
'จุฬาฯ'แจงขอที่ดิน'อุเทน'คืน
จุฬาฯ แจงขอที่ดิน'อุเทนถวาย'คืน เพื่อใช้เป็นพื้นที่การศึกษา ชี้เห็นใจ หาทางช่วยเหลือ ไม่ทวงเงินค่าเสียหาย พร้อมฝากรัฐช่วยจัดสรรงบ หาพื้นที่เหมาะสม
18 ก.พ.56 ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการขอคืนพื้นที่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ว่า จุฬาฯกำหนดการใช้ประโยชน์จากที่ดินของมหาวิทยาลัยดังนี้ พื้นที่การศึกษา ประมาณ 51% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ด้านหอประชุมใหญ่ รวมไปถึงวิทยาเขตอุเทนถวาย, พื้นที่เพื่อธุรกิจ 20 % และพื้นที่ที่ให้ส่วนราชการต่างๆ เช่า 20 % ดังนั้น ขอยืนยันว่า พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของวิทยาเขตอุเทนถวาย จำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ทางจุฬาฯ จะนำไปพัฒนาเป็นศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน เพราะเป็นพื้นที่ ที่ จุฬาฯ กำหนดให้เป็นพื้นที่การศึกษาที่จะไม่เข้าไปแตะต้อง จะไม่มีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์เด็ดขาด
อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวต่อว่า วิทยาเขตอุเทนถวาย ฯได้ทำสัญญาเช่ากับจุฬาฯ พื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2478-2546 เป็นเวลา 68 ปี และตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมา จุฬาฯ ก็ได้เริ่มเจรจาขอคืนพื้นที่มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 38 ปีแล้ว เนื่องจากจุฬาฯ มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์ ฯ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ในการเสริมสร้างการแข่งขันของประเทศ รวมไปถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและที่ผ่านมาก็มีการเจรจาเพื่อหาทางขอคืนพื้นที่จากอุเทนถวาย ฯ มาโดยตลอด ซึ่งทางจุฬาฯ พยายามหาทางช่วยเหลือ เพราะหากยังไม่มีสถานที่แห่งใหม่ อุเทนถวายฯ ย้ายไปไม่ได้ จึงได้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ กรมธนารักษ์ ขอความอนุเคราะห์จัดหาพื้นที่ให้อุเทนถวายฯ โดยในปี พ.ศ.2545 กรมธนารักษ์ได้จัดหาพืนที่ให้จำนวน 36 ไร่ ที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
"ส่วนครม.จัดสรรงบฯให้เพื่อการก่อสร้างและขนย้ายประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งอุเทนถวายฯได้ทำบันทึกข้อตกลงกับจุฬาฯ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2547 ว่าจะขนย้ายและส่งมอบพื้นที่คืนให้จุฬาฯภายในวันที่ 30 ก.ย.2548 หากจำเป็นก็จะผ่อนผันให้ไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น ต่อมาปี 2548 ก็ได้มีการทำบันทึกร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ จุฬา ฯ ,สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ,สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอุเทนถวาย ฯ ที่ตกลงกันว่าอุเทนถวายฯจะย้ายไปก่อสร้างสถาบันใหม่ที่ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการและย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พ.ย.2548 จากนั้นเมื่อสิ้นสุดสัญญา สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ฯ ก็จะเข้ามาใช้พื้นที่นี้ต่อ แต่การย้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ และจุฬาฯ ก็ได้ทำหนังสือขอให้อุเทนถวายฯคืนพื้นที่ให้จุฬาฯอีก 3 ครั้งคือ วันที่ 6 ธ.ค.2549,วันที่ 13 ก.พ.2550 และวันที่ 10 ก.ค.2550" ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว
ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวต่ออีกว่า ต่อมาปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ซึ่งระหว่างนั้นสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา 2 ครั้ง และปี 2552 กยพ.ก็มีมติชี้ขาดโดยให้อุเทนถวาย ขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ ส่วนผลการทูลเกล้าถวายฎีกานั้น สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาจุฬาฯ ก็ไม่ได้ทวงเงินค่าเสียหายจากอุเทนถวายแต่อย่างใด
“ผมเข้าใจดีและรู้สึกเห็นใจอุเทนถวาย เพราะการจะย้ายไปที่แห่งใหม่ได้ ก็ต้องมีพื้นที่ใหม่รองรับ ได้รับงบฯสนับสนุนการก่อสร้างอาคาร และการขนย้าย ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ให้ที่ดินที่ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการแต่เมื่อไม่มีการย้ายไป กรมธนารักษ์ก็ใช้พื้นที่เพื่อการอื่นไปแล้ว และก็มีหน่วยราชการเสนอที่ให้ที่ ต.ศาลายา จ.นครปฐม แต่ย้ายไม่สำเร็จ และพื้นที่ถูกใช้ไปแล้วเช่นกัน ดังนั้น การจะแก้ไขกรณีของอุเทนถวายได้ ต้องขอความร่วมมือจากรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานต่างๆ จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมให้ รวมไปถึงงบฯด้วยและเราก็คงต้องหารือกันให้เข้าใจทุกฝ่ายซึ่งจุฬาฯก็พร้อมเจรจาหาข้อยุติ” อธิการบดีจุฬาฯกล่าว
นอกจากนี้ เรื่อง ร.ร.ปทุมวัน เป็นคนละกรณีกับ อุเทนถวาย เพราะพื้นที่ของ ร.ร.ปทุมวัน เป็นส่วนที่จุฬาฯมีแผนแม่บทที่จะปรับปรุงพื้นที่นั้น ส่วนเป็นสวนสาธารณะสำหรับคนกรุงเทพฯ และขยายพื้นที่ถนน จุฬาฯซอย 5 ให้กว้างขึ้นเพื่อลดปัญหาจราจรโดยจะรวมศูนย์ราชการของกทม.ไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนบริเวณ ได้แก่ สถานีตำรวจปทุมวัน สถานีดับเพลิงปทุมวัน สาธารณสุขกทม. ส่วนร.ร.ปทุมวัน นั้น เป็นเรื่องที่ กทม.จะจัดการ เพราะ กทม.ก็ประสบปัญหา ร.ร.มีขนาดเล็กลง จำนวนนักเรียนเข้าเรียนลดลง โดยเขตปทุมวันมี ร.ร.ประถม 8 แห่ง และมีโครงการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อการบริหารจัดการ และที่ผ่านมา จุฬาฯ ก็ได้หารือร่วมกับ สำนักงานการศึกษา กทม. , ร.ร.ปทุมวัน และตัวแทนจาก กทม. ซึ่งก็เข้าใจกันดี แต่เมื่อมีประชาชนเดือดร้อน จุฬาฯก็จะหารือกับทุกฝ่ายอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เด็กเดือดร้อน เพราะไม่ใช่ความผิดของเด็กและผู้ปกครอง หาก สำนักการศึกษากทม. เห็นว่า จะคงร.ร.ปทุมวันไว้ และยุบรวมโรงเรียนอื่นมาไว้ที่นี่ ก็ต้องหารือว่า จะวางแผนจัดการศูนย์ราชการของเขตปทุมวันอย่างไร ต่อไป
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ในเรื่องการขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อการย้ายอุเทนถวาย นั้น ขณะนี้ ตนยังไม่รู้ละเอียดแน่ชัดต้องขอเวลาหารือกับทางจุฬาฯ และพูดคุยกันให้ครบถ้วนทุกประเด็นก่อน ซึ่งทราบว่าทางจุฬาฯ ได้ประสานเพื่อขอเข้าพบตนแล้วแต่ยังไม่กำหนดวันนัดหมายอย่างเป็นทางการ
นายสืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย กล่าวว่า ภายหลังที่มติคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น และกฎหมาย ได้มีคำสั่งให้อุเทนถวายฯ ย้ายพื้นที่ออกจากบริเวณที่ตั้งในปัจจุบัน โดยทางกรมธนารักษ์จะเข้ามาช่วยหาพื้นที่ให้นั้น ทางฝ่ายผู้บริหารของอุเทนถวาย ฯ ก็ประสานกับกรมธนารักษ์เพื่อเจรจาขอพื้นที่ใน จ.ต่างๆ ที่เหมาะสมมาตลอด โดยล่าสุดได้ขอพื้นที่ในส่วนของ ต.บางปิ้ง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ แต่ทางอุเทนถวายฯ คงจะไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดเพียงแห่งเดียว เพราะพื้นที่ดังกล่าวมหาวิทยาลัยศิลปากรก็ขอใช้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ สำหรับเรื่องการเรียกร้องของนักศึกษาที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ศิษย์เก่าดำเนินการขึ้นมาเอง ฝ่ายผู้บริหาร ข้าราชการของมหาวิทยาลัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะตั้งแต่มีคำสั่งออกมา ฝ่ายผู้บริหาร ข้าราชการของมหาวิทยาลัยก็ได้ดำเนินการไปตามคำสั่ง ไม่มีการออกมาเรียกร้องขอพื้นที่คืน ดังนั้น หลังจากนี้จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่นั้น ตนจึงไม่ทราบ ได้แต่พยายามกำชับ ห้ามปรามนักศึกษาไม่ให้กระทำการใดที่รุนแรง หรือนำมาสู่การทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย