
หนังสือที่เธอถือมา : ยักษ์
หนังสือที่เธอถือมา : ยักษ์ : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม
๑.
“ให้พ่อเป็นทศกัณฐ์ หรือน้าเขียว ต้นกล้าจะเป็นไอ้เผือก ต้องเรียกต้นกล้าว่าไอ้เผือก...นะทศกัณฐ์"
พาครอบครัวไปดูหนังแอนิเมชั่นเรื่อง “ยักษ์” มาเดือนกว่าแล้ว ลูกชายยังฝังใจจำเรื่องราว นำมาเล่าต่อในแบบของเขาอย่างสนุกสนาน ถึงขั้นตั้งกติกาว่าพ่อกับแม่ต้องเรียกเขาตามตัวละครหนุมานในเรื่อง บางวันพ่อไปทำงานต่างจังหวัด เขาโทรศัพท์ไปคุย “สวัสดีทศกัณฐ์ นี่เผือกเองนะ คิดถึงนะทศกัณฑ์”
นึกถึงวันที่พาลูกชายๆ และหลานๆ ไปดูหนังเรื่องนี้ พวกเขาตื่นเต้นกันมาก นานๆ จะได้เข้าไปดูหนังโรงใหญ่ในตัวเมือง ตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ต่างจังหวัด แทบจะไม่ได้เข้าโรงหนังเลย ดูก็แต่หนังแผ่นในบ้าน ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ใช่เป็นการตั้งสมาธิดูหนังอะไรนัก แค่การดูไป พูดไป เล่นไปกับลูก รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ลูกชายนั้นเขาเหมือนจะรู้ทุกเรื่อง กระทั่งจำบทคมๆ หรือฉากดีๆ ได้ อย่างไรก็ตาม-การได้ดูหนังเล่นๆ กับลูก ก็กลับกลายเป็นประสบการณ์ชนิดหนึ่งในการดูหนังของผม
ตอนแรกไปดู “ยักษ์” ไม่รู้หรอกว่า “ยักษ์” คืออะไร เพราะไม่ได้อ่านเรื่องย่อล่วงหน้า พอหนังเริ่มเรื่องว่าด้วย “รามเกียรติ์” ที่มีทศกัณฐ์ผูกโซ่ติดกับหนุมานเท่านั้นแหละ เด็กๆ เขาก็สนุกกันแล้ว
เจ้าลูกชายผมลุ้นระทึกตลอดเรื่อง เดี๋ยวลุก เดี๋ยวนั่ง เดี๋ยวส่งเสียงดัง เขาพอรู้เรื่องราวมาก่อนจากการดูการ์ตูนหนุมาน จึงต่อติดกับการเล่าเรื่องแบบใหม่ในหนัง ตอนน้าเขียวกับเจ้าเผือกต้องต่อสู้กันเพราะหน้าที่นั้น เขาพูดเสียงดัง “เป็นเพื่อนกันอยู่ดีๆ ก็มาเป็นศัตรูกันจนได้” จนคนที่นั่งข้างๆ หันมามองยิ้มๆ
ถามเด็กๆ ทุกคนเขาก็บอกว่าสนุก ส่วนจะเข้าใจมากเข้าใจน้อยคงแล้วแต่พื้นความรู้เรื่องราว สำหรับผู้ใหญ่ที่พาเด็กไปดูอย่างผมก็ถือว่าชอบ ทั้งการออกแบบสร้างสรรค์ฉากและตัวละคร การนำเสนอความคิด การตีความเรื่องใหม่ การนำเสนอแง่มุมปรัชญาอย่างเรื่องมิตรภาพ และภารกิจหน้าที่ของชีวิต
เพียงแต่-ก็รู้สึกเหมือนตัวเองขาดๆ อะไรไปนิดๆ หรือเปล่า ในความประทับใจด้านบทหนัง?
๒.
เป็นเพียงความรู้สึกส่วนตัวเท่านั้นครับ แบบคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องหนัง และนานๆ จะได้ดูหนังสักเรื่อง
พลอยทำให้คิดถึงหนังเรื่อง “นาค” เมื่อสัก ๒-๓ ปีก่อน ที่ซื้อแผ่นมาดูในบ้านกับลูก ลูกชายเปิดดูซ้ำหลายรอบ ผมรู้สึกอิ่มเอม ประทับใจ สะเทือนใจ ทั้งการผูกเรื่องและฉากที่เคลื่อนไหวจากบ้านนอกถึงในเมือง โดยเฉพาะบทที่มีหลายช่วงตอนสะกิดความรู้สึกนึกคิดทางคุณธรรมสำนึก ยิ่งกว่านั้นก็คือเพลงประกอบที่ไพเราะมาก ไม่ได้คิดจะนำหนังมาเปรียบเทียบกันนะครับ แค่ลองสัมผัสถามความรู้สึกตัวเองที่ได้ดูหนังลักษณะคล้ายกันสองเรื่องพร้อมกับเด็กๆ เป็นเรื่องน่ายกย่องยินดีอย่างยิ่งที่มีผู้คิดสร้างหนังแบบนี้
เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ มีเรื่องต้องขออภัยครับ...คือหลังจากดู “ยักษ์” ผมเขียนแสดงความรู้สึกเล็กๆ น้อยๆ ลงในเฟซบุ๊ก แต่คลาดเคลื่อนตรงที่ระบุข้อมูลว่า ชอบหนังเรื่องนี้ของ ประภาส ชลศรานนท์ หลังจากชอบเรื่อง “นาค” ของเขามาก่อนแล้ว พอดีวันก่อนได้นั่งคุยกับ คุณศุ บุญเลี้ยง และ คุณศักดิ์สิริ มีสมสืบ ได้ข้อมูลว่าคนที่เกี่ยวกับ “นาค” คือ บอย โกสิยพงษ์ มิใช่ ประภาส ชลศรานนท์
โอ...จริงด้วยสิ ขอบคุณครับ ขออภัยครับ “ยักษ์” เกี่ยวกับคุณประภาส ส่วน “นาค” เกี่ยวกับคุณบอย (แม้คุณบอยจะมิใช่ผู้กำกับฯ) ผมจำคลาดเคลื่อนไปเอง ทั้งที่จำได้ว่าตอนดู “นาค” ใหม่ๆ ก็เคยเขียนถึงด้วยความประทับใจมาแล้วใน คม ชัด ลึก นี่แหละ อาจเป็นเพราะนิยมชมชอบบุคคลทั้งสองกระมัง
สำหรับผม-เป็นคนชอบฟังเพลงคุณบอย ชอบเพลงและตัวหนังสือของคุณประภาส
คิดถึงตรงนี้ เกิดแรงบันดาลใจใหม่ขึ้นมาทันที ในฐานะคนดูหนังน้อย และบังเอิญชอบหนังสองเรื่องนี้ช่วงที่กำลังอยู่ใกล้ชิดลูก จะต้องไปหาซื้อทั้ง “นาค” และ “ยักษ์” มาชวนลูกๆ หลานๆ ดูหนังซ้ำตามโอกาส ด้วยอย่างน้อยก็มีความเชื่อว่า หนังการ์ตูนสารพัดเรื่องที่เขาได้ดู มีส่วนเสริมสร้างบรรยากาศในชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะสำหรับ “เจ้าเผือกน้อยในบ้านน้าเขียวอย่างผม” ช่วง ๒-๕ ขวบ เขาได้ดูหนังการ์ตูนไทยที่ประทับใจถึงสองเรื่อง โตขึ้นเขาน่าจะมีความทรงจำเป็นสมบัติ ไว้แตกยอดแรงบันดาลใจ
๓.
“เราทุกคนล้วนมียักษ์ซ่อนอยู่ในตัว ขึ้นอยู่กับว่าจะหามันเจอ และควบคุมมันได้หรือไม่”
แม้บทหนังประโยคทำนองนี้ เจ้าเผือกของผมก็พลอยจดจำและทำความเข้าใจ เขาบอกยักษ์ก็คือไอ้ตัวโกรธ ไอ้ตัวโมโห หรือไอ้ตัวใจร้ายในตัวเรา
เวลาใครโกรธกัน เราก็จะบอกกันเป็นนัยๆ ว่า “ระวังยักษ์ในตัวนะ”
---------------------
(หนังสือที่เธอถือมา : ยักษ์ : โดย...ไพวรินทร์ ขาวงาม)