
อาคาร 100 ปี กรมศิลปากร
อาคาร 100 ปี กรมศิลปากร : คอลัมน์หัวใจไทย
ว่าด้วยเรื่องที่ตั้งกรมศิลปากรเป็นโบราณสถาน (วังกลาง) ริมถนนหน้าพระลานต่อวังท่าพระมาทางด้านตะวันออก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้สร้างเป็นที่ประทับของ พระองค์เจ้าอรุโณทัย ซึ่งต่อมาทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพ เสด็จมาประทับจนรัชกาลที่ 3 ทรงได้รับอุปราชาภิเษกจึงเสด็จไปประทับยังพระราชวังบวรฯ ที่วังกลางว่างอยู่จนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าอาภรณ์ เสด็จออกวัง จึงพระราชทานวังกลางให้เป็นที่ประทับ ครั้นกรมหลวงเทพพลภักดิ์สิ้นพระชนม์ พ.ศ.2380 จึงโปรดให้เจ้าฟ้าอาภรณ์เสด็จไปประทับ ณ วังหน้าประตูวิเศษไชยศรี พระราชทานวังกลางให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าชายกลาง ซึ่งพระราชทานพระนามในรัชกาลที่ 4 ว่า เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ จนสมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์สิ้นพระชนม์ ถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้รวมวังหน้าประตูวิเศษชัยศรีกับวังกลางเป็นวังเดียวกัน เป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ทรงเลื่อนเป็นกรมพระ แล้วเป็นกรมพระยา เมื่อสิ้นพระชนม์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ซึ่งเป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ได้ประทับอยู่ต่อมาตลอดพระชนมายุอีกพระองค์หนึ่ง แล้วจึงตั้งเป็นโรงงานช่างสิบหมู่ ซึ่งจัดเป็นที่ว่าการกรมศิลปากรในรัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน
กรมศิลปากรได้รับการสถาปนาครบ 100 ปี ในปี พ.ศ.2554 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อรองรับภารกิจในความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นอย่างกว้างขวาง มีการขยายสถานที่ปฏิบัติงานเพื่อความเหมาะสมกับภารกิจ อาทิ สำนักช่างสิบหมู่ ย้ายไปตั้งอยู่ที่พุทธมณฑลสาย 5 อ.ศาลายา จ.นครปฐม สำนักหอสมุดแห่งชาติ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าวาสุกรี สำนักสถาปัตยกรรม สำนักโบราณคดี สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สำนักวรรณกรรม ตั้งอยู่ที่อาคารเทเวศร์
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่การดำเนินงานและรองรับการขยายตัวของงานตามภารกิจหลักของกรมศิลปากร แก้ไขปัญหาด้านสถานที่ของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งในปัจจุบัน ห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และห้องควบคุม Server ของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ได้มาตรฐาน ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 มีความเสี่ยงในเรื่องน้ำท่วม มีปัญหาในด้านการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นในพื้นที่ของการจัดเก็บข้อมูล เสี่ยงต่อการสูญเสียข้อมูล ดังนั้น ในโอกาสสถาปนากรมศิลปากร 100 ปี จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคาร 100 ปี กรมศิลปากร ย่านเทเวศร์ เพื่อรองรับงานในภารกิจที่ขยายเพิ่มมากขึ้น เป็นศูนย์รวมของการดำเนินงานของกรมศิลปากร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการประชาชนมากยิ่งขึ้น เป็นอาคารศูนย์กลางบัญชาการ รวมหน่วยงานต่างๆ เพื่อบริหารจัดการงานด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของกรมศิลปากร ขณะนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณ 3 ปี (2556-2558) รวม 60 ล้านบาทแล้ว ขอแสดงความยินดีกับชาวกรมศิลปากรที่การรอคอยถึง 100 ปีสิ้นสุดลง มีอาคารสำนักงานเป็นของตัวเองเพื่อทำงานรับใช้ชาติต่อไป
.........................................
(อาคาร 100 ปี กรมศิลปากร : คอลัมน์หัวใจไทย)