ไลฟ์สไตล์

ในโรงเรียน-นอกโรงเรียน

ในโรงเรียน-นอกโรงเรียน

17 ก.พ. 2556

หนังสือที่เธอถือมา : ในโรงเรียน-นอกโรงเรียน : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม


๑.

“แหล่งเรียนรู้เพียงหนึ่งเดียว คือ ประสบการณ์” (อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์)

ค่ายวรรณกรรม  ค่ายอ่านเขียนเรียนคิด  สองกลุ่มย่อยที่อาจรวมกันได้ง่ายๆ ก็คือ บทเพลง และบทกวี  สำหรับนักเรียนมัธยม 

ผมมักเรียกบทกวีว่า ‘กลอน’  เป็นภาษาปาก  แบบแต่งกลอนให้ครู  แต่งกลอนให้พ่อแม่  แต่งกลอนให้เพื่อน  คงมิใช่ต้องพูดว่า รจนากวีนิพนธ์ให้เพื่อน

                         สุนทรภู่ ใช้คำว่า ‘นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ  จึงร่ำไรเรื่องร้างเล่นบ้างเอย’แ 

                         นักเรียนสมาชิกค่าย  มักสมัครใจ  มักถูกตัดเลือกจากครูภาษาไทยระดับหนึ่ง  หรือไม่ก็มีภาคบังคับเรียนในวิชานั้นอยู่แล้ว  จากกลุ่มความสนใจ  เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนจึงพอจะรู้คำรู้ความกันพอสมควร

                         เมื่อจะต้องแต่งกลอนส่งผลงานให้ครูนอกโรงเรียนพิจารณา  ก็จะบอกไม่ให้เกร็ง  เพราะไม่ใช่การสอบเอาคะแนนในโรงเรียน  ให้เขียนได้อย่างอิสระ  ผิดถูกค่อยว่ากัน  ขอให้กล้าคิดกล้าเขียนกล้าแสดงออกความคิดของตัวเอง  ไม่ลอกไม่เลียนคนอื่น

อย่างที่เคยว่าไว้  ส่วนใหญ่ลอกๆ เลียนๆ  หรือมีความคิดอ่านพื้นๆ ทั่วไป  เป็นกลอนรัก  กลอนตลก    ตามประสาวัยรุ่น  แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่คิดอ่านค่อนข้างแปลกแตกต่าง  คนประเภทหลังนั้น  หากสังเกตเชิงบุคคล  มักไม่ได้มาพร้อมทักษะปฏิภาณทางการประพันธ์  หากมีวิธีคิดจิตสำนึกที่ที่สะดุดตา  เช่น  บางคนแต่งกายสมถะ  บางคนไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ  บางคนเห็นขยะเกลื่อนก็ตามเก็บ  

                        บางคนพกหนังสือที่ซื้อเองมาขอลายมือชื่อ บางคนมีผลงานจากบ้านมาให้อ่าน  บางคนนิยมเขียนเลขไทย  บางคนคัดไทยสวยงาม ฯลฯ

สิ่งที่กิจกรรมค่ายอยากเห็น  มิใช่เพียงการเก่งกลอน  เก่งภาษาไทย  แต่ยังอยากเห็นวิธีคิดจิตสำนึกในแบบของเขาที่พึงมีต่อสังคม...

 

๒.

 

สำหรับด้านรูปแบบในการฝึกเขียนของนักเรียนและนักศึกษา  มีข้อสังเกตระดับหนึ่ง  ประมาณนี้

๑. ลายมือไม่สวย หรือตัวเล็ก ตัวเบียด จนอ่านแทบไม่ออก

๒. สะกดคำไม่ค่อยถูกต้อง  ทั้งแบบไม่รู้  และจงใจตามกระแส เช่น จัย,  เทอร์ 

๓. เลือนเสียงสัมผัส  เช่น  ใจ กับ หาย,  จีน กับ บิน

๔. หลงเสียงคำ  เช่น  กาม กับ การ, ยืน กับ ยืม

๕. ไม่เข้าใจเรื่องสัมผัสซ้ำ  และเสียงท้ายวรรค

๖. ไม่มีสัมผัสระหว่างบท

๗. ไม่มีเอกภาพว่ากำลังคิดและเขียนอะไร

เป็นข้อสังเกตพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น  สิ่งที่นักเรียนและนักศึกษาด้านการเขียนมักขาด  ก็คือประสบการด้านการอ่านการคิด  จำเป็นต้องแนะนำให้ไปหาหนังสืออ่าน  ให้ดูหนัง  ให้ฟังเพลง  ให้เขียนจดหมายด้วยลายมือ  ให้เขียนสมุดบันทึกส่วนตัว  ให้ช่างสังเกต  ให้ช่างถาม  ส่วนใหญ่เวลาบอกให้ถาม  มักไม่ค่อยมีผู้กล้าลุกขึ้นถาม  หรือพอมีผู้กล้าถาม  กลับถามในสิ่งที่ไม่น่าถาม  คือถามเรื่องเชยๆ  ถามซ้ำเพื่อน  หรือถามเรื่องที่วิทยากรได้บอกไปหมดแล้ว 

                         การปรับหน้าดินชีวิต  หรือการกล่อมเกลาให้เขาพบจุดเปลี่ยนในตัวเอง  จึงอยู่ที่ครูทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน  จะช่วยกันในระยะยาว  สิ่งหนึ่งก็คือ  ร่วมกันสร้างบรรยากาศในการอ่านหนังสือ...

 

๓.

 

เคยไปบรรยายในห้องเรียนภาษาไทยของโรงเรียนแห่งหนึ่ง  เป็นโรงเรียนของบุตรหลานคนมีฐานะดี

                         ครูผู้สอนออกตัวว่า  นักเรียนอ่อนภาษาไทย  ซึ่งก็จริง  เพราะเขาเรียนหลายภาษา  แต่สิ่งที่โดดเด่นก็คือ  ครูให้อ่านและศึกษาหนังสือตัวบทก่อน  เขียนวิเคราะห์วิจารณ์ไว้ล่วงหน้า  เมื่อถึงเวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน  และให้เขาตั้งคำถาม  นักเรียนมัธยมในโรงเรียนแห่งนี้  ตั้งคำถามได้ดีมาก

                         พวกเขาผ่านประสบการณ์การอ่านการเขียนมาก่อนนั่นเอง!

 

 

--------------------

(หนังสือที่เธอถือมา : ในโรงเรียน-นอกโรงเรียน : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม)