
เคล็ดลับเที่ยว 900 ปี มหาศิลานคร
เคล็ดลับเที่ยว 900 ปี มหาศิลานคร : คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย...ธีรภาพ โลหิตกุล
พุทธศักราช 2556 เป็นปีที่ ปราสาทนครวัด มีอายุเต็ม 900 ปี นับจากปีที่เริ่มสร้าง ตัวเลขนี้ได้มาจากสมมุติฐานว่า กษัตริย์ผู้สร้างมหาปราสาทหลังนี้ คือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เริ่มต้นสร้างนครวัดเป็นเทวาลัยถวายพระนารายณ์ หรือพระวิษณุเทพ ในปีแรกที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ (ตามแบบอย่างที่บุรพกษัตริย์รัชกาลก่อนเคยกระทำมา) ซึ่งจากหลักฐานในศิลาจารึกระบุว่าเป็นปี พ.ศ.1656 ถึงปีนี้ก็ 900 ปีเต็ม
เทวาลัยหลังนี้มีชื่อที่ระบุไว้ในศิลาจารึกว่า “บรมวิษณุโลก” หรือโลกของพระวิษณุ-เทพผู้ยิ่งใหญ่ แต่ด้วยความที่มีขนาดใหญ่โตโอฬารกว่าปราสาทใดๆ คนรุ่นหลังนึกว่าเป็นเมือง จึงเรียก “นครวัด” ทั้งๆ ที่เป็นเพียงปราสาทหลังหนึ่งในเมืองพระนคร หรือ “อังกอร์” ของเขมรแต่โบราณ และความที่ใหญ่เสียยิ่งกว่าปราสาทหินต้นแบบในอินเดียใต้ นครวัดจึงถูกยกให้เป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก เคยถูกจัดให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในรอบพันปี ปัจจุบันองค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่จะมีนักท่องเที่ยวนานาชาติพันธุ์จากทั่วทุกมุมโลก แห่กันมาชมนครวัด โดยเฉพาะในหน้าหนาว มองไกลๆ คล้ายฝูงมดไต่ภูเขาหินยั้วเยี้ยไปหมด แต่นครวัดต่างกับพีระมิด คือมีเรื่องราวรายละเอียดของภาพแกะสลักหินประดับไว้อย่างวิลิศมาหรามากมาย แค่ยืนชมและบันทึกภาพความอลังการอยู่ห่างๆ อย่างพีระมิด ก็เหมือนยังมิได้สัมผัสความงามที่แท้ของนครวัด ตรงนี้แหละ ที่ถ้าทุกคนไปยืนรุมดูภาพแกะสลักพร้อมๆ กัน ก็ยากจะเกิดสุนทรียภาพได้ เพราะมีแต่เสียงไกด์ไทย จีน อังกฤษ เกาหลี ฝรั่งเศส แข่งกันบรรยายดังเจี๊ยวจ๊าวไปหมด
ผมจึงมีเคล็ดลับการชมนครวัดที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ถ้าชอบก็นำไปใช้ได้ กล่าวคือสูตรเดิมเขาบอกว่า เช้าให้เข้าบายน (นครธม) บ่ายค่อยไปชมนครวัด เพราะนครวัดหันด้านหน้าไปทางทิศตะวันตก ช่วงบ่ายแดดจะส่องตรงองค์ปราสาทสวยพอดี แต่ก็จะเจอนักท่องเที่ยวอลังการล้านแปด ผมจึงกลับทางซะ โดย เข้าชมนครวัดช่วงเช้า และเข้าทางด้านหลังของปราสาท คือทางทิศตะวันออก ซึ่งแสงเช้าจะส่องตรงองค์ปราสาทสวยพอดีเช่นกัน เพียงแต่ด้านหลังไม่มีทางเดินปูด้วยหินเป็นเส้นนำสายตา เหมือนด้านหน้าเท่านั้นเอง
จากนั้น เมื่อเข้าไปแล้ว ก็ยังไม่ชมภาพแกะสลักที่ระเบียงปราสาท (ตามธรรมเนียมที่นิยมกัน แต่จะเดินตรงขึ้นไปจนถึงปรางค์ประธาน ที่ชั้นสามของปราสาท ซึ่งถือว่าเป็นยอดเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของโลกและจักรวาล และเป็นที่ประทับของเทพเจ้าตามคติฮินดู ขึ้นไปชมภาพแกะสลักเทพอัปสร หรือนางอัปสรา องค์ที่ได้รับการยกย่องว่างามวิจิตรตระการตาที่สุด ในบรรดาภาพนางอัปสรากว่า 1,700 องค์ที่แกะสลักไว้รายรอบปราสาทนครวัด ชมจนอิ่มตาอิ่มใจแล้ว ค่อยย้อนกลับลงมาละเลียดชมภาพแกะสลักเล่าเรื่องมหากาพย์รามายณะ และมหาภารตยุทธ ในขณะที่คนส่วนใหญ่เดินสวนเราขึ้นไปปรางค์ประธาน
วิธีเดินสวนทางกับคนอื่นเช่นนี้ ไม่ใช่จะไม่เจอคนเสียเลย เพราะมีนักท่องเที่ยวไม่น้อยที่คิดแบบนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าสูตรเดิม ที่แห่ไปชมจุดเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน พาลให้หงุดหงิดเสียอารมณ์ ที่สำคัญ อย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้ มีกฎระเบียบที่นักท่องเที่ยวควรทราบ คือต้องแต่งกายให้เรียบร้อย เป็นการเคารพต่อโบราณสถานอันเป็นสัญลักษณ์ของชาติกัมพูชา ประเภทกระโปรงสั้นเต่อ กางเกงขาสั้นจู๋ สวมเสื้อแขนกุด เปิดแผ่นหลังอร่าม จะถูกห้ามเข้านครวัด
นอกจากนั้น บริเวณปรางค์ประธาน ชั้น 3 พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สุดของตัวปราสาท จะปิดไม่ให้ขึ้นชมเดือนละ 4 วัน ในทุกวันพระ (เพราะนครวัดถูกเปลี่ยนจากเทวสถานฮินดูเป็นพุทธสถานแล้ว) เพื่อให้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ผ่อนพักจากการต้อนรับผู้คนมากมายในแต่ละวันบ้าง อย่างเดือนนี้ปิดในวันที่ 5, 11, 19 และ 26 มกราคม ซึ่งในความเป็นจริง เทวสถานฮินดูแต่โบราณก็ไม่ได้เปิดให้ชาวบ้านขึ้นไปกราบไหว้ได้อิสระ จะมีเพียงพราหมณ์คอยทำหน้าที่ติดต่อกับเทพเจ้า โดยสวดมนต์ จุดกำยาน รดน้ำ เซ่นสังเวยเทวดาในแต่ละวัน กับอีกชนชั้นหนึ่ง คือกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนชาวบ้านรอรับน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้านนอก
จึงเห็นว่าบันไดขึ้นสู่ปรางค์ประธานชั้น 3 นั้นทั้งสูงและชัน เพราะไม่ได้สร้างให้คนนับเป็นพันๆ ปีนขึ้นไปเช่นทุกวันนี้ จึงคาดว่าในอนาคตอาจมีคำสั่งปิดสนิทชั้น 3 เพื่อรักษานครวัดไว้ให้ยาวนานที่สุด เพราะเวลานี้ สิ่งที่ยูเนสโกกังวลมาก คือการที่เมืองเสียมเรียบมีโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ผุดขึ้นมากมายมหาศาล โดยระบบประปารองรับไม่ทัน จึงต่างก็ขุดเอาน้ำบาดาลมาใช้ จนน่าเป็นห่วงว่าจะส่งผลให้นครวัดทรุดตัวลงได้ ว่ากันว่า รัฐบาลมีโครงการลงทุนทำระบบประปาใหม่ โดยต้องทุ่มงบถึงราว 500 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะดึงงบจากไหนมาลงทุน
แต่ผมคิดว่า ถ้าจำเป็นจริงๆ จะสักกี่ร้อยล้านก็ต้องทำ เพราะถ้าถึงวันที่นครวัดทรุดจริงๆ อาจโกลาหลกันทั้งประเทศ เพราะเป็นที่ทราบดีว่า นครวัด นครธมนั้น นำรายได้เข้ากัมพูชามากเป็นอันดับหนึ่ง ปัจจุบันนี้ สิ่งที่ “อัปสรา” (APSRA) หน่วยพิทักษ์โบราณสถานของทางการกัมพูชาทำได้ คือห้ามไม่ให้รถบัสขนาดใหญ่เข้าไปแล่นในเขตอนุรักษ์ชั้นในสุดเท่านั้น แต่ปัญหาหลักเรื่องน้ำบาดาลยังหนักอกกันอยู่ ไม่แน่ว่าถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ เสถียรภาพของนครวัด อาจสั่นสะเทือนเสถียรภาพของรัฐบาลกัมพูชาด้วย
ไหนๆ ก็แนะนำเคล็ดลับชมนครวัดแล้ว อยากบอกว่า โปรแกรมยอดนิยม ชมนครวัด แล้วปีนเขาขึ้นไปดูพระอาทิตย์ตกที่ “พนมบาแคง” ผมเลิกปีนขึ้นไปหลายปีมาแล้ว ด้วยปัญหาเดิม คือผู้คนมหาศาลล้านแปด ดูจบแล้วรถติดยาวเหยียด น่าเบื่อสุดๆ ผมเลยหันไปปีน “ปราสาทแปรรูป” แทน เพราะปีนง่าย คนไม่เยอะ แล้วยังได้ชมสิ่งแปลก ๆ คือปูนปั้นเป็นรูปเทพธิดามีปากเหมือนหมู บางคนตั้งชื่อให้ว่า “นางอัปสราแก้วหน้าม้า” แต่ผมคิดว่าเป็นรูป “วราหิเทวี” ชายาของพระนารายณ์ ในภาคที่อวตารเป็นหมูป่า เรียกกันว่า “วราหาวตาร” มากกว่า
ส่วนที่ว่าครบ 900 ปีนครวัดทั้งที จะมีงานฉลองใหญ่โตหรือไม่? สงสัยต้อง...โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
............................................
(เคล็ดลับเที่ยว 900 ปี มหาศิลานคร : คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย...ธีรภาพ โลหิตกุล)