
สามี(ตัวดี)มีเมียน้อย
ดิฉันแต่งงานอยู่กินกับสามีมาได้ประมาณ 10 ปี สามีรับราชการ และเราจดทะเบียนกัน ต่อมาสามีก็ไปจดทะเบียนสมรสกับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง
ปรากฏว่า ผู้หญิงคนใหม่ของสามีได้รับสิทธิ์ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยเบิกตรงได้ แต่ดิฉันซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้รับสิทธิ์ดังกล่าว กลับเบิกไม่ได้ ทั้งที่เรายังไม่ได้หย่าขาดจากกัน
ในกรณีนี้ถ้าดิฉันไปเรียกร้องขอใช้สิทธิ์เบิกตรงคืนจะได้หรือไม่ และ ถ้าจะไปเรียกร้องสิทธิ์นาย ก. จะได้รับโทษจากทางราชการอะไรบ้าง และพ่อแม่สามีจะยังใช้สิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลตรงได้อีกหรือไม่
มีวิธีอะไรบ้างที่จะให้พ่อแม่ของสามีและดิฉันได้รับสิทธิ์เบิกตรง
ก้อย
ตอบ
ศูนย์ปรึกษากฎหมายชุมชน อาจารย์ชลธิชา สมสอาด คณะนิติศาสตร์ มหาวิยาลัยเกษมบัณฑิต แนะนำเรื่องนี้ว่า กรณีนี้ถือว่า คุณเป็นภรรยาคนแรก หรือภรรยาหลวง การที่สามีไปจดทะเบียนอีกครั้ง โดยที่ยังไม่ได้หย่าจากภรรยาคนแรกที่จดทะเบียนไว้นั้น ในทางกฎหมาย การจดทะเบียนครั้งที่สองถือว่าเป็นโมฆะ และสามีที่จดทะเบียนซ้อนมีความผิดคดีอาญา
ในกรณีนี้มีผู้ที่รับความเสียหายคือ ภรรยาคนแรก ก่อนจดทะเบียนครั้งที่สอง นายทะเบียนจะต้องถามว่า เคยจดทะเบียนมาก่อนหรือเปล่า เมื่อสามีพูดปดว่า ไม่เคยจดทะเบียนมาก่อน เจ้าหน้าที่จึงจดทะเบียนให้ และผู้เสียหายอีกคนคือ ภรรยาคนที่สอง กรณีที่เธอไม่ทราบมาก่อนว่าผู้ชายคนนี้เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนแล้ว
ดังนั้นคนที่ได้รับความเสียหาย สามารถเอาผิดกับผู้ชายที่จดทะเบียนซ้อนได้
ภรรยามีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ จากสามี โดยภรรยาคนแรกต้องไปแจ้งเพื่อสิทธิ์ของตัวเองว่า ยังเป็นภรรยาตามกฎหมายอยู่ ยังไม่ได้หย่าขาดจากสามี
โดยไปแจ้งที่หน่วยงานของสามีว่า ยังไม่ได้หย่าจากสามี และผู้หญิงอีกคนหนึ่งนั้น เป็นทะเบียนสมรสซ้อน ซึ่งไม่มีสิทธิ์ได้รับสิทธิ์ต่างๆ ทางราชการของสามี เนื่องจากไม่ใช่ภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายเหมือนคุณ
ส่วนที่ว่าคุณจะไปแจ้งสิทธิ์ต่างๆ เพื่อยืนยันว่า ยังเป็นภรรยาอยู่ หลังจากนั้นสามีจะถูกลงโทษทางวินัยในเรื่องระเบียบของราชการมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับหน่วยงานนั้นๆ เห็นว่าเรื่องการจดทะเบียนสมรสซ้อน หรือการมีภรรยาสองคนอย่างนี้ เป็นเรื่องที่มีการลงโทษร้ายแรงแค่ไหน และส่วนสิทธิ์ข้ารักษาพยาบาลของพ่อแม่จะมีปัญหาหรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่สามีคุณทำงานด้วยอีกเช่นกัน
ลุงแจ่ม