ไลฟ์สไตล์

แปรรูป'เปลือกมะพร้าว'แทนดิน

แปรรูป'เปลือกมะพร้าว'แทนดิน

22 ก.พ. 2556

แปรรูป 'เปลือกมะพร้าว' แทนดิน รองรับตลาดพืชผักออร์แกนิก : โดย...สุวรรณี บัณฑิศักดิ์

                           กล่าวสำหรับ Coco substrates เป็นวัสดุปลูกพืชแทนดินที่นิยมใช้กันในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งให้ความสำคัญกับการบริโภคพืชผักที่ปลอดสารเคมี พืชที่เป็นออร์แกนิก หรือการปลูกพืชกินเอง แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นสิ่งของหาง่าย ราคาถูก หรือแถมไม่มีราคา แต่เมื่อนำมาแปรรูปกลับสามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี

                           รัตชา เดชานุภาพ กรรมการบริหาร บริษัท คานาพ (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับว่า วัสดุปลูกพืชแทนดิน ยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตรจำนวนมากและมีการใช้กันในท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่เป็นการใช้ระดับครัวเรือน ในปริมาณที่ไม่มาก แต่ในต่างประเทศมีการผลิตวัสดุปลูกพืชแทนดินมานานกว่า 20 ปี

                           “วัสดุปลูกพืชแทนดินคุณภาพสูงที่เราผลิตเรียกว่า Coco substrates ผลิตมาจากเปลือกมะพร้าวและขุยมะพร้าว ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ที่มีอยู่ทั่วไปในท้องถิ่นของสุราษฎร์ธานี จึงเป็นเหตุผลหลักในการตั้งโรงงานที่จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากเปลือกมะพร้าวแล้ว วัตถุดิบสำคัญอีกตัว คือ น้ำ โดยนำน้ำในบ่อธรรมชาติ ไปทดสอบในห้องปฏิบัติการของบริษัทแม่ที่เนเธอร์แลนด์ พบว่า เป็นน้ำที่ไม่มีการเจือปนของสารอันตราย ไม่มีของเสียสะสม เป็นน้ำที่มีแร่ธาตุ และสารอาหารสมบูรณ์อยู่แล้ว"

                           รัตชาเผยต่อว่า สำหรับกำลังการผลิตสูงสุดของโรงงานอยู่ที่ 5 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ส่วนใหญ่จะทำการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า เนื่องจากเรามีผลิตภัณฑ์ 5 ชนิด ลูกค้าสั่งตัวไหนมาก็ผลิตให้ตามนั้น ส่วนของวัตถุดิบ เราซื้อเปลือกมะพร้าวจากชาวสวนมะพร้าว และซื้อขุยมะพร้าว ซึ่งเป็นของเหลือจากโรงงานทำที่นอนใยมะพร้าว และด้วยราคาพืชผลทางการเกษตรมีการขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ต้นทุนราคาวัตถุดิบของเราไม่นิ่ง ส่วนการซื้อขายเปลือกมะพร้าวทั่วไปจะซื้อเป็นคันรถ รถบรรทุก 6 ล้อ คันละ 400 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าการรับซื้อในท้องตลาด โดยราคาทั่วไปอยู่ที่ 250 บาท โดยโรงงานรับซื้อเปลือกมะพร้าววันละ 1 หมื่นลูก ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และเสริมรายได้ให้เกษตรกรได้

                           "ก่อนหน้านี้ เปลือกมะพร้าวจะถูกทิ้งอยู่ในธรรมชาติ บางครั้งมีการเผา จนกระทั่งมีโรงงานทำที่นอนใยมะพร้าวในพื้นที่ใกล้เคียง แต่ก็ยังมีเปลือกมะพร้าวเหลืออยู่จำนวนมาก เราไม่กังวลเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากมะพร้าวเป็นพืชที่คนไทยบริโภคมายาวนาน และเป็นวิถีชีวิต อาจจะมีปัญหาด้านราคาบ้างในบางช่วง"

                           เธอระบุอีกว่า สำหรับตลาด เป็นตลาดในต่างประเทศ 60 เปอร์เซ็นต์ เช่น กลุ่มประเทศยุโรป ฝรั่งเศส ส่วนตลาดในประเทศ 40 เปอร์เซ็นต์นั้น ลูกค้าส่วนหนึ่งก็เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ จะเน้นการปลูกพืชปลอดสารเคมี หรือพืชออร์แกนิก ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศ หรือกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพ เชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกพืชน้อย แต่ต้องการปลูกพืชรับประทานเอง ก็จะใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา

                           ส่วนลูกค้าคนไทยยังไม่นิยมสินค้าประเภทนี้ เนื่องจากคนไทยให้ความสำคัญด้านราคามากกว่าคุณภาพ ในท้องถิ่นจะมีการนำเปลือกมะพร้าวมาหั่นหรือสับให้เล็กๆ แล้วเอาไปปลูกต้นไม้ พวกดอกไม้ กล้วยไม้ ซึ่งต่างจากผลิตภัณฑ์ของคานาพ ที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการปลูกพืชแบบออร์แกนิก ซึ่งตลาดออร์แกนิกในต่างประเทศเป็นตลาดที่ใหญ่  

                           นับว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมใหม่ทางภาคการเกษตรที่แปรสภาพของเหลือใช้จากภาคการเกษตรมาสร้างงาน สร้างมูลค่าได้เป็นอย่างดี

 

 

---------------------

(แปรรูป 'เปลือกมะพร้าว' แทนดิน รองรับตลาดพืชผักออร์แกนิก : โดย...สุวรรณี บัณฑิศักดิ์)