ไลฟ์สไตล์

ร้อง144เรื่อง"เรียนฟรี15ปี""จุรินทร์"คาดโทษผอ.ร.ร.แจกหนังสือไม่ครบ

ร้อง144เรื่อง"เรียนฟรี15ปี""จุรินทร์"คาดโทษผอ.ร.ร.แจกหนังสือไม่ครบ

27 พ.ค. 2552

ผู้ปกครองประท้วงไล่ผู้อำนวยการโรงเรียน สาเหตุเพราะนักเรียนไม่มีหนังสือเรียน หรือบางโรงเรียนได้รับแจกเพียงวิชาภาษาไทย ไม่ครบ 8 กลุ่มสาระเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่รวมปัญหาอีกมากมาย กลายเป็นชนวนเหตุให้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้องต่างเรียงหน้าออกมาชี้แจงนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ด้วยการไล่บี้ทุกโรงเรียนตรวจสอบประเด็นร้องเรียนที่พ่อแม่ผู้ปกครองร้องเรียนมาด่วน!

 นายจุรินทร์เปิดฉากแจกแจงหลังประชุมเครียดกับผู้บริหาร 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผู้ปกครองร้องเรียนเข้ามาเกี่ยวกับการที่สถานศึกษาไม่ปฏิบัติตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างคุณภาพ

 "จากรายงานพบว่า สถานศึกษาสังกัด สพฐ.ถูกร้องเรียน 144 เรื่อง จากโรงเรียน 115 แห่งทั่วประเทศ ถือว่าน้อยเมื่อเทียบโรงเรียนทั้งหมด 3.2 หมื่นแห่ง เกือบทั้งหมดเป็นประเด็นที่ร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินของโรงเรียน แยกเป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเก็บเงินบำรุงการศึกษา 40 เรื่อง, การเก็บเงินระดมทรัพยากร 11 เรื่อง, การเก็บค่าห้องเรียนพิเศษ (ภาษาต่างประเทศ) 2 เรื่อง, ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น ค่าจ้างครู ค่าสาธารณูปโภค ค่าสอนคอมพิวเตอร์ ค่าทัศนศึกษา 36 เรื่อง, ค่าใช้จ่ายเสริมสวัสดิการ สวัสดิภาพ เช่น ค่าประกันชีวิต ค่าตรวจสุขภาพนักเรียน 33 เรื่อง และโรงเรียนแจกคูปองแทนเงินสดในหมดค่าชุดนักเรียน 14 เรื่อง" รมว.ศึกษาธิการระบุ

 ทั้งนี้ ได้มอบให้ สพฐ.ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมกับตรวจสอบข้อเท็จจริงจากโรงเรียนที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่ง สพฐ.สำรวจพบว่า โรงเรียนใน กทม.ประมาณ 5% เรียกเก็บเงินเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว

 ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร้องเรียนมา 9 เรื่องจากวิทยาลัยทั้งหมด 404 แห่ง และได้สั่งการให้ สอศ.ตรวจสอบพร้อมรายงานผลภายใน 2 สัปดาห์ แต่วิทยาลัย 9 แห่ง ที่ถูกร้องเรียนพบว่ามีการปรับปรุงแก้ไขไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น วิทยาลัยไม่จ่ายเป็นเงินสดในหมวดชุดนักศึกษา และอุปกรณ์การเรียน แต่เมื่อ สอศ.ประสานไปยังสถานศึกษาแล้ว ทางสถานศึกษามีการปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดเรียบร้อยแล้ว รวมถึงกรณีมีการร้องเรียนที่ จ.อุบลราชธานี ที่เด็กร้องเรียนว่าไม่ได้รับเงินค่าอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียน จากการสอบก็พบว่าเด็กคนดังกล่าวไม่มีใบ รบ. ทางวิทยาลัยจึงไม่กล้าจ่ายเงินให้ แต่เมื่อเด็กนำใบ รบ.มาแสดง ทางวิทยาลัยก็จ่ายเงินให้เรียบร้อยแล้ว

 รมว.ศึกษาธิการกล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้ สช.นั้นตรวจสอบโรงเรียนเอกชนในสังกัดว่า มีโรงเรียนเอกชนแห่งใดไม่ยอมลดค่าเทอมลงบ้าง เพราะในปีนี้รัฐบาลได้เพิ่มเงินอุดหนุนให้โรงเรียนเอกชน จาก 60% เป็น 70% โดยมีเงื่อนไขว่าโรงเรียนต้องลดการเก็บค่าเทอมลงตามสัดส่วน หากมีโรงเรียนใดไม่ยอมลด นอกจากโรงเรียนจะต้องคืนเงินแก่ผู้ปกครองแล้ว จะต้องถูกดำเนินการลงโทษตามระเบียบ สช.ด้วย ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ สช.รายงานภาพรวมการเรียกเก็บค่าเทอมของโรงเรียนเอกชนทั้งหมดมาด้วย

 “ผมได้สั่งการให้ สพฐ.ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงโรงเรียน 3 แห่ง ที่ถูกร้องเรียนเรื่องการจัดซื้อหนังสือและการเรียกเก็บค่าเทอมซึ่งก็คือ ร.ร.นวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี และอีก 2 แห่งที่ จ.กาญจนบุรี คือ ร.ร.กาญจนานุเคราะห์ และ ร.ร.วิสุทธรังษี หากพบว่ามีมูลก็ให้ตั้งกรรมการสอบวินัย เพราะผมต้องการเห็นค่าเทอมลดลงจริงๆ ต้องการลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองและนักเรียนโดยตรง และต้องการให้ทุกอย่างดำเนินการไปตามนโยบายของรัฐบาล และกฎระเบียบที่ ศธ.ได้ชี้แจ้งให้ทางสถานศึกษาทราบมาก่อนหน้านี้เป็นลำดับแล้ว ถึงแม้ในส่วนที่มีปัญหาจะเป็นส่วนน้อย แต่ผมก็ได้มอบว่า ให้ดำเนินการไปตามระเบียบ ยอมรับว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่บ้าง เพราะเป็นโครงการที่เริ่มต้นในปีแรก แต่จะให้มีปัญหาน้อยที่สุด และถ้าพบว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องของฝ่ายใดก็จะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพราะในทางนโยบายและในทางปฏิบัตินั้น ศธ.ได้ชี้แจงให้สำนักงานเขตพื้นที่ และ ผอ.สถานศึกษาได้เข้าใจทั่วถึงไปตามลำดับแล้ว” นายจุรินทร์ กล่าว

 นายจุรินทร์ ย้ำว่า กรณีที่โรงเรียนยังแจกหนังสือเรียนให้นักเรียนไม่ครบทั้งที่เปิดเทอมแล้วนั้น หากโรงเรียนได้ดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว แต่เป็นเพราะร้านค้าส่งหนังสือบางรายการล่าช้า ไม่ถือเป็นความผิดของผู้บริหารโรงเรียน แต่ต้องปรับร้านค้าฐานไม่สามารถส่งหนังสือได้ตามกำหนดในสัญญา และต้องรีบเปลี่ยนรายการหนังสือใหม่ หากหนังสือที่สั่งไปขาดตลาด เพื่อให้นักเรียนมีหนังสือเรียนครบโดยเร็วที่สุด แต่หากโรงเรียนใดไม่ได้จัดซื้อหนังสือตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ จะถือว่ามีความผิด

 คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า โรงเรียนที่ถูกร้องเรียนเข้ามาส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนดังๆ ซึ่งอยู่ทั่วประเทศ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ใน กทม.เท่านั้น ส่วนกรณี ร.ร.นวมินฯนั้น ขณะนี้ สพท.ปทุมธานี เขต 2 ได้เข้าไปตรวจสอบภายใน เรื่องเงินและสอบเรื่องอื่นๆ เช่น ขั้นตอนการจัดซื้อหนังสือ การจัดตารางสอน ซึ่งเป็นมูลเหตุที่ผู้ปกครองร้องเรียนเข้ามา คิดว่าวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ จะได้ข้อมูลที่ชัดเจน

 ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรักษาการ ผอ.องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการสวัสดิการ และสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) กล่าวว่า โรงเรียนที่ยังได้หนังสือไม่ครบนั้น ตรวจสอบแล้วไม่ใช่รายการที่สั่งซื้อจากองค์การค้าของ สกสค. โดยองค์การค้าของ สกสค.สามารถจัดส่งหนังสือให้ร้านค้ากับโรงเรียนที่สั่งซื้อหนังสือได้ตรงตามแผนที่กำหนดไว้ แต่ปัญหาที่เกิดน่าจะเป็นเรื่องของร้านค้า

 0 สุพินดา ณ มหาไชย 0 รายงาน