
'สทศ.'ขอโทษข้อสอบโอเน็ตผิดพลาด
'ประธานบอร์ด สทศ.'ขอโทษกรณีข้อสอบโอเน็ตผิดพลาด รอตัดสินใจชี้ขาด 'จัดสอบใหม่' หรือไม่ในการประชุมบอร์ด สทศ.สัปดาห์หน้า
13 ก.พ.56 รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) อดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอดีตระบบการออกข้อสอบเพื่อนำไปใช้ในการเอ็นทรานซ์จะเกิดข้อผิดพลาดน้อยมาก เพราะมีคณะกรรมการออกข้อสอบและคณะกรรมการควบคุม คอยกำกับดูแลการออกข้อสอบที่เป็นความร่วมมือระหว่างที่ประชุมอธิการบดีแห่ง ประเทศไทย (ทปอ.) และทบวงมหาวิทยาลัย จึงมีอาจารย์มหาวิทยาลัยที่คอยมากำกับดูแลโดยเฉพาะ แต่ตอนนี้ระบบเปลี่ยนไป โดย ทปอ. ได้จ้าง สทศ. จัดสอบและออกข้อสอบ ซึ่งไม่แน่ใจว่า ทปอ.จะสามารถไปกำกับดูแลการออกข้อสอบของสทศ.ได้หรือไม่ ส่วนระบบไหนจะดีกว่ากันนั้นตนคงไม่สามารถตอบได้ เพราะทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง และเชื่อว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดี ขณะเดียวกันตนเชื่อว่า สทศ.เองก็คงไม่อยากให้เกิดข้อผิดพลาด
“ส่วนการแอดกมิสชั่นส์ปีนี้ มฟล. คงต้องใช้คะแนนสอบความถนัดทั่วไปหรือ GAT และความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการหรือ PAT และ คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบและสัดส่วนในการเข้าศึกษาต่อ เพราะมหาวิทยาลัยคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ทัน และปีหน้าก็เชื่อว่าคงจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก สำหรับแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นตนคิดว่า คงต้องรอผลการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อนว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นที่ใด เพื่อจะได้แก้ไขให้ตรงจุด " รศ.ดร.วันชัย กล่าว
ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม ประธานคณะทำงานแอดมิสชั่นส์ฟอรั่ม ของที่ประชุมทปอ. กล่าวว่า ปัญหาข้อสอบโอน็ตที่เกิดขึ้น ตนคิดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบกับการแอดมิสชั่นส์ปีนี้ เพราะสทศ.แก้ปัญหาโดยการให้คะแนนเด็กเท่ากันทุกคน ทำให้เกิดความเสมอภาค และไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของนักเรียน ม.6 ที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ ส่วนเด็กซิ่วที่จะมาสอบใหม่ ก็คิดว่าไม่เสียเปรียบเพราะข้อสอบแต่ละปีมีมาตรฐานและใช้วัดผลในลักษณะเดียวกันและวัดมาตรฐานเป็นกลุ่มคะแนน แต่ละปีมีเด็กซิ่วมาสอบจำนวนไม่มากนัก จึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา
ประธานคณะทำงานแอดมิสชั่นส์ฟอรั่ม กล่าวต่อว่า สำหรับการออกข้อสอบเพื่อใช้เป็นสัดส่วนและองค์ประกอบในการแอดมิสชั่นส์ หรือการรับตรงผ่านระบบเคลียร์ริ่งเฮาท์ ของสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) ทั้งข้อสอบ 7 วิชาสามัญ และข้อสอบ GAT/PAT นั้น เท่าที่ดูกระบวนการออกข้อสอบไม่มีปัญหา เพราะมีตัวแทนอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าไปร่วมออกข้อสอบด้วย แต่ในกระบวนการจัดพิมพ์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อผิดพลาดขึ้น เช่นเดียวกับการสอบโอเน็ต ดังนั้นคณะทำงานแอดมิสชั่นส์ฟอรั่ม จะกำชับสทศ.ให้ดูแลเรื่องดังกล่าวให้รัดกุมมากขึ้น เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหา
“เท่าที่ดูปัญหาดังกล่าวไม่น่ากระทบกับการแอดมิสชั่นส์ปีนี้ แต่ในการรับตรงปีการศึกษา 2557 เชื่อว่าหลายมหาวิทยาลัยจะหันมาใช้ข้อสอบ 7 วิชาสามัญ โดยที่ไม่ใช้คะแนนโอเน็ตมาเป็นองค์ประกอบมากขึ้น และคงมีหลายแห่งหันไปออกข้อสอบรับตรงเอง ซึ่งจะทำให้ปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบกลับมาอีกรอบ” ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารสทศ.(บอร์ดสทศ.) กล่าวว่า บอร์ดสทศ.จะประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า และจะพยายามเน้นให้กรรมการจากองค์หลักของศธ. ไม่ส่งตัวแทนมาเข้าประชุม เพราะเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ขณะเดียวกันผู้อำนวยการ สทศ.คงจะรายงานรายละเอียดที่เกิดขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วนายสัมพันธ์ ได้ชี้แจงกับบอร์ดบางคนด้วยวาจาไปบ้างแล้วอย่างไม่เป็นทางการ แต่ในการประชุมจะเป็นการรายงานอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม และจะมาร่วมกันพิจารณาเพื่อให้ได้คำตอบอย่างชัดเจนว่า จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ซ้ำอีกได้อย่างไร โดยนำบทเรียนที่เกิดขึ้นมาเป็นประสบการณ์ แต่ในเรื่องที่ว่าความผิดครั้งนี้เกิดจากส่วนใดนั้น คงต้องไปพูดคุยกันในบอร์ด
“ผมในฐานะประธานบอร์ด สทศ.ก็รู้สึกเสียใจและขอโทษในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิด และโดยศักดิ์ศรีของสทศ.แล้ว จะต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกในอนาคต แต่ขอให้รอสักหน่อย เมื่อมีการประชุมบอร์ดแล้วคงจะมีคำตอบที่ชัดเจน รวมถึงคำตอบที่ว่าจะต้องมีการจัดสอบใหม่อีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกในอนาคต คงเป็นเรื่องที่บอร์ดจะต้องร่วมกันรับผิดชอบทั้งหมด ไม่สามารถจะโยนให้ผู้อำนวยการสทศ.หรือใครคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบคนเดียว และยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสทศ.”ศ.ดร.สมหวัง กล่าว
ศ.ดร.สมหวัง กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานบอร์ดไม่สามารถจะแสดงความเห็นส่วนตัวใดๆ ต่อสื่อได้ เพราะจะเป็นการชี้นำ ทุกเรื่องรวมถึงเรื่องการจัดสอบใหม่จะร่วมกันพิจารณาในบอร์ดหลังจากนั้นจึง จะมีคำตอบที่ชัดเจน โดยจะเลือกวิธีแก้ปัญหาที่เป็นผลดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่น ๆ บางครั้งถ้าเราดูแต่ตัวเลือกโดดๆ ก็จะเห็นแต่ปัญหา