ไลฟ์สไตล์

ก่อนบุกอาเซียนต้องรู้'วัฒนธรรมเพื่อนบ้าน'

ก่อนบุกอาเซียนต้องรู้'วัฒนธรรมเพื่อนบ้าน'

23 ก.พ. 2556

ก่อนบุกอาเซียน ต้องรู้'วัฒนธรรมเพื่อนบ้าน' ก่อนอันดับแรก : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ

                ปัจจุบันสังคมให้ความสำคัญกับงานวัฒนธรรมในเชิงการสร้างสังคมและเรื่องเศรษฐกิจ กระทรวงวัฒนธรรมมีบทบาทเป็นฐานด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่เข้ารับตำแหน่งมาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2555 กล่าวว่า ไม่หนักใจ เพราะทำงานกับกระทรวงวัฒนธรรมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง คุ้นเคยกับงาน และบุคลากรในกระทรวงทุกกรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวทางการทำงานในรูปแบบของ “วัฒนธรรมเชิงอนุรักษ์” นับเป็นวัฒนธรรมแบบองค์รวม ทั่วโลกมีปฏิสัมพันธ์กับคนได้อย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมมีการไหลเลื่อนกันได้ เป็นการไหลเลื่อนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจากต่างประเทศและไทย การส่งเสริมวัฒนธรรมไทยไปต่างประเทศ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี เข้าใจมากขึ้น ผ่านสื่อทางด้านวัฒนธรรม เช่น ภาพเขียน ดนตรี การแสดง เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน สื่อเหล่านี้สามารถส่งเสริมด้านเศรษฐกิจด้วย ตัวอย่างเช่น เกาหลี สอดแทรกในสื่อ และส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น

                "การเตรียมความพร้อมสู่อาเซียน ไม่ใช่แค่ภาคราชการเท่านั้น ภาคธุรกิจก็ต้องเตรียมความพร้อมด้วย ต้องรู้จักวัฒนธรรมของทุกประเทศสมาชิกอาเซียน ยิ่งการเปิดเสรีอาเซียน หรือ เออีซี ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ ต้องเตรียมความพร้อมของคนไทยทุกคนให้รู้จักว่า อาเซียนคืออะไร มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างไร มีการแลกเปลี่ยนระหว่างศิลปินกับศิลปิน เชื่อมโยงกัน เป็นการสร้างการรู้เขารู้เรา และเรื่องวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้"

                ในปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดอบรมผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจวัฒนธรรมอาเซียนเป็นอันดับแรก หากเข้าไปลงทุน หรือทำผลิตภัณฑ์ขายในอาเซียนต้องเข้าใจวัฒนธรรม และภาษาของประเทศนั้นๆ ก่อน เช่น ความถูกต้องมีการแลกเปลี่ยนเลื่อนไหลกัน ศิลปะการแสดง ฝีมือ งานช่าง ความรู้เรื่องเครื่องจักสาน

                ปลัดกระทรวงวัฒนาธรรม กล่าวอีกว่า กัมพูชา ไทย ลาว มีความแตกต่าง มีอัตลักษณ์ของตัวเอง จะรักษา แลกเปลี่ยน หรือรับของใครมา จะได้รู้ว่า พื้นฐานของตัวเองคืออะไร ไม่ใช่รับที่อื่น แล้วเผลอทิ้งของตัวเราไป เรื่องเล่า ตำนาน ก็เป็นมรดกวัฒนธรรม เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่อยู่ การทำมาหากิน วิถีชีวิต จะใกล้เคียงกัน แต่ปรับไปตามท้องถิ่น

                "ในภูมิภาคอาเซียน มีวัฒนธรรมร่วมหลายเรื่อง แต่ต้องรู้ว่าวัฒนธรรมเหล่านี้อยู่ในประเทศเราหรือไม่ หากอยู่ก็สามารถขึ้นทะเบียนได้ การฝึกอบรม เชิญผู้นำส่วนท้องถิ่น ทำนุบำรุงรักษาวัฒนธรรม ส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นการต่อยอดความรู้ให้แก่ผู้นำองค์กรส่วนท้องถิ่น ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมกำลังทำหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยมหิดล เชิญผู้นำทั่วประเทศเข้ามาเรียน สร้างชุดความรู้เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชน และนักเรียน วัฒนธรรมที่จับต้องได้ วัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ เช่น ภูมิปัญญา การแสดงต่างๆ มีความเหมือน ความแตกต่าง ศาสนา เรื่องศาสนิกสัมพันธ์ เพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่าเราเป็นอย่างนี้ และคนอื่นเป็นอย่างไร"

                นอกจากนี้ยังมีการให้รางวัลท้องถิ่น สำหรับหน่วยงานที่ทำงานวัฒนธรรมในท้องถิ่นตัวเองได้ดี โดยพิจารณาในโครงการต่างๆ ที่ทำในปีที่ผ่านมา รวมแล้ว 500 กว่าแห่ง เป็นกำลังใจให้ท้องถิ่นที่จะทำงานเรื่องวัฒนธรรมต่อไป
 "วัฒธรรมมีความใกล้ชิดกับการใช้ในชีวิตประจำวัน เห็นดาราใช้โทรศัพท์อะไร คนดูก็จะใช้โทรศัพท์ยี่ห้อนั้น ทำให้เห็นว่า ประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่ดี มีคนที่มีอัธยาศัยดี มีสิ่งสวยงามมากมาย อยากให้ต่างประเทศได้มาเห็นวัฒนธรรมจริงๆ ไม่ใช่วัฒนธรรมที่สร้างขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวดูอย่างเดียว"

                ในฐานะปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่ดูนโยบายของกระทรวง และยุทธศาสตร์ ปริศนากล่าวว่า เป็นการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐมนตรีและรัฐบาลมาสานต่อ ดูแลว่า มีการติดขัดอะไร ต้องแก้ไข ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กฎหมาย พัฒนาบุคลากร สร้างเครือข่ายการทำงาน อำนวยความสะดวกให้กรมต่างๆ ทำงานร่วมกันในกระทรวง บูรณาการการทำงานให้ไปทิศทางเดียวกัน

                "วัฒนธรรมไม่ใช่การอนุรักษ์ แต่ต้องผสมผสาน สืบต่อ และนำวัฒนธรรมนั้นไปร่วมสมัย ดำรงชีวิตอยู่ได้ ประกอบชีวิตอยู่ได้ พร้อมกับการรักษาวัฒนธรรม"

                เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้เปิด “หอศิลป์ราชดำเนิน” ขึ้นอีกแห่ง อยู่ในสังกัดสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหอศิลป์ใหม่ล่าสุดและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ขณะนี้ ตึกนี้เป็นตึกเก่าบนถนนราชดำเนิน เดิมเป็นที่ทำการของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารทหารไทย และบริษัทเอกชนต่างๆ ที่หมดสัญญาเช่าแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมได้ประสานเพื่อเช่าอาคารจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

                แนวคิดของหอศิลป์นี้ นำมาจากแนวคิดของ “เมืองเวนิส” เป็นการปรับอาคารเก่าที่สมควรอนุรักษ์ให้มีสภาพดังเดิมด้านรูปลักษณ์ภายนอกของอาคาร แต่ด้านในสามารถปรับปรุงได้ ในต่างประเทศหลายๆ ประเทศแถบยุโรป ใช้ตึกเก่าปรับข้างในให้เป็นหอศิลป์ ซึ่งมีความเหมาะสม สอดคล้อง ไม่ต้องปรับมาก หากใช้อาคารที่เป็นสถานที่ราชการ หรือเอกชน ต้องมีการตกแต่งภายใน ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพมาก แต่การทำหอศิลป์รักษาสภาพเดิมทั้งหมด โครงสร้าง ผนัง เดิมทั้งหมด อนุรักษ์ทั้งภายในภายนอก ด้านหลังเป็นสัญลักษณ์ของการจัด งาน Asian International Art Exhibition (AIAE) ครั้งที่ 27 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เปิดให้เข้าชมได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

               ............................................

               "การเตรียมความพร้อมสู่อาเซียน ไม่ใช่แค่ภาคราชการเท่านั้น ภาคธุรกิจก็ต้องเตรียมความพร้อมด้วย ต้องรู้จักวัฒนธรรมของทุกประเทศสมาชิกอาเซียน ยิ่งการเปิดเสรีอาเซียน หรือ เออีซี ที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้ ต้องเตรียมความพร้อมของคนไทยทุกคนให้รู้จักว่า อาเซียนคืออะไร มีผลกระทบวิถีชีวิตอย่างไร มีการแลกเปลี่ยนระหว่างศิลปินกับศิลปิน เชื่อมโยงกัน เป็นการสร้างการรู้เขารู้เรา และเรื่องวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้"

               
............................................

(ก่อนบุกอาเซียน ต้องรู้'วัฒนธรรมเพื่อนบ้าน' ก่อนอันดับแรก : คอลัมน์สัมภาษณ์พิเศษ )