
ชม'ส.นักเขียนสองฝั่งโขง'ต้นแบบประชาคมอาเซียน
สกว.จับมือ UNDP จัดเสวนาอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ชมสมาคมนักเขียนสองฝั่งโขงต้นแบบ
8ก.พ.2556 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการ “อยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน” เปิดมุมมองและให้ความสำคัญกับความหลากหลายและแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในโอกาสที่อาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ร่วมกับประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมความมั่นคง)
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบถึงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ในกรอบประเด็นที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) ประวัติศาสตร์ของความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2) ความร่วมมือของประชาชนและภาคประชาสังคมในอาเซียน และ (3) บทบาทภาคการศึกษาในการสนับสนุนประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยการเสวนาดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานภูมิหลัง (Background Paper) ของรายงานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Report) สำหรับภูมิภาคนี้ ข้อมูลที่ได้จากการเสวนาจะถูกนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยโครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบายของ สกว. ต่อไป
ศ. ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ในเรื่องของประชาคมอาเซียนคนส่วนใหญ่ยังรู้จักและให้ความสำคัญเฉพาะมิติการจัดการทางเศรษฐกิจเท่านั้น เนื่องจากเป็นรูปธรรม สามารถรับรู้และจับต้องได้ ขณะที่มิติอื่นที่เป็นนามธรรมอย่างความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและหลากหลาย รวมทั้งการกลืนกลายทางวัฒนธรรมตลอดช่วง 200 ปีเศษที่ผ่านมาของประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ล้วนรับเอาวัฒนธรรมสมัยใหม่จากตะวันตกมาแทบทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลที่มาว่าทำไมพลเมืองอาเซียนจึงมีการรับรู้และเข้าใจในความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมอื่นน้อย เป็นประเด็นให้ชวนคิดว่ามิติความเป็นประชาคมอาเซียนในเรื่องของสังคมและวัฒนธรรมควรได้รับความสนใจและให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เข้าใจ ยอมรับ และเคารพในความแตกต่างระหว่างกัน ก่อนนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประชาชนของแต่ละประเทศอย่างสันติ”
ด้าน ศ.สุริชัย หวันแก้ว คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับภาคประชาสังคมกับการสร้างประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน ว่า “ที่ผ่านมามิติเศรษฐกิจถือเป็นมิตินำของอาเซียนเสมอมา การบูรณาการด้านสังคมและวัฒนธรรมเข้าไปในประชาคมอาเซียน จึงต้องอาศัยบทบาทของภาคส่วนต่างๆ ที่ไม่ใช่ลำพังแค่รัฐบาล แต่ให้รวมถึงภาคประชาชนด้วย โดยบทบาทของภาคประชาสังคมต้องมีบทบาทในเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ ร่วมกันสร้างให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องความความหลากหลายและแตกต่างทางวัฒนธรรม อาทิ ภาษาที่สอง ภาษาท้องถิ่น หรือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เป็นต้น โดยที่ผ่านมาพบว่าหากภาคประชาสังคมระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันเกิดความร่วมมือกันแล้วย่อมจะส่งผลดีต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่น กลุ่มประชาชนที่อยู่ร่วมกันลุ่มน้ำชายแดนไทย-ลาว กับการก่อตัวของสมาคมนักเขียนสองฝั่งโขง เป็นต้น ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ด้วยนัยนี้ บทบาทของภาคประชาสังคมจะมีความสำคัญมากต่อการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดการสมดุลของพื้นที่นโยบาย โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายแดน นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายของประเทศกับการเปิดพื้นที่ความรู้ และพื้นที่ให้แก่ภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อการพัฒนาประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนต่อไป”
ในงานเสวนาดังกล่าว ดร.ปัทพร สุคนธมาน วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยในเรื่อง “บทบาทภาคการศึกษากับการก้าวเข้าสู่ประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน” ว่า “การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ควรให้ความสำคัญกับการศึกษา และปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ การพัฒนาครู และสื่อการสอนต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสม และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงประยุกต์ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย พบว่าการศึกษาไทยควรมีการการปรับปรุงหลักสูตรเนื้อหาโดยเฉพาะระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ให้เนื้อหาสอดคล้องให้ความรู้เรื่องอาเซียน และประวัติศาสตร์มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านภาษาอังกฤษและความรู้อาเซียน พร้อมทั้งเผยแพร่ภาษาไทยในระดับอาเซียนให้มากขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ในเรื่องของการสร้างครู เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเข้าถึงการศึกษามากขึ้น รวมทั้งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาชีวศึกษาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม) และสนับสนุนภาคเอกชนในการให้บริการการศึกษาในต่างประเทศ”
.................
(หมายเหตุ : ที่มาเฟซบุ๊ก สกว. http://www.facebook.com/ThailandResearchFund)