์

'ข้าวอินทรีย์'อีสมาร์ทฟาร์มสู่ครัวโลก

'ข้าวอินทรีย์'อีสมาร์ทฟาร์มสู่ครัวโลก

16 มี.ค. 2556

'ข้าวอินทรีย์' ร้อยแก่นสารสินธุ์ นำร่องอีสมาร์ทฟาร์มสู่ครัวโลก : โดย...กวินทรา ใจซื่อ

                            กระแสการบริโภคอาหารปลอดภัยยังคงมาแรงและอินเทรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ที่หันมาใส่ใจสุขภาพ การทำเกษตรทั้งปลูกข้าว พืชผัก ผลไม้ปลอดสาร จึงมีตลาดรองรับ ดังข้าวอินทรีย์พันธุ์พื้นบ้าน ทั้งหอมมะลิ ข้าวแดง หอมนิล ที่ นายธนรัชต์ เหมะธุลิน เกษตรกรหมู่ 10 ต.ทุ่งคลอง อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งในกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ ที่นำมาแปรรูปเป็นข้าวฮาง และนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ หรืออีสมาร์ทฟาร์มมาใช้ โดย กสท. และ ม.ขอนแก่น ผลิตภัณฑ์จึงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ

                            "ปลูกข้าวอินทรีย์มานานแล้ว เพราะส่วนหนึ่งก็รับประทานในครอบครัว การนำมาทำเป็นข้าวฮางเป็นอีกทางที่เพิ่มมูลค่าให้ข้าวที่ปลูกไว้ ที่ผ่านมามีเกษตรกรหลายกลุ่มสนใจเพาะปลูกข้าวปลอดสาร แต่ปัญหาที่พบมาตลอดคือเรื่องการทำการตลาด คือผลิตแล้วไม่มีตลาดขาย สุดท้ายก็ต้องขายให้พ่อค้าคนกลาง จากที่ได้เข้าอบรมร่วมกับ ม.ขอนแก่น จึงนำปัญหาของแต่ละกลุ่ม แต่ละจังหวัดปรึกษากับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมกันวางแนวทางช่วยเหลือ” ธนรัชต์ เล่าถึงที่มาของจุดเริ่มต้นการรวมตัวของกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์

                            รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช ผอ.ศูนย์พัฒนากลยุทธ์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าว่า ชาวนากลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ มาจากกลุ่มจังหวัด 4 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ที่ผ่านการอบรมจากศูนย์ ทำให้มีแนวคิดรวมกลุ่มช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ไม่รู้ขั้นตอนจะเริ่มต้นขอความช่วยเหลือจากรัฐอย่างไร ศูนย์จึงเข้ามาช่วยเหลือ

                            "ชาวนากลุ่มนี้ ถือเป็นการรวมกลุ่มของกลุ่มเกษตรกรหัวก้าวหน้า กล้าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองในการทำเกษตรเชิงอินทรีย์ และกล้านำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่ เมื่อทราบความต้องการของกลุ่มเกษตรกรแล้ว จึงพูดคุยหาข้อตกลงในการพัฒนาทำตลาดข้าวฮาง หรือตลาดข้าวอินทรีย์ร่วมกัน" รศ.ดร.เพ็ญศรี แจง 

                            พร้อมอธิบายเสริม จากการพูดคุยทำให้แบ่งเกษตรกรเป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มทำเกษตรอินทรีย์ ที่มีใบรับรองมาตรฐานการผลิตทั้งในและต่างประเทศ กลุ่มที่เป็นเกษตรอินทรีย์แต่ไม่มีใบรับรอง กลุ่มเริ่มลด ละ เลิกใช้สารเคมี และกลุ่มที่เริ่มสนใจทำเกษตรปลอดภัย ขณะนี้รวมกลุ่มได้ 41 ราย โดยศูนย์สนับสนุนเรื่องตรวจสอบคุณภาพดิน น้ำ พื้นที่เพาะปลูก พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับมาตรฐานทั้ง 4 กลุ่มให้มีมาตรฐานเดียวกัน คือส่งขายตลาดในประเทศและตลาดสากล ระหว่างนี้ศูนย์จะช่วยประชาสัมพันธ์ อีกทั้งการดำเนินงานตลอด 1 ปี ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

                            นายธนกร พิริยพรปกรณ์ ผจก.ส่วนบริการการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท กสท มองว่า ปัญหาสำคัญการส่งออกของไทย คือตรวจพบสารปนเปื้อน สารเคมี และศัตรูพืช ซึ่งตัวแทนการค้าต่างประเทศมักจะถามถึงต้นทางการผลิต แต่กลุ่มผู้รับซื้อในประเทศไม่มีเอกสารที่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้ต้องตีกลับสินค้าสร้างความเสียหายให้เกษตรกรและกลุ่มผู้ค้า

                            "แนวคิดในการสร้างบริการตรวจสอบย้อนกลับอุตสาหกรรมอาหารและสินค้าเกษตรหรืออีสมาร์ทฟาร์มนี้ กสท จะวางระบบและดูแลทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้ลูกค้าที่สมัครใช้บริการ โดยออกแบบให้เก็บข้อมูลระบุรายละเอียด วัน เดือน ปี ที่ผลิต ชื่อเกษตรกร สถานที่เพาะปลูก กระบวนการผลิต การให้ปุ๋ย ยา วันเก็บเกี่ยว เป็นต้น เป็นการบริหารจัดการและประมวลผลข้อมูลระดับฟาร์ม อีกทั้งยังรองรับมาตรฐานของยุโรป และมาตรฐานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ที่กำหนดไว้ โดยได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2555 ใน 3 กลุ่มสินค้าเกษตรคือ ผัก ผลไม้ และกล้วยไม้"

                            ส่วนการสนับสนุนข้าวอินทรีย์กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ ธนกร กล่าวว่า หลังได้ร่วมสัมมนาพร้อมเผยแพร่การใช้ระบบอีสมาร์ทฟาร์มแล้ว พบว่าเกษตรกรให้ความสนใจ เพราะส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งที่ผ่านมาประสบปัญหาด้านประสานกับหน่วยงานของรัฐ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนมาตรฐาน กสท จึงได้ทำสัญญาร่วมกับนักวิจัย ม.ขอนแก่น นำระบบอีสมาร์ทฟาร์มมาใช้

                            "กลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์เป็นพื้นที่นำร่องใช้ระบบอีสมาร์ทฟาร์ม มีเครือข่ายเกษตรปลูกข้าวอินทรีย์ร่วม 41 คน เกษตรกรจะต้องบันทึกข้อมูลการผลิตอย่างละเอียด ชัดเจน เพื่อตรวจสอบได้ทันที โดยเพิ่งนำระบบนี้มาใช้เมื่อกันยายน ปี 55 พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุไม่คุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ต ทำให้ กสท เตรียมโครงการอบรมให้ลูกหลานได้เรียนรู้เทคโนโลยี เพื่อเป็นอีกแรงที่ช่วยพ่อแม่"

                            อย่างไรก็ตาม สนนราคาข้าวของกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ในพื้นที่นำร่อง ที่ผ่านระบบอีสสมาร์ทฟาร์ท ปัจจุบัน กก.ละ 100-180 บาท ขึ้นกับพันธุ์ข้าวและขั้นตอนการผลิต พบว่าขณะนี้มีกลุ่มตลาดต่างประเทศสั่งซื้อเข้ามา

                            ระบบอีสมาร์ทฟาร์ม จึงเป็นเครื่องมือช่วยเกษตรกร เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ให้มีความแตกต่างด้านคุณภาพความปลอดภัย สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการวางแผนระยะยาวเพื่อรองรับการเปิดประเทศการค้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558

 

 

--------------------

('ข้าวอินทรีย์' ร้อยแก่นสารสินธุ์ นำร่องอีสมาร์ทฟาร์มสู่ครัวโลก : โดย...กวินทรา ใจซื่อ)