
'1อบต.1ร.ร.ดี'แก้การศึกษาชาติ
เปิดวิสัยทัศน์ : ชูร.ร.สาธิตพี่เลี้ยง '1อบต.1ร.ร.ดี' แก้การศึกษาชาติ : กมลทิพย์ ใบเงิน ... เรื่อง / งานสารนิเทศ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ... ภาพ
"การจัดการศึกษาในรูปแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้แล้วกับสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงทุกวินาที จะรอเพียงกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียวไม่ได้ ชุมชน ท้องถิ่น ต้องมาช่วยกันก่อนทุกอย่างจะสาย ทำเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต"
คำพูดพรั่งพรูจากเรียวปาก คุณหญิงคนเก่ง หัวใจแกร่ง ผู้มากด้วยความรู้ ความสามารถ ทั้งเก่งและขยันคนนี้ "ศ.กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์" นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หญิงคนแรก และอดีตอธิการบดีหญิงคนแรกของจุฬาฯ
ค่านิยม "จ่ายครบจบแน่" ควรจะหมดไปจากสังคมการศึกษาในบ้านเรา เพราะคุณภาพบัณฑิตที่ผลิตออกมาปริมาณมากแต่ด้อยคุณภาพ ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศชาติ อีกทั้งบัณฑิตมีความเปราะบาง ไม่ขยัย อดทน สู้งาน น่าเป็นห่วงในปี 2558 ประเทศไทยต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราจะเอาอะไรไปสู้กับเขา แค่เพียงกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ก็สู้ลำบากแล้ว เมื่อบัณฑิตของไทยมีความอ่อนด้อยด้านภาษา ขาดทักษะชีวิต ที่จะเป็นใบเบิกทางการสร้างงานสร้างอาชีพเลี้ยงตัวเองได้
"เด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ ป.1-ม.6 เรียนทุกๆ วัน ทุกสัปดาห์ รวม 12 ปี แต่ยังใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ แปลว่าวิธีการสอนไม่ได้เรื่องหรือเปล่า คงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะหากไม่มีคุณครูที่สอนดีและสอนเก่ง ประเทศไทยก็คงไม่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ เพียงแต่ถึงเวลาที่เราต้องกลับมาทบทวน ให้การสนับสนุนครูเก่งและดีให้สามารถสอนเด็กได้เต็มเวลา ไม่ไปทำหน้าที่อื่นแทนการสอนหนังสือ"
การจัดการศึกษาไทยต้องมองการ "สร้างคน" เพื่อออกมาดูแลรับผิดชอบต่อสังคม ควรเริ่มกันตั้งแต่ระดับอนุบาล ต้องปลูกฝังแก่นความคิด ให้มีวินัย มีเจตคติที่ดี ต้องรู้ว่ามีหน้าที่อะไร มีสิทธิอะไร ต้องรู้สิทธิและหน้าที่ของตัวเอง และของคนอื่น มีระเบียบ ไม่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแบบตามใจ เด็กวัย 2-6 ขวบควรได้รับการพัฒนาในทุกๆ ด้าน สภาพแวดล้อมที่ดี เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ อีกทั้งไม่ควรยัดเหยียดความรู้ทางวิชาการให้เด็กๆ มากจนเกินไป
ย้อนวันวาน "ด.ญ.สุชาดา เสรีธรณกุล" ผู้ใช้เวลาในแต่วันหมดไปกับการละเล่นสนุกสนานกับน้องๆ ไม่สนใจการเรียนหนังสือจริงจัง ซุกซน ชอบปีนป่าน เล่นขายของ มิไย คุณแม่สมใจ คอยตักเตือนให้ขยันหมั่นเพียรเรียนหนังสือ ด้วยความรักความห่วงใย เกรงว่าหากผลการเรียนยังรั้งบ๊วยของห้องเรียนแบบนี้ เติบโตขึ้นจะเลี้ยงดูตัวเองไม่ได้ ทว่าคำพูดของ "คุณแม่" ไม่ทำให้เด็กหญิงวัยซนคนนี้ประสีประสา จนกระทั่งต่อมน้ำตาคุณแม่แตก ช็อก!!! ไม่เคยเห็นภาพคุณแม่แสนดีและขยันต้องมาเสียน้ำตา ด้วยความรักความห่วงใยอนาคตของลูกสาวคนโตเช่นนี้มาก่อน
ด.ญ.สุชาดา เริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง ด้วยการปฏิวัติการเรียนรู้ใหม่ ปรากฏว่า ผลการเรียนเริ่มขยับดีขึ้น จากสอบได้อันดับรั้งบ๊วยที่ 43 ไต่ขึ้นมาอันดับที่ 21, 15, 7 และอันดับที่ 1 จนกระทั่งมีผลการเรียนติดบอร์ด 50 คน เพราะ "น.ส.สุชาดา" รั้งอันดับที่ 7 นักเรียนไทยที่เก่งที่สุดของประเทศไทย สร้างชื่อให้แก่ "สกุล เสรีธรณกุล" และโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เป็นอย่างยิ่ง จากนั้นก้าวสู่รั้วจามจุรี สำเร็จการศึกษาพาณิชยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (เหรียญทอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคว้าปริญญาโท-เอกสาขาวิชาสถิติ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนก้าวสู่เส้นทางอาชีพหลากหลาย
ใครจะคาดคิดว่า เส้นทางชีวิตของคนคนหนึ่งจะผกผันด้วยคำอบรมสั่งสอนของบุพการี ที่ฝังรากลึกจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชีวิตครั้งยิ่งใหญ่ในด้านบวกได้อย่างมหัศจรรย์เช่นนี้ การจัดการศึกษาที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่วันเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ ครอบครัว ชุมชน สังคม ควรให้ความสำคัญและเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง
ทางรอดการศึกษาไทยในสายตา "ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์" (องค์การมหาชน) ชี้ว่า ชุมชน ท้องถิ่น องค์การปกครองส่วนตำบล (อบต.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ต้องมาร่วมมือรับผิดชอบการจัดการศึกษาของคนไทย เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้ดีและมีคุณภาพมากกว่านี้ เริ่มจากฐานรากของสังคมที่คลุกคลีกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ
"อบต.ใหญ่ๆ ที่มีเงินงบประมาณจำนวนมากๆ อยากให้มาช่วยกันสร้างหรือพัฒนาโรงเรียนดีๆ ให้มี 1 อบต.1โรงเรียนดี กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทุ่มเงินจ้างครูเก่งและดีมาสอนนักเรียน ให้เงินเดือนครูสูงๆ พัฒนาทักษะการสอนของครู ระดมมืออาชีพมาดูแล เช่น ให้โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ หรือสาธิตทั่วประเทศคอยเป็นพี่เลี้ยง 1 อบต. 1 โรงเรียนดี ทั้งด้านหลักสูตร การเรียนการสอน การบริหาร งานวิชาการ ฯลฯ เพื่อปั้นเด็กไทยให้เป็นคนเก่ง และดี ที่มีระเบียบ วินัย และโตขึ้นสามารถดูแลสังคมได้ เหมือน ร.ร.สาธิตที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานมาแล้ว"
เหนืออื่นใด การมี "1 อบต. 1 โรงเรียนดี" เป็นยุทธศาสตร์ล้ำเลิศ จูงใจให้เด็กและเยาวชนไทยไม่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อเข้ามาเรียนในเมืองใหญ่ๆ จนเกิดปัญหาต่างๆ ทางสังคมตามมามากมาย จนยากจะเยียวยา!!
--------------------
(เปิดวิสัยทัศน์ : ชูร.ร.สาธิตพี่เลี้ยง '1อบต.1ร.ร.ดี' แก้การศึกษาชาติ : กมลทิพย์ ใบเงิน ... เรื่อง / งานสารนิเทศ ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ... ภาพ)