
เปิดโลกการศึกษามุสลิม : 28 ก.พ.56
คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม ตอน : 'สร้างฝัน'นักเรียนไทยในตุรกี
เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ในรอบปี ของคอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม ที่ได้เข้าร่วมสัมมนาชุมนุมนักศึกษาไทยในตุรกี ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 13-17 กุมภาพันธ์ 2556 งานนี้นอกจากผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในนามสื่อ เปิดโลกการศึกษามุสลิม หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ยังแฝงไปด้วยอดีตนายกสมาคมนักเรียนไทย ณ กรุงไคโร และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโรประเทศอียิปต์
การเดินทางไปครั้งนี้ ผมประทับใจกับความตั้งใจ ของอดีตครูซึ่งกลายมาเป็นเอกอัครราชทูตในตุรกี และด้วยจรรยาบรรณการเป็นครูในมาดนักการทูต "สำหรับผม ทุกอย่างที่ทำเพื่อความก้าวหน้าและเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเยาวชนไทยในอนาคต ทุกครั้งที่นักศึกษาเข้ามายังสถานทูต และออกไปละหมาด ผมตัดสินใจเปิดที่ทำการซึ่งเป็นห้องว่างไว้เป็นที่ละหมาดของนักศึกษาและของพี่น้องมุสลิมที่จะเดินทางมายังสถานเอกอัครราชทูต" ประโยคสั้นๆ คือที่มาของความประทับใจของผมในการสัมมนาในครั้งนี้
รัฐกิจ มานะทัต เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี อธิบายต่อว่าเป็นความตั้งใจจากใจจริงของเขา ที่ต้องการให้ทุกคนหันมามองถึงความสำคัญและความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในประเทศตุรกี ที่น่าจะเป็นการเปิดทางแนวการศึกษาใหม่ให้นักศึกษาไทยที่ต้องการความก้าวหน้าในชีวิต โดยเฉพาะความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างผู้ที่มีความเชื่อแตกต่างกัน และขอให้นักศึกษาไทยใช้ความรู้ ความสามารถ และศักยภาพที่แต่ละคนมีให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของการจัดงานชุมนุมนักศึกษาไทย ซึ่งเน้นในบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการเพื่อเอื้ออำนวยต่อการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างอิสระ ตรงไปตรงมา ระหว่างนักศึกษาผู้เข้าร่วมงานกับผู้อภิปราย/วิทยากร ซึ่งการบรรยายและอภิปรายในงานชุมนุมนักเรียนไทยฯ ประกอบด้วย (1) การบรรยายในหัวข้อ "บทบาทของตุรกีในบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลังอาหรับสปริง และทิศทางนโยบายต่างประเทศของไทยต่อตุรกีและภูมิภาคตะวันออกกลาง" โดย ผศ.ดร.ชูเกียรติ พนัสพรประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแถบตะวันออกกลาง
(2) การสัมมนาในหัวข้อ "บทบาทของนักศึกษาไทยมุสลิมในตะวันออกกลาง/ตุรกีกับการพัฒนาประเทศ" โดย อิศร ปกมนตรี เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ, ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ดลหมาน ผ่องมะหึง คอลัมนิสต์ คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม หนังสือพิมพ์คมชัดลึก, อภิชาติ หมื่นทอง ประธานสมาคมนักเรียนไทยในโมร็อกโก, มูซันนา วงษ์สันต์ ประธานสมาคมนักเรียนไทยในตุรกี และศักดา โซ๊ะเฮง อดีตประธานสมาคมนักเรียนไทยในไคโรในพระบรมราชูปถัมภ์
(3) การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับการศึกษาและดำเนินชีวิตในต่างประเทศและการสร้างเครือข่ายระหว่างนักเรียนไทยมุสลิมในตะวันออกกลางและแอฟริกาโดยนักเรียนไทยที่เข้าร่วมงาน
นอกจากนี้ ยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการแปลและการเป็นล่ามเบื้องต้น โดย ดร.ธีรวัฒน์ ภูมิจิตร ผู้อำนวยการสถาบันเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ และการอบรมเชิงปฏิบัติการกลุ่มย่อยการเขียน Statement of purpose เพื่อการศึกษาต่อและการขอทุนการศึกษา โดย ดร.ธีรวัฒน์ และ ผศ.ดร. ชูเกียรติ เพื่อยกระดับทักษะและความรู้ภาษาอังกฤษที่จำเป็นในชีวิตประจำวันและการศึกษาให้แก่นักเรียนไทยที่เข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ ในระหว่างงานชุมนุมนักเรียนไทยฯ อิศร ปกมนตรี เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง ในนามของกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้มอบทุนสนับสนุนการศึกษาจำนวน 10 ทุน ทุนละ 25,000 บาท แก่นักเรียนไทยในตุรกี ซึ่งส่งเรียงความเข้าประกวด และผ่านการคัดเลือกทั้งการสอบสัมภาษณ์และการพิจารณาจากความจำเป็นและผลการศึกษาประกอบ วัตถุประสงค์ของทุนสนับสนุนการศึกษาดังกล่าว คือ เพื่อลดภาระด้านการเงินซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาของนักเรียน นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตยังได้ประชาสัมพันธ์การเปิดสมัครขอรับทุนสนับสนุนการอบรมภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มระดับความรู้และทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนไทยในตุรกีให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพในอนาคตด้วย
การร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ ผมมองเห็นการทำงานของข้าราชการจากกระทรวงการต่างประเทศเป็นการทำงานของเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ โดยมีท่านทูตรัฐกิจ ผู้บริหารเป็นผู้นำพาความคิดใหม่ๆ เพื่อสังคมเยาวชนมุสลิมรุ่นใหม่ให้ก้าวหน้าไปไกลอย่างจริงใจและจริงจัง นี่คือการทำงานระบบราชการที่เข้าถึงความคิด อุดมการณ์ และมีเป้าหมายเพื่อสร้างบุคลากรที่ดีของสังคม ผู้บริหารอย่างนี้ ที่จะนำพามาซึ่งความมีค่าและความสามัคคีของคนในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศไทย
...............................................
(คอลัมน์เปิดโลกการศึกษามุสลิม ตอน : 'สร้างฝัน'นักเรียนไทยในตุรกี)