
ม.3สอบโอเน็ตเฮ!ได้ฟรี20คะแนน
สทศ.ยอมรับกระดาษคำตอบวิชาภาษาไทยโอเน็ต ม.3 ผิดพลาด ยกประโยชน์ให้แก่เด็กนร.สอบ ฟรี 20 คะแนน ชี้เหตุปีนี้ปีแรกมีข้อสอบ 6 ชุด ยันปีหน้าไม่ลดจำนวนข้อสอบ
4 ก.พ.56 รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสทศ. แถลงข่าว“ชี้แจงข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต วิชาภาษาไทย ม.3 ปีการศึกษา 2555 " หลังจากที่มีนักเรียนชั้น ม.3 ร้องเรียนกรณีที่ข้อสอบโอเน็ต วิชาภาษาไทยมีปัญหา ว่า ช่วงเช้า สทศ.ได้เชิญคณะกรรมการฝ่ายผลิตข้อสอบโอเน็ตมาตรวจสอบข้อสอบ ทั้ง 8 กลุ่มวิชาสาระ ซึ่งพบว่า ข้อสอบทุกวิชาถูกต้อง มีเฉพาะกระดาษคำตอบวิชาภาษาไทย ข้อ 51 และ 52 เท่านั้น ที่เกิดความคลาดเคลื่อน ทำให้นักเรียนเสียประโยชน์ประมาณ 400,000 คน ที่ต้องใช้กระดาษคำตอบ แต่เพื่อความเป็นธรรมแก่เด็กทุกคน ดังนั้น สทศ.จะยกประโยชน์ให้กับเด็กทั้งหมดที่สอบโอเน็ตวิชาภาษาไทย 804,892 คน โดยให้คะแนนฟรีใน 2 ข้อ ข้อละ10 คะแนน รวมเป็น 20 คะแนน
รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เกิดความผิดพลาดดังกล่าวเนื่องจากปีนี้เป็นปีแรกที่ สทศ.มีนโยบายเพิ่มจำนวนข้อสอบจาก 1 ชุด มาเป็น 6 ชุด เพื่อต้องการรักษาความปลอดภัยในมาตรฐานของข้อสอบ และป้องกันการทุจริต อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า กรรมการออกข้อสอบทุกคนมีความตั้งใจในการออกข้อสอบและเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่เพราะความสะเพร่า และมั่นใจว่าที่ผ่านมา สทศ. ได้รับความน่าเชื่อถือจากหลายหน่วยงานในการจัดสอบ ฉะนั้น ในปีการศึกษา 2556 สทศ.จะไม่ลดชุดข้อสอบของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 และม.3 คือ จะมีข้อสอบ 6 ชุดเหมือนเดิม แต่จะมีการปรับรูปแบบการเลือกตอบเป็นรูปแบบเดียวกัน
"สำหรับการสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.6 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9-10ก.พ.นั้น ได้ขอให้คณะกรรมการฝ่ายผลิตข้อสอบโอเน็ต ไปตรวจสอบความถูกต้องของข้อสอบและกระดาษคำตอบทั้ง 8 วิชา วิชา 2 ชุดโดยกรรมการได้ยืนยันกลับมาแล้วว่า ข้อสอบและกระดาษคำตอบถูกต้องเรียบร้อยแต่เพื่อความมั่นใจ ก่อนสอบตนจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อสอบด้วยตัวเองอีกครั้ง" รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว
รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนในกรณีที่เด็กมีการร้องเรียนแล้วกรรมการคุมสอบบอกว่า เจ้าหน้าที่ สทศ.ให้เด็กตัดสินใจแก้ปัญหาหาด้วยตัวเองนั้น ขอย้ำว่า สทศ.ไม่มีทางให้เด็กไปตัดสินใจแก้ปัญหา และไม่มีทางแก้ไขคำสั่งได้ทันที เนื่องจากการสอบโอเน็ตเป็นการสอบของนักเรียนกลุ่มใหญ่ มีห้องสอบจำนวนกว่า 28,000 ห้อง หากมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ทุกคนเข้าใจตรงกันไม่สามารถกระทำได้ และเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาการสื่อสารไม่ตรงกัน จึงไม่ได้แก้ปัญหาอย่างทันที
"ส่วนความคืบหน้าการยื่นคำร้องขอดูกระดาษคำตอบวิชาสามัญ 7 วิชา เพื่อนำผลไปใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ประจำปีการศึกษา 2556 ซึ่งเปิดยื่นคำร้องตั้งแต่วันที่ 2 -5 ก.พ.นี้ ข้อมูลวันที่ 4 ก.พ. พบว่า มีผู้ยื่นคำร้องจำนวน 351คน เปิดให้ดูกระดาษคำตอบวันที่ 16 ก.พ.นี้" รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว
สทศ.ของบปี 57เพิ่มชี้ภารกิจจัดสอบมากขึ้น
รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ.เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้พิจารณาของบประมาณประจำปีงบประมาณ 2557 เพิ่มเติมจากงบประมาณที่เคยได้รับเพื่อดำเนินพันธกิจให้รอบด้าน โดยเฉพาะการทดสอบวัดผลคุณภาพผู้เรียนให้ได้ตามเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข โดยขณะนี้ สทศ.ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วางแผนการพัฒนาข้อสอบระดับ ป.3,ป.6,ม.3 และ ม.6 โดยบูรณาการเรื่องความสามารถในการอ่านและเขียน (literacy test) ซึ่ง สทศ.จะบรรจุข้อสอบดังกล่าวไว้ในคลังข้อสอบเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาระบบการทดสอบให้ได้มาตรฐานการปฏิรูปการศึกษาต่อไป พร้อมกันนี้ สทศ.จะขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับภารกิจใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น ได้แก่ การจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา หรือ วีเน็ต สำหรับนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากเดิมที่ให้ต้นสังกัดเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณส่วนนี้ และให้มีการจัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย หรือ ทีแอลซีเน็ต สำหรับนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ รวมถึงกำลังจะเพิ่มการจัดการทดสอบมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือยูเน็ต ในระดับอุดมศึกษาด้วย
“ในส่วนของยูเน็ต จะมีการนำร่องการจัดสอบวิชาภาษาอังกฤษ ในช่วงปลายเดือน ก.พ.หรือต้นเดือน มี.ค.2556 โดยจะส่งหนังสือไปสอบถามความสมัครใจของสถาบันอุดมศึกษาที่จะเข้าร่วมรับการสอบนำร่องในปีนี้ ซึ่ง สทศ.จะเริ่มการจัดสอบในวิชาภาษาอังกฤษ แบ่งเป็นทักษะการอ่าน การเขียน และการฟัง นอกจากนี้ สทศ.ตั้งเป้าหมายเป็นหน่วยให้บริการทดสอบภาษาอังกฤษแก่บุคคลทั่วไปในอนาคตด้วย” ผอ.สทศ.กล่าว
ทั้งนี้ สทศ.จะของบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการวิจัยและพัฒนา เนื่องจาก สทศ.เป็นหน่วยงานในระดับสถาบัน จำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้สามารถชี้นำการปรับหลักสูตรได้ ยกตัวอย่าง สถาบันการจัดสอบระดับชาติของไต้หวัน ให้ความสำคัญแก่หน่วยงานที่จัดการทดสอบเป็นระดับกระทรวง ขณะที่เกาหลีก็มีการทดสอบและวิจัยพัฒนาเพื่อปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สทศ.ได้รับงบประมาณสำหรับดำเนินการจัดสอบเพื่อประกันคุณภาพและนำผลการสอบไปใช้เพื่อการศึกษาต่อเท่านั้น.
.....................................
(หมายเหตุ : ภาพจากแฟ้มข่าว)