ไลฟ์สไตล์

ความวิวาทเป็นภัย

ความวิวาทเป็นภัย

28 พ.ค. 2552

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหลายทุกยุคทุกสมัย ตระหนักถึงปัญหาความแตกแยกสามัคคีของหมู่คณะมาตั้งแต่อดีตจนถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน และแม้ที่จะมีมาต่อไปในอนาคต จึงต่างสอนพระภิกษุสาวกทั้งหลายว่า

 “ท่านทั้งหลาย จงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัย และเห็นความไม่วิวาทโดยความปลอดภัยแล้ว จงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน มีความประนีประนอมกันเถิด นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

 และทรงสอนอีกว่า “ความสามัคคีพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ นำสุขมาให้”
 จาก พระพุทธานุสาสนี คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ มีประเด็นสำคัญอยู่ว่า ๑.ความวิวาทเป็นภัย  ๒.ความไม่วิวาทเป็นความปลอดภัย ๓.ภิกษุทั้งหลาย จงเห็นความวิวาทโดยความเป็นภัย และเห็นความไม่วิวาทโดยความปลอดภัยแล้ว จงเป็นผู้สามัคคีพร้อมเพรียงกัน  ๔.จงมีความประนีประนอมกัน และ ๕.กับอีกพระคาถาว่า ความสามัคคีพร้อมเพรียงกันแห่งหมู่คณะ นำมาซึ่งความสุข อธิบายว่า

 ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึง “ความวิวาท” ว่าเป็น “ภัย” นั้น อธิบายว่า ความทะเลาะเบาะแว้ง เริ่มแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนกลายเป็นการทะเลาะวิวาท เป็นปากเป็นเสียงกัน ทุ่มเถียงกัน โต้เถียงกันรุนแรง ด้วยความโกรธเคืองกัน ระหว่างบุคคล หรือคณะบุคคล ตั้งแต่ ๒ ฝ่ายขึ้นไปนั้น ย่อมก่อให้เกิดความบาดหมางใจกัน ด้วยความโกรธและเกลียดชังกัน ถึงความพยาบาท ผูกใจเจ็บแค้นกัน นำไปสู่ความแตกสามัคคีกันระหว่างบุคคลและ/หรือหมู่คณะนั้น

 บุคคลหรือคณะบุคคล ที่แตกสามัคคีกัน นับตั้งแต่สังคมย่อย เช่น สังคมในครอบครัว ย่อมหาความสงบสุขมิได้
 การที่จะปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และเอื้ออาทรต่อกันด้วยดี ก็ไม่มี ทำให้ขาดความปรองดองสมานฉันท์ ที่จะร่วมแรงร่วมใจกันประกอบกิจการงานอาชีพ สร้างฐานะของครอบครัวให้เจริญเป็นปึกแผ่นมั่นคง ฐานะของครอบครัวเช่นนั้น ย่อมถึงความเสื่อมและทรุดลง ถึงเป็นครอบครัวแตกแยก

 มีผลให้สมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกๆ ที่อยู่ในวัยเด็ก ขาดที่พึ่งอันอบอุ่น ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาอีกนานัปการ ดังที่ได้ยินได้ฟังข่าวอย่างดกดื่นอยู่ในทุกวันนี้

 ความเสื่อมเสียจากการทะเลาะวิวาทในระดับสังคมย่อย เช่น สังคมในครอบครัวเช่นนี้มี ฉันใด ความเสื่อมเสียจากการทะเลาะวิวาทในระดับสังคมใหญ่ขึ้นไป เช่น สังคมในวงงาน และสังคมประเทศชาติ ถึงสังคมโลกก็มี ก็เป็นฉันนั้น เหมือนกัน

"พระราชญาณวิสิฐ (หลวงป๋า)"