
พ่อแม่เด็กสาธิตจุฬาฯชี้'สุดคุ้มค่าทำเพื่อลูก'
ผู้ปกครองสาธิตจุฬาฯฝ่ายประถม ปักหลักนอนรอสมัครเรียนภาษาอังกฤษให้ลูกสำเร็จ ชี้คุ้มค่าได้ทำเพื่อลูกดีกว่าจับฉลาก ขณะที่ครูเตรียมหารือสมาคมฯตั้งรับแก้ปัญหา
เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 7 ก.พ. ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายประถม ผู้ปกครองได้เดินทางไปส่งลูกหลานเข้าเรียน ขณะเดียวกันได้มีการกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ที่จะเลื่อนชั้นเรียนป .2 ในปีการศึกษา 2556 ที่มารอจองคิวเพื่อสมัครเข้าเรียนโครงการภาษาอังกฤษบริติช เคาวซิล จัดโดยสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จำนวนประมาณ 120 คน ก็ยังคงปักหลักรอเพื่อยื่นใบสมัครเรียนให้แก่ลูกในเวลา 7.30 น. ภายหลังที่มานอนรอบริเวณหน้าร.ร.ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เมื่อวานนี้ (6 ก.พ.) จนถึงเช้านี้รวมเวลากว่า 11 ชั่วโมง
ทั้งนี้ สำหรับบรรยากาศในช่วงเช้าหลังจากที่โรงเรียนได้เปิดประตูโรงประมาณ 4.00 น. ผู้ปกครองได้นำที่นั่งผ้าใบ ผ้าปูรองมานั่งรอ นอนรอในบริเวณที่ทางโรงเรียนจัดให้ นอกจากนั้นทางสมาคมผู้ปกครองและครูฯได้เข้ามาดูแลโดยการนำน้ำดื่ม และน้ำเต้าหูมาให้บริการผู้ปกครองที่มานอนรอคิว คุณยายของนักเรียนชั้นป.1 กล่าวว่าทราบจากครูสอนพิเศษของหลานว่ามีกลุ่มผู้ปกครองมารอจองคิวจำนวนมาก จึงได้ตัดสินใจให้แม่ของหลานมารับหลานแทน ส่วนตนก็อยู่รอคิว โดยรอมาตั้งแต่ 14.30 ของวันที่ 6 ก.พ. ซึ่งการรอคิวถือว่าคุ้มมาก เพราะตนได้บัตรคิวที่ 22 อยู่อันดับต้นๆ จากจำนวนรับ120 คน ส่วน วิธีการสมัครโดยการจองคิวแบบนี้ ตนพอใจ เต็มใจที่จะรอ และเท่าที่คุยกับผู้ปกครองคนอื่น ๆ ก็สมัครใจ อย่างไรก็ตาม ปีนี้ ถือว่าทางโรงเรียนจัดระบบดูแลดีมาก มีการให้ลงชื่อตั้งแต่บ่ายวานนี้ และมีการตรวจสอบผู้ปกครองที่มาลงชื่อทุกๆ 45 นาทีจนกระทั่งดึกหากไม่อยู่จะตัดสิทธิ์ทันที
"รู้มาว่าปีที่แล้วมีผู้ปกครองบางคนจ้างคนมารอเข้าคิวแทน และมีบางคนมาเข้าคิวแล้วเอาคิวไปขาย ปีนี้โรงเรียนจึงมีมาตรการให้ผู้ปกครองคล้องบัตรประจำตัวรับเด็กไว้ตลอดเวลา ซึ่งมองว่าเป็นวิธีที่ดี ส่วนเหตุผลที่ยอมเข้าคิวข้ามคืน เพราะอยากให้หลานเข้าร่วมโครงการนี้ เนื่องจากอาจารย์ที่สอนเป็นเจ้าของภาษาโดยตรง มีคุณภาพ และที่สำคัญประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทาง ค่าเรียนถูกกว่าไปเรียนสถาบันข้างนอก ซึงเคยไปถามมา เรียน 3 ปีจ่ายประมาณ 80,000 บาท ขณะที่การเรียนในโครงการเด็กจะเรียนในโครงการ จ่ายเพียง 15,000 บาท ส่วนที่นี่แม้จะจ่ายอัตราต่างกันไปแต่ละระดับแต่เด็กได้เรียนจนจบป.6 เพราะฉะนั้นถือว่าการรอที่คุ้มค่า"คุณยายกล่าว
ผู้ปกครองนักเรียน ป.2 รายหนึ่ง กล่าวว่า ตนมาสลับกับภรรยาที่มารอตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้เช่นกัน ซึ่งปีนี้มาเป็นปีที่ 2 เพราะปีที่แล้วมาสมัครแต่ไม่ทัน แต่ปีนี้ถือว่าโชคดีที่ทัน ส่วนที่อยากให้ลูกเข้าโครงการนี้ เพราะอยากเตรียมความพร้อมทางภาษาเนื่องจากอีกไม่กี่เราก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
ขณะที่ คุณแม่นักเรียนชั้นป.1 กล่าวว่าตนทราบจากเพื่อนผู้ปกครองว่ามีการมารอจองคิวสมัครเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 14.00 น.วานนี้ จึงได้เดินทางมารับลูกช่วงเวลา15.00 น.และให้คุณพ่อพาลูกกลับบ้านส่วนตนก็รอคิว ซึ่งถือว่าคุ้มมากที่ได้มารอ เพราะตนได้บัตรคิว 57 ส่วนวิธีการสมัครนั้น ตนมองว่าวิธีรอคิวดีแล้ว เนื่องจากถ้าใช้วิธีจับฉลากเป็นการเสี่ยงดวงเกินไป และไม่ยุติธรรมแก่ทุกคน แต่การรอคิวใครทุ่มเทมานั่งรอได้ก็ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ เป็นการเสียสละของพ่อแม่ที่จะได้ทำเพื่อลูกของตนเอง
"เหนื่อยเหมือนกันที่ต้องมานั่งรอ นอนรอที่โรงเรียนเพื่อจองคิวให้แก่ลูก แต่การเรียนในโครงการดังกล่าว เป็นการเรียนกับเจ้าของภาษาที่ทำให้เด็กได้มีความกล้าคุยกับเจ้าของภาษาโดยตรง การรอคิวแม้จะข้ามวันข้ามคืนแต่ก็ดีเหมาะสมแล้ว ปีนี้ที่ผู้ปกครองมารอเร็ว น่าจะเกิดจากความตื่นตระหนกของผู้ปกครองที่ได้เห็นผู้ปกครองจำนวนหนึ่งมารอคิวในช่วงเลิกเรียนพอดี สำหรับกระบวนการรับสมัครที่ทางสมาคมฯ จัดขึ้น ดิฉันว่าเหมาะสมแล้ว ไม่ต้องมีการเปลี่ยนอะไร หากมีควรเป็นการจัดระบบดูแลผู้ปกครองดีกว่า เพราะการมานั่ง นอนรอที่โรงเรียนช่วงเมื่อคืนไม่มีใครดูแล ยุงก็เยอะ เข้าห้องน้ำก็ลำบาก" คุณแม่กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่ว่าลูกหลานกรรมการสมาคมฯ ได้เข้าร่วมโครงการโดยไม่ต้องรอคิวนั้น ตนไม่ทราบว่ามีจริงหรือไม่ แต่คิดว่ากรรมการสมาคมฯไม่น่าจะทำอย่างนั้น เพราะผู้ปกครองและกรรมการสมาคมฯ ก็กลุ่มเดียวกับผู้ปกครอง ไม่มีการแบ่งแยก ดังนั้น ไม่น่าจะมีอภิสิทธิ์ ในเรื่องนี้
คุณพ่อ ผู้ปกครองนร.ชั้น ป.1 กล่าวว่าตนมาสลับกับแฟนเมื่อตอน 4 ทุ่ม ของเมื่อคืนและอยู่มาจนเช้า ส่วนแฟนมารอตั้งแต่บ่าย สาเหตุที่ต้องมารอถึงขนาดนี้ เพราะว่าต้องมารับใบสมัคร ซึ่งแจกในช่วง ตี 4 ของวันนี้(7 ก.พ.) ทั้งนี้ หลังจากที่ ร.ร.ปิดในช่วงเย็น ผู้ปกครองก็ต้องพากันมารอที่ด้านนอกของโรงเรียน พอช่วงเช้า ร.ร.เปิดก็เข้ามานั่งรอใน ร.ร.เพื่อรอเข้าคิวชำระเงิน ที่เลือกให้ลูกเรียนหลักสูตรนี้ เพราะตั้งใจไว้อยู่แล้ว พอถึงเวลาก็มารอและอีกอย่างมันอยู่ในคลาสเรียน พอสมัครเรียนในครั้งนี้สามารถเรียนได้จนถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หากเทียบกับโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันที่รับสอนหลักสูตรนี้ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
"โครงการนี้มีจัดทุกปีและทุกปีก็เป็นแบบนี้มาตลอด แต่ปีนี้ผู้ปกครองมารอเร็วมาก เพราะเห็นผู้ปกครองคนอื่นมารอ ก็รอด้วย กลัวลูกไม่ได้เรียน และอยากให้ลูกได้เรียนในสิ่งที่ดีๆ ถึงต้องมารอจนไม่ได้นอน แต่มันก็คุ้ม"คุณพ่อกล่าว
ผู้สื่อรายงานต่อว่า จากนั้นเวลาประมาณ 07.30 น.เจ้าหน้าที่เริ่มเรียกผู้ปกครองเข้ายื่นใบสมัครรอบละ 10 คน โดยเจ้าหน้าได้แจ้งกำชับแก่ผู้ปกครองด้วยว่าในปีหน้าให้ติดตามข่าวสารให้ดีเพราะแม้ว่าการสมัครนี้จะต่อเนื่องจนจบป.6 แต่หากไม่ติดข่าวสารของโครงการเด็กก็อาจจะหลุดจากโครงการได้
ผศ.เฉลิมพล ดาวเรือง รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการพิเศษ ร.ร.สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดกระแสผู้ปกครองตื่นตัวมารอจองคิวเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่เวลา 14.00 น. วานนี้ ทั้งที่เปิดรับสมัครเวลา 7.30 น. ของวันนี้ (7 ก.พ.) นั้น น่าจะเกิดจากผู้ปกครองส่วนหนึ่งต้องการให้ลูกหลานมีทักษะภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ขณะที่บางคนอาจจะต้องการเปิดโอกาสให้แก่ลูกได้เรียนกับเจ้าของภาษา
แต่ในการเปิดรับสมัครนั้นเปิดจำนวนจำกัด เพราะทางโรงเรียนและสมาคมผู้ปกครองและครูฯ ต้องการให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างคุณภาพ สัดส่วนอาจารย์ต้อง1:20 ซึ่งหากรับเด็กทุกคนเข้าร่วมโครงการ จะไม่ได้มาตรฐานดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทางฝ่ายวิชาการของโรงเรียน ผู้จัดโครงการดังกล่าวร่วมกับทางสมาคมผู้ปกครองและครู ฯ จะประชุมหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา ตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีการศึกษาหน้า โดยเบื้องต้นอาจจะมีการเปิดโครงการอื่นๆ เพิ่มเติม หรืออาจมีการปรับการรับจำนวนนักศึกษาให้เหมาะสม
"โครงการดังกล่าวเปิดมาหลายปีแล้ว ซึ่งจะได้รับความสนใจเฉพาะช่วงแรก เนื่องจากตอนนั้นกระแสนานาชาติมาแรง ทำให้ผู้ปกครองสนใจ แต่พอหลังจากนั้นผู้ปกครองก็สนใจน้อยลง จนกระทั่งกระแสอาเซียนเข้ามา ผู้ปกครองก็ตื่นตัวกันอีกรอบ ซึ่งผมอยากฝากพ่อแม่ผู้ปกครองว่าโครงการดังกล่าวเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ปกครองที่ต้องการเพิ่มทักษะภาษาให้แก่ลูกหลาน แต่ถ้าไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ครูไทย หรือครูต่างชาติที่สอนภาษาอังกฤษของเราอยู่ตอนนี้ต่างก็มีคุณภาพ จบมาจากต่างประเทศ ดังนั้น อยากให้ผู้ปกครองมั่นใจว่าเรียนกับครูไทย ครูต่างชาติ หรือครูต่างชาติในโครงการ เด็กก็มีคุณภาพ ทักษะการสอนภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน"ผศ.เฉลิมพลกล่าว
นร.อำนาจเจริญสอบตกภาษาไทยผอ.ใช้ศาลากลางบ้านติวเข้มเพิ่มเติม
นายเฉลิมเกียรติ แก้วกนก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคำเจริญ กล่าวว่า โรงเรียนบ้านคำเจริญเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ เปิดสอนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน 35 คน ครู 4 คน ที่ผ่านมา พบว่าผลสอบด้านภาษาของนักเรียนทุกโรงเรียนในจ.อำนาจเจริญ จะไม่ผ่านเกณฑ์การทดสอบ ซึ่งจำนวนนักเรียนที่อ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จึงเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการศึกษาต่อ ส่งผลให้ผู้ปกครองนักเรียนต่างกังวลถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งหมดจึงได้พูดคุยเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
“เปิดสอนแบบติวเข้มให้กับนักเรียนที่เรียนอ่อนและอ่านเขียนไม่ออก โดยจะใช้ศาลากลางบ้านเปิดสอนในช่วงเวลา 19.00 น. - 20.00น.ยึดการสอนแบบ "เรียนเก่งยกห้อง"ให้นักเรียนได้ฝึกอ่านเขียน โดยจะแบ่งนักเรียนตามระดับช่วงชั้น 8 - 11 คน แต่ละกลุ่มจะมีครู 1 คน พ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนเก็บรวบรวมคำที่ลูกอ่านผิดเขียนไม่ได้ แล้วนำไปสอนต่อที่บ้านจนกว่านักเรียนอ่านได้เขียนได้” เฉลิมเกียรติ กล่าว
นอกจากนี้โรงเรียน ได้จัดทำผ้าป่าสามัคคีเพื่อนำเป็นทุนสำหรับส่งเสริมการศึกษา พร้อมเป็นรางวัลสำหรับนักเรียนที่อ่านออกเขียนได้ โดยทุกร้อยคำอ่านได้คล่องจะให้ร้อยคำละ 100 บาท เฉลี่ยนักเรียนจะได้อ่านได้เขียนคำยากๆตามลำดับชั้น 800-1,000 คำ
นางดวงเดือน ศุภิวงศ์ อายุ 42 ปี ผู้ปกครอง กล่าวว่า นำหลาน อายุ 4 ขวบเรียนอนุบาลมาฝึกอ่านคำภาษาไทย แรกๆอ่านไม่ออก แต่หลังจากมาเรียนอย่างต่อเนื่องก็อ่านเขียนได้คล่อง แม้กระทั่งคำยากก็สามารถอ่านได้ เช่นคำว่า พระมหากษัตริย์ โทรทัศน์ อวัยวะ เป็นต้น ถ้าโครงการนี้ทำไปอย่างต่อเนื่องและขยายผลไปตามหมู่บ้านต่างๆเชื่อว่า เด็กนักเรียนภาคอีสาน จะอ่านออกเขียนได้มากขึ้น