ไลฟ์สไตล์

เปิดศูนย์ปรึกษาแก้ปัญหาเยาวชน

เปิดศูนย์ปรึกษาแก้ปัญหาเยาวชน

15 ก.พ. 2556

เปิดศูนย์ปรึกษา แก้ปัญหาเยาวชน

                        จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเปิดศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง ปี2495 ใจความว่า "ข้าพเจ้าตระหนักดีว่างานนี้เป็นงานใหญ่ งานใหม่ และเป็นงานยุ่งยาก เพราะไม่ใช่เรื่องของการศาลเท่านั้น แต่หากมีความสัมพันธ์กับปัญหาการศึกษา ปัญหาทางเศรษฐกิจ และปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิภาพของประชาชน" รวมถึงพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฉบับใหม่ มุ่งส่งเสริมแก้ไขพฤติกรรมเด็กให้กลับมาเป็นพลเมืองดี มากกว่าจะลงโทษ ทำให้ ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดตั้ง  "ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุม เพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็ก เยาวชนและครอบครัว" ตั้งอยู่ภายในศาลเยาวชนฯ ถ.ราชินี เขตพระนคร กรุงเทพฯ

                        ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ เปิดฉากเล่าว่า แต่เดิมเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำเด็กหรือเยาวชนมาส่งศาล ศาลตรวจการจับ พิจารณามอบตัวเด็กหรือเยาวชน ให้ผู้ปกครองหรือปล่อยชั่วคราว จะไม่ควบคุมตัวเด็กไว้ เนื่องจากศาลไม่ได้กำหนดมาตรการใดๆ จนกว่าจะมีการพิพากษา ต้องพิพากษาว่าเด็กมีความผิดจึงใช้มาตรการต่างๆ ได้ แต่ในกฎหมายใหม่ หากศาลพิจารณาเห็นว่าเด็กควรได้รับการแก้ไขพฤติกรรมให้กลับมาเป็นพลเมืองดี ศาลมีอำนาจที่จะสั่งได้

                        "คดีโดนจับยอดฮิต 1 ยาเสพติดทั้งจำหน่ายและครอบครอง 2 ลักทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 3 ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย 4 ความผิดเกี่ยวกับเพศ  ซึ่งเด็กเดี๋ยวนี้มีความสัมพันธ์ทางเพศเร็วมาก แม้ในบางครั้งเด็กผู้หญิงจะยินยอม แต่ทางกฎหมายอายุที่จะยินยอมร่วมเพศได้ ต้องอายุเกิน 15 ปี ถ้าอายุผู้หญิงไม่เกิน 15 ปี ผู้ชายต้องผิดวันยังค่ำ ส่วนความผิดฐานหนักถึงขั้นส่งตัวไปสถานพินิจ, เรือนจำ เช่น ทำร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, มียาเสพติดในครอบครองจำนวนมาก เฉลี่ยชดใช้ตั้งแต่ 1-12 ปี  ถ้าอายุยังไม่ถึง 15 ปี ส่งไปสถานพินิจฯ  ข้างในมีเด็กที่กระทำความผิดชุมนุมกันเยอะ ส่งไปก็เสียแล้ว แถมช่วงอายุที่อยู่ในศูนย์ฝึกฯ ออกมาเป็นวัยฉกรรจ์ สามารถทำผิดได้อีก ต่างกับผู้ใหญ่ที่ออกมาแก่ คิดได้แล้วก็วางมือ" อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าว

                        ศ.ดร.จิรินิติ จึงเน้นเชิงแก้ไขมากกว่า กอปรกับกฎหมายฉบับใหม่ที่ให้สิทธิ์ศาลในการดูแลควบคุมความประพฤติ โดยศาลเยาวชนไม่ได้มุ่งวินิจฉัยตามความผิดที่เกิดขึ้นแล้วลงโทษ แต่จะทำเชิงลึกลงไปถึงรากปัญหา โดยขั้นตอนการทำงาน หลังจากศาลสั่งให้เด็กมารายงานตัว ผู้ปกครองต้องมาด้วยทุกครั้ง เริ่มจากกรอกข้อมูลส่วนตัว หาสาเหตุการกระทำความผิด วิเคราะห์ลงลึกว่ามาจากโหมดไหน เด็กที่มีปัญหาด้านจิตจะส่งให้พูดคุยกับนักจิตวิทยา เด็กที่มีปัญหาสังคมหรือยาเสพติดก็จะส่งไปบำบัด นอกจากนั้นยังมีกระบวนการเฟ้นศักยภาพ หาต้นทุนชีวิตของแต่ละคน ว่ารักและชอบทางด้านไหน เป็นความเห็นส่งศาลเพื่อการพัฒนาตัวเด็กด้วย