
หนังสือที่เธอถือมา : ครู-นักเขียน
หนังสือที่เธอถือมา : ครู-นักเขียน : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม
๑.
‘บางคน-ครึ่งหนึ่งเป็นครู ครึ่งหนึ่งเป็นนักเขียน หรือศิลปิน’
กวี หรือนักเขียน จำนวนไม่น้อยที่มีสถานะเป็นครู ภาคส่วนหนึ่งรับราชการ ภาคส่วนหนึ่งทำงานสร้างสรรค์วรรณกรรม หลายคนโดดเด่นทั้งผลงานทางวิชาการ และวรรณศิลป์ นับชื่อดูแล้วก็เห็นเป็นส่วนใหญ่เลยทีเดียว มีส่วนน้อยที่ยึดการเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว ด้วยการเขียนหนังสืออย่างเดียวมันไม่ง่ายที่จะเป็นอาชีพสำหรับเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ครูหลายคนถึงกับเคยบอกเวลาอึกอัดกับระบบ อยากลาออกไปเขียนหนังสืออย่างเดียว แต่กลัวอดตาย
ครูที่เป็นนักเขียน นักเขียนที่เป็นครู จึงมีจำนวนมาก อาชีพที่ดำรงรักษาอุดมคติสมัยหนุ่มสาววัยเล่าเรียนไว้ได้นานที่สุด มักเป็นอาชีพครู คนเป็นครูก็ต้องอยู่กับการสอนการเรียนการเขียนการอ่าน อยู่กับหนังสือตำราวิชาการ อยู่กับการสื่อสารต่อลูกศิษย์ลูกหา ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับการเขียนหนังสือ หากรักและใฝ่ฝันทางการเขียนด้วยแล้ว มันเป็นสถานะเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกันได้ ส่วนจะแบ่งภาคให้เวลากับส่วนไหนแค่ไหนอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนบริหารจัดการ บางคนเป็นถึงระดับผู้บริหาร แต่ก็มารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่โดดเด่นได้ เป็นทั้งครูในระบบที่ดี และศิลปินอิสระที่เด่น บางคนอาจขอแค่กลางๆ เป็นครูไป เขียนหนังสือตามใจรักไป เพราะเมื่อรักการเขียนแล้ว ดีๆ ชั่วๆ ก็มักหยุดมันไม่ได้
ทุกสถาบันการศึกษาต่างมีส่วนภาษาวรรณกรรมให้ศึกษาเรียนรู้ คนเป็นครูบาอาจารย์ กับคนเขียนหนังสือ จึงมักรู้จักมักคุ้น และร่วมกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมกันเสมอ ด้วยส่วนหนึ่งครูก็ต้องมีกิจกรรมสร้างผลงาน โดยอาศัยนักเขียนทั่วไป
๒.
เทียวเข้าเทียวออกทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง จนมีผู้เรียก ‘ครู’ หรือ ‘อาจารย์’
ในชีวิตเคยฝันอยากเป็นครูเหมือนกัน แต่ไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนจบเป็นครู จึงมาเป็นครูในอีกสถานะ ไม่ได้รับราชการ ไม่มีเงินเดือน ไม่มีระบบระเบียบ แต่เมื่อครูในระบบเชิญไป ก็เข้าไปตามระบบระเบียบที่พึงมี จะให้แลกบัตร ให้ลงชื่อ ให้ช่วยเขียนอะไรเป็นที่ระลึก ก็เขียนได้ตามกำลัง ลงลายมือชื่อเกียรติบัตรให้นักเรียนเป็นร้อยๆ แผ่น ก็ทำมาแล้วหลายต่อหลายโรงเรียน ไปๆ มาๆ ก็เริ่มจะกลายเป็นผู้อาวุโสในกลุ่มนักเขียนหรือกลุ่มครูเสียแล้ว ระดับผู้บริหารหลายโรงเรียนยังเรียกผมว่าพี่
จากคนพูดน้อย กลายเป็นคนพูดมาก เพราะเจอภาคบังคับบ่อยๆ พูดคนเดียวต่อเนื่องกัน ๔-๕ ชั่วโมงก็มี รู้รสชาติเจ็บคอเพราะคอแตกทีเดียว โดยเฉพาะกิจกรรมค่ายวรรณกรรมที่มีการเวียนฐานเวียนกลุ่ม พูดเรื่องเดิมๆ แต่ผู้ฟังเปลี่ยนหน้าไปเรื่อย ถึงวันนี้ก็ไม่รู้คนที่เคยฟังผมพูดๆ มา จะมีสักกี่ร้อยกี่พันคน
เวลามีคนทัก ‘สวัสดีครับครู/สวัสดีค่ะครู...จำผมได้ไหมครับ/จำหนูได้ไหมคะ?’ จึงมักจำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง เพราะบางคนเคยฟังผมพูดตอนเขาเรียนมัธยม ตั้งสิบหรือยี่สิบปีแล้วก็มี
๓.
ครึ่งที่เป็นเหมือนครูก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ครึ่งที่เป็นศิลปินก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดอารมณ์รู้สึกนึกคิด
พูดกับนักเรียนนักศึกษา หลายครั้งที่เตรียมเอกสารหรืออุปกรณ์ไป แต่กลับไม่ได้ใช้ นอกจากไม่ถนัดในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือแล้ว สถานการณ์ของห้องเรียนและผู้ฟังก็เปลี่ยนไปตลอดเวลา
คนมากไป คนน้อยไป ผู้ฟังเป็นผู้ใหญ่ ผู้ฟังเป็นวัยรุ่น ผู้ฟังเป็นเด็ก ผู้ฟังหลุกหลิกไม่มีสมาธิ ผู้ฟังคุยกันเอง ผู้ฟังหลับ อะไรเหล่านี้ทำให้ต้องพลิกแพลงการพูดตลอดเวลา ขืนพูดตามเอกสารที่เตรียมเป๊ะๆ ก็จะไปกันใหญ่ สำหรับนักเรียนแล้ว วิธีทำให้เขานิ่งฟังก็คือ พูดเสียงดังฟังชัด หรือหากลอนตลกๆ มาอ่านเป็นตัวอย่าง อาศัยมีกลอนจำนวนมากอยู่ในหน่วยความจำ ก็เรียกเสียงเฮเสียงฮาได้บ้าง กลายเป็นคนพูดจริงจังบ้างตลกบ้าง ประเภทขึงขังทางวิชาการอย่างเดียวนี่ ทำไม่ค่อยเป็นแล้ว นานๆ เข้าผมก็ไม่ค่อยได้พูดกับผู้ใหญ่ กลายเป็นได้พูดกับนักเรียนนักศึกษาเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักเรียนมัธยมนี่มากเลย
หลายครั้ง รู้สึกพูดทางเดียวเกินไป ก็ต้องไปหาทางฟังคนอื่นพูดบ้าง เพื่อปรับสมดุลให้ตัวเอง!
--------------------
(หนังสือที่เธอถือมา : ครู-นักเขียน : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม)