
เสียงแม่ค้าหาบเร่อยากได้ประกันใช้
เสียงแม่ค้าหาบเร่-มอเตอร์ไซค์รับจ้าง อยากได้ประกัน-กองทุนใช้ยามแก่ : คอลัมน์เปิดโลกการเรียนรู้ : โดย...พลอยรุ้ง อุ่นวิเศษ, พรรณรพี กมลรัตน์
ขณะที่แรงงานในระบบกว่า 10 ล้านคน มีกองทุนประกันสังคมช่วยให้มีหลักประกันต่างๆ หลายด้าน ไม่นับกฎหมายคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานสากล ทว่าแรงงานนอกระบบ เช่น คนค้าขาย หาบเร่แผงลอย ขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตัดเย็บเสื้อผ้า แรงงานในภาคเกษตร และภาคบริการทำงานอิสระ ที่กสร.ตั้งเป้าขยายความคุ้มครอง ยังไม่มีหลักประกันมีแนวโน้มว่า จะมีกองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งที่ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ .2554 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ
"หากขยายความคุ้มครองแรงงานมายังอาชีพอย่างพวกป้าจริง อยากได้ประกันสุขภาพเอาไว้รักษายามเจ็บป่วย ถ้าจะใช้สิทธิบัตรทองก็ต้องกลับบ้าน เพราะสิทธิของเราอยู่ที่นั่น ตอนอยู่กรุงเทพฯ นี่เวลาป่วยไม่กล้าไปหาหมอ เพราะค่ารักษาแพง ได้แต่ซื้อยามากินเอง บางครั้งก็ไม่หายเพราะไม่รู้ว่าป่วยเป็นอะไร ถ้ามีจริงป้าจะสมัครแน่ๆ"
ปราณี สัมพันธ์ อายุ 48 ปี จากศรีสะเกษ รับจ้างขายน้ำดื่มที่หน้าตึกเนชั่น กล่าวว่า รับจ้างขายน้ำที่หน้าตึกเนชั่นประมาณ 2 ปี ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท ตกเดือนละ 9,000 บาท ย้ำว่าอยากได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพมากกว่าการมีสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือกองทุนเงินสะสม เพราะป้าปราณีมองว่า หากตายไปก็เอาไปไม่ได้
ส่วน อนุวัฒน์ สัสดี อายุ 31 ปี มอเตอร์ไซรับจ้าง ย่านสถานีรถไฟสามเสน เป็นคนกรุงเทพฯ บ้านอยู่แถวสะพานแดง แต่งงานแล้วมีลูก 2 คน ขับรถตั้งแต่ 7 โมงเช้าจนถึง 2 ทุ่ม บางวัน 4 ทุ่ม หักค่าน้ำมัน ค่าข้าว รายได้เฉลี่ยวันละ 300-500 บาท เมื่อก่อนพอใช้ แต่มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 300 บาท ทำให้ราคาอาหาร รายจ่ายอื่นๆ สูงตามไปด้วย
"อยากได้กองทุนเงินสะสมมากกว่าจะได้มีเงินเก็บไว้ให้ลูกหลาน ส่วนประกันสังคมหากทำมาแล้วส่วนตัวคงไม่ค่อยได้ใช้ หากเป็นกองทุนสะสม ให้บุคคลที่ไม่มีนายจ้าง ไม่ได้ทำงานบริษัทมั่นคงจะช่วยให้เรามีเงินเป็นก้อนได้บ้าง"
ขณะที่ สามิตร เสนคราม อายุ 47 ปี เป็นคนต่างจังหวัดมาขายลอตเตอรี่ในกรุงเทพฯ บอกว่าหากขายได้เยอะก็มีรายได้อยู่ที่ประมาณเดือนละ 8,000-9,000 บาท ตอนนี้ไม่มีสวัสดิการใดๆ เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เพราะสิทธิบัตรทองอยู่ที่โรงพยาบาลภูมิลำเนา แต่หากมีประกันสังคมมารองรับ ต้องดูรายละเอียดก่อนว่าแต่ละเดือนต้องจ่ายเบี้ยประกันเท่าไหร่ หากสูงเกินไปคงไม่สามารถจ่ายได้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีกองทุนกู้ยืมคราวจำเป็นที่ไม่ต้องมีบุคคลหรือหน่วยงานใดมาค้ำประกันด้วยจะดีมาก
ดารณี ยอดนารี อายุ 38 ปี มอเตอร์ไซค์รับจ้างย่านลาดพร้าวซอย 1 บ้านเดิมอยู่ จ.พระนครศรีอยุธยา เคยเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา ประสบเหตุน้ำท่วม บอกว่าหากรัฐมีนโยบายประกันสังคมสำหรับพ่อค้าแม่ค้า อยากให้สามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกที่ เพราะการเดินทางไปที่โรงพยาบาลของรัฐบาล หรือโรงพยาบาลที่เลือกไว้ อาจทำให้ล่าช้า เช่นคนที่อยู่จังหวัดหนึ่งแล้วย้ายไปหางานทำอีกจังหวัดหนึ่ง
คงต้องรอดูว่าการขยายความคุ้มครองแรงงานไปยังแรงงานนอกระบบในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ค่าจ้าง ไปจนถึงหลักประกันสังคมในลักษณะที่ใกล้เคียงกับแรงานในระบบ ที่กสร.กำลังศึกษาร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 9 กระทรวง หากประสบความสำเร็จ จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของแรงงานนอกระบบได้
........................................................
1. ปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กสร.มีนโยบายขยายความคุ้มครองแรงงานไปยังแรงงานนอกระบบ เพื่อให้มีหลักประกันเช่นเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับแรงงานในระบบ เช่น ความเป็นธรรมด้านรายได้ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ว่างานแต่ละประเภทควรจะได้รับค่าจ้างเป็นเงินเท่าไหร่ รวมทั้งความมั่นคงในชีวิต โดยมองไปที่หลักประกันสุขภาพ และด้านต่างๆ เช่นเดียวกับกองทุนประกันสังคมของแรงงานในระบบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเจ็บป่วย ชราภาพ ทุพพลภาพ เสียชีวิต เป็นต้น
2. อารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สปส.ส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท ผู้ประกันตน 70 บาท รัฐบาล 30 บาท ได้รับสิทธิ (1) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย นอนพักที่โรงพยาบาลตั้งแต่ 2 วันขึ้นไปได้รับเงินค่าชดเชย 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 20 วันต่อปี (2) ทุพพลภาพ 500-1,000 บาทต่อเดือน 15 ปี และ (3) เสียชีวิต สปส.จะให้เงินค่าจัดการศพ 20,000 บาท
ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 150 บาทผู้ประกันตน 100 บาท รัฐบาล 50 บาท ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 เพิ่มสิทธิกรณีบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน โดยคำนวณจากเงินที่รัฐบาลอุดหนุนเดือนละ 50 บาท รายปีปีละ 600 บาท แต่ถ้าต้องการรับเงินบำเหน็จชราภาพจ่ายเพิ่มไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ทั้งสองทางเลือกนี้ยังใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้
3. สุจิน รุ่งสว่าง ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ที่แรงงานนอกระบบอยากได้มากคือ การออมเงินเพื่อจะได้มีเงินไว้ใช้ในยามชราภาพ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอปรับปรุงกฎหมาย ก่อนหน้านี้เคยยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีให้ช่วยชะลอการแก้ไขกฎหมายและให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงรองรับและเปิดสมัครสมาชิกกองทุนกอช.ไปก่อน ค่อยแก้ไขภายหลัง แต่จนถึงเวลานี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
............................................
(เสียงแม่ค้าหาบเร่-มอเตอร์ไซค์รับจ้าง อยากได้ประกัน-กองทุนใช้ยามแก่ : คอลัมน์เปิดโลกการเรียนรู้ : โดย...พลอยรุ้ง อุ่นวิเศษ, พรรณรพี กมลรัตน์)