
นกหัวขวานใหญ่สีดำ
นกหัวขวานใหญ่สีดำ : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว
ในป่าผลัดใบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เราจะได้ยินเสียงเคาะไม้ที่รัวดังสนั่นลั่นป่าของ นกหัวขวานใหญ่สีดำ (White-bellied Woodpecker) และเสียงร้องพยางค์เดียวที่ดังก้องของมันได้บ่อยๆ แม้จะพบได้บ้างตามป่าประเภทอื่นๆ แต่ก็หาตัวได้ยากแล้วในปัจจุบัน ชัดเจนว่าการตัดไม้ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อประชากรนกหัวขวานขนาดใหญ่ชนิดนี้ โดยเฉพาะภาคใต้ของไทยที่เหลือน้อยจนใกล้สูญพันธุ์เต็มที
แม้จะไม่ได้ถูกจัดสถานภาพด้านการอนุรักษ์เป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ระดับโลก แต่ก็เหลือจำนวนเพียงไม่ถึงร้อยคู่ในเกาหลีใต้และสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากหลายพื้นที่ในถิ่นอาศัยดั้งเดิมของมัน เช่น ญี่ปุ่น และตามเกาะต่างๆ
นกหัวขวานใหญ่สีดำมักเจาะรูทำรังค่อนข้างสูงบนไม้ยืนต้นตาย ขนาดตัวที่ใหญ่โตทำให้จำเป็นต้องใช้ต้นไม้ขนาดใหญ่ตามไปด้วย แม้จะทำรังอยู่สูงแต่ก็ชอบหากินไม่สูงจากพื้นมากนัก บ่อยครั้งพบหากินบริเวณจอมปลวกหรือต้นไม้ขนาดเล็กใกล้พื้นดิน
เรามักพบนกหัวขวานใหญ่สีดำโดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ มันเป็นนกที่มีนิสัยค่อนข้างขี้ตื่นและหวาดระแวงตลอดเวลา ยามรู้สึกไม่ปลอดภัยจะร้องเตือนภัยทันที บางครั้งก็หากินใกล้ๆ กับนกหัวขวานชนิดอื่นๆ ซึ่งชอบตามฝูง นกกะราง (Laughingthrushes) และอาศัยความปลอดภัยจากพฤติกรรมชอบขับไล่นกล่าเหยื่อของ นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ (Greater Racket-tailed Drongo)
ในทวีปเอเชีย ขนาดตัวของนกหัวขวานชนิดนี้เป็นรองเพียง นกหัวขวานใหญ่สีเทา (Great Slaty Woodpecker) ที่ถูกคุกคามอย่างหนักจากการทำลายป่าเช่นเดียวกัน นกหัวขวานใหญ่สีดำมีลำตัวสีดำตัดกับท้องสีขาว ขณะกระพือปีกจะเห็นแถบวงกลมสีขาวขนาดใหญ่ เพศเมียมีหงอนที่ท้ายทอยสีแดง ส่วนเพศผู้มีสีแดงตั้งแต่หน้าผากติดกับโคนปาก และมีแถบเคราสีแดง
ชนิดย่อย feddeni ที่พบตามป่าผลัดใบและป่าสนระดับต่ำทางตอนเหนือของประเทศมีแถบสีขาวที่ตะโพก ส่วนชนิดย่อยหลัก (javensis) นั้นพบตามป่าดิบและป่าชายเลนทางภาคใต้ ทั้งสองชนิดย่อยมีลวดลายสีขาวบนพื้นสีดำที่คอและก้น นกวัยเด็กมีคอสีอ่อน หากเป็นเพศผู้อาจมีสีดำที่หน้าผากด้วย และมีสีแดงที่เคราน้อยกว่านกโตเต็มวัยมาก
..................................
(นกหัวขวานใหญ่สีดำ : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)