ไลฟ์สไตล์

บอกลาโลกมืดทารกเกิดก่อนกำหนด

บอกลาโลกมืดทารกเกิดก่อนกำหนด

22 ก.พ. 2556

บอกลาโลกมืดทารกเกิดก่อนกำหนดผู้ป่วยเข้าถึง-รพ.รวมเครือข่ายสุขภาพแม่-ทารก โดย... ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ รายงาน

          สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เวลาเดินทางไปโรงพยาบาลคือ ภาพเหล่าบรรดาญาติพี่น้องของผู้ป่วยที่มาเฝ้าอาการป่วยให้กำลังใจ นั่งปูเสื่อตามใต้ต้นไม้ครอบครัวหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 คน บางครอบครัวยกครัวเล็กๆ มาด้วยหวังลดค่าใช้จ่าย บางครอบครัวมีเด็กต้องติดเปลมาด้วย ซึ่งพบเห็นได้ง่ายตามโรงพยาบาลภาคอีสาน
 
          ล่าสุดมีโอกาสเดินทางไปที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้เห็นและสัมผัสรู้สึกได้ถึงความหดหู่ใจ และเมื่อได้รับทราบข้อมูลจาก ศ.คลินิก นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2556 ในโอกาสลงพื้นที่เยี่ยมชม “การดูแลรักษาทารกเกิดก่อนกำหนดที่มีจอตาเจริญเติบโตผิดปกติ” ภายใต้โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์
 
          ศ.คลินิก นพ.โชคชัย บอกว่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เป็นศูนย์กลางของการรักษาผู้ป่วยหลายโรคในภาคอีสานเหนือหนึ่งในนั้นคือ โรคจอตาเจริญเติบโตผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด (ROP) ที่ต้องรักษาเหล่านี้ใน 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ แต่ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนจักษุแพทย์เชี่ยวชาญที่ทำการตรวจและวินิจฉัย อุปกรณ์ไม่เอื้ออำนวย ปัญหาการเดินทางที่ยากลำบาก ทำให้ผู้ปกครองมีความยากลำบากในการพาบุตรมาพบแพทย์ ปัญหาเรื่องเตียงในไอซียูไม่เพียงพอ ส่งผลให้ทารกสูญเสียการมองเห็นตลอดชีวิต 
 
          "แม่คลอดก่อนกำหนดมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้จำนวนทารก ROP ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยโดยเฉพาะในภาคอีสาน แต่แพทย์ที่ตรวจและรักษาได้มีเพียงคนเดียวใน 4 จังหวัด คือ พญ.พรรณทิพา ว่องไว ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ซึ่งทำงานหนักมาก แต่ต่อไปนี้แนวคิด Mobile Unit และเครื่องมือตรวจจอตาที่ชื่อว่า RetCam จะช่วยหมอพรรณทิพา โดยให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นแม่ข่าย ภายใต้การบริหารของ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ผอ.โรงพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้การสนับสนุนเรื่องการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบสารสนเทศ ตลอดจนเรื่องการฝึกอบรมแพทย์ และพยาบาล เป็นต้น" ศ.คลินิก นพ.โชคชัย  กล่าว
 
          Mobile Unit และเครื่องมือ RetCam ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างไร นพ.ธราธิป โคละทัต ในฐานะผู้จัดการโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก ในพระอุปถัมภ์ฯ  บอกว่า Mobile Unit  และเครื่องมือตรวจจอตาที่ชื่อว่า RetCam คือออกไปตรวจรักษา และส่งภาพถ่ายจอตามาให้จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัย โดยที่คนไข้ไม่ต้องยากลำบากเดินทางเข้ามารักษาใน จ.ขอนแก่น หรือการแชร์อุปกรณ์ดูแลรักษาระหว่างโรงพยาบาลในเครือข่าย เช่น เครื่องยิงเลเซอร์จะสามารถลดความรุนแรงได้ระดับหนึ่ง และที่สำคัญเหนือกว่าสิ่งอื่นใดทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างก็ตระหนักและเห็นพ้องต้องกันว่า วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือ การป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนดหรือการให้ยายับยั้งเมื่อมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
 
          ทั้งนี้ Mobile Unit  จะเป็นประโยชน์สูงสุดเมื่อโรงพยาบาลในเครือข่าย 4 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ร้อยเอ็ด  โรงพยาบาลศูนย์มหาสารคาม  โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น และโรงพยาบาลศูนย์กาฬสินธุ์ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยในวันนี้ (14 ก.พ.) ผู้บริหารทุกโรงพยาบาลได้เดินทางมาลงพื้นที่ นพ.ธราธิปดีใจกับทุกเสียงให้คำตอบเป็นเสียงด้วยกันว่า จะร่วมทำงานเป็นเครือข่ายในการประสานงานทั้งการแจ้งยอดทารกเกิดก่อนกำหนด ประสานงานการรักษาว่าจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไหน มีเตียงไอซียูรองรับหรือไม่ เป็นต้น
 
          พญ.พรรณทิพา จักษุแพทย์ และอาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จักษุแพทย์เชี่ยวชาญเพียงหนึ่งเดียวใน 4 จังหวัด กล่าวว่า ข้อมูลสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น พบว่า ทารกที่เกิดก่อนกำหนด 5 ใน 100 คนเสี่ยงตาบอด แต่หากได้รับการรักษาในเวลาที่เหมาะสมก็จะมีดวงตาปกติ แต่ทารกที่ต้องตาบอดเพราะการรักษาทารก 1 คนต้องได้รับการตรวจตา 4-6 ครั้ง แต่ในช่วงที่ทารกกลับบ้านไปแล้วแพทย์นัดมาตรวจครั้งต่อไป แม่ไม่พาบุตรมาตามนัดด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระยะทาง ฐานะไม่ค่อยดี เช่น ครอบครัวหนึ่งหมอนัดวันนี้ แต่แม่พาเด็กมาพรุ่งนี้ ผลปรากฏว่าตรวจเสร็จไม่สามารถรักษาได้ทันเวลา ทารกต้องตาบอด พญ.พรรณทิพาก็อดด่าไม่ได้ แต่พอถามว่าทำไม แม่ทารกบอกว่า ไม่มีเงินต้องเอาที่นาไปจำนำ คนรับจำนำนัดเมื่อวานนี้ แต่พอไปถึงที่บ้านเขาเขาไม่อยู่ ต้องใช้เงินเหมารถเพื่อนบ้านออกมา เพราะบ้านอยู่ไกลไม่มีรถประจำทาง พอได้ฟังพญ.พรรณทิพาเงียบไม่ด่าเลย
 
          หากมีเครื่องมือ  RetCam ในรถตรวจเคลื่อนที่จะช่วยลดการเดินทางของทารกและผู้ปกครอง ช่วยลดค่าใช้จ่าย เวลา โดย Mobile Unit นี้จะลงพื้นที่ครั้งแรกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น และวันที่ 22 พฤษภาคม ลงพื้นที่โรงพยาบาลศูนย์ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ และเมื่อได้เครื่องมือแล้วก็จะลงพื้นที่ทุกสัปดาห์ แต่การลงพื้นที่วันที่ 20 พฤษภาคมนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท clarity medical systems ให้ยืมอุปกรณ์มาช่วยเหลือทารกก่อน เพราะ RetCam ต้องรอการสนับสนุนจากโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกก่อน
 
          ทั้งนี้ Mobile Unit และ RetCam จะมีเพียงโรงพยาบาลศรีนครินทร์ 1 เครื่อง หากสนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทารกเหล่านี้ทางมูลนิธิศิริราชได้จัดทำกิจกรรม 2 กิจกรรมเพื่อหาทุนช่วยในโครงการดังกล่าว 1.กิจกรรมสร้างประติมากรรมพ่อหลวงของแผ่นดิน เปิดให้ประชาชนที่สนใจสั่งทำได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 2.ศิลปินชื่อดังวาดภาพประมวล ในวันที่ 27 เมษายน 2556 ที่โรงแรงดุสิตธานี เวลา 18.00-20.00 น. โทร.0-2412-2009, 0-2419-7658-9, 0-2419-7687-8